ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เตือน ผู้รับเหมาร่างรธน. ชนวนขัดแย้งรอบใหม่

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เตือน ผู้รับเหมาร่างรธน. ชนวนขัดแย้งรอบใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ โดย อนุชา ทองเติม 


หมายเหตุ - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจทั้งการใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและการร่างรัฐธรรมนูญ 

- คิดว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นหรือไม่

รัฐบาลได้รับแรงกดดันจากทุกด้าน เวลานี้อยากบอกกับรัฐบาลว่า อย่ามากังวลอะไรกับคนเสื้อแดงหรือกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเลย ที่เขาคิดเพราะรู้สึกอย่างนั้นโดยบริสุทธิ์ใจ แต่ไม่มีผลต่อเสถียรภาพของท่าน เพราะเรื่องใหญ่จริงๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว ส่งออก เพราะประเทศใหญ่ๆ ต่างชะลอความร่วมมือด้านการค้า รัฐบาลจึงมีแรงกดดันตลอดเวลา นี่เป็นเหตุผลที่ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก และที่ต้องใช้มาตรา 44 ก็เพราะเป็นเครื่องมือควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง แต่ผมว่าไม่ช่วยให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้น เพราะการเป็นประเทศที่ให้อำนาจสูงสุดแก่คนคนเดียว จึงไม่เข้าใจว่าจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศได้อย่างไรนานาชาติมองออกว่าที่ทำอยู่นั้นหนักกว่ากฎอัยการศึก ที่รัฐบาลพยายามอธิบายว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ผมว่ามันไม่ใช่ความหมายนั้น เพราะความหมายมันคือรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลมากกว่า

ที่ออกมาบอกว่าประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือคนชั่วผมว่าต้องเลิกพูดได้แล้วเพราะคนที่แสดงความเป็นห่วงจะบอกว่าเขาเป็นคนชั่วคงไม่ได้ เหมือนเราอยู่ในบ้านแล้วมีคนแบกปืนเอ็ม 16 เข้ามาแล้วบอกว่าจะดูแลความปลอดภัยให้ แล้วบอกอีกว่าถ้าเป็นคนดีก็ปลอดภัย แต่ถ้าบ้านหลังนี้ใครเป็นคนร้ายต้องเจอกันแน่ ใครมันจะสบายใจ ซึ่งนอกจากคนในบ้านจะไม่สบายดีแล้ว คนนอกบ้านที่เห็นก็ยังไม่สบายใจด้วย แล้วใครเขาจะอยากมาหาคบค้าสมาคมด้วย คือไม่มีประเทศใดหรอกที่จะมานั่งแกะ 14 ข้อตามประกาศในมาตรา 44 แล้วทำความเข้าใจว่ามันดี รับได้ และอีกไม่นานผลจากการใช้มาตรา 44 จะกลับมากดดันรัฐบาลเอง

- ย้อนกลับไปก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถ้าไม่ทำรัฐประหารแล้วบ้านเมืองจะมีทางออกหรือไม่

อย่าตั้งคำถามกับฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ต้องตั้งคำถามว่าทำไมทุกฝ่ายไม่ช่วยกันรักษาทางออกตามวิถีทางประชาธิปไตย ทำไมเวลามีการยุบสภาแล้วประกาศเลือกตั้ง แทนที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันผลักดันให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ จะเห็นว่าหลายองค์กรพร้อมใจกันที่จะล้มการเลือกตั้งแล้วขัดขวางทางออกจากวิกฤต ผมไม่ยอมรับว่าวิกฤตทางการเมืองหลายๆ ครั้งของบ้านเราไม่มีทางออก มันมี แต่เนื่องจากมีคนเห็นว่ามีทางออก จึงไปปิดทางออกนั้นแล้วบังคับให้เห็นทางออกเดียวก็คือการทำรัฐประหาร สำหรับผมแล้วนั้นไม่ใช่ทางออก แต่จะนำไปสู่ความเสียหายที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ซึ่งคนใน คสช.ก็มีบทบาทสำคัญในรัฐประหารปี 2549 ใครๆ ก็รู้ แต่ก็น่าเสียใจมากๆ ที่ตลอดระยะเวลา 10 ปี สังคมนี้ยังถูกทำให้แตกแยกจนคนมองข้ามหลักการประชาธิปไตย เมื่อหลักการถูกทำลาย จึงเดาอนาคตได้ยากว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน

- ถ้าพูดถึงความคืบหน้าของร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้มองเจตนารมณ์ของคนร่างอย่างไร

จะเห็นว่าตัวบุคคลสำคัญใน คสช. ล้วนมีบทบาทสำคัญในรัฐประหารปี 2549 หากมีเจตนาเพื่อสร้างประชาธิปไตย เราจะไม่ถอยหลังกลับมาแบบนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงจะเป็นเครื่องมือในการสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ชอบความเข้มแข็งของพรรคการเมืองไม่ชอบความเข้มแข็งของภาคประชาชนไม่ชอบความเข้มแข็งของกระบวนการประชาธิปไตย โดยต้องการให้สิ่งเหล่านี้อ่อนแอ เพื่อให้รากของแนวคิดอนุรักษนิยมยังคงเข้มแข็งและทรงอิทธิพลเหมือนกับหลายสิบปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ขัดกับความเป็นจริงกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย แล้วยิ่งขัดกับกระแสของสังคมโลก ไม่ว่าจะมีการทักท้วงใดๆ แต่เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างรัฐราชการ ภายใต้อำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม

- ถ้าอย่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกลายเป็นเหตุของความวุ่นวายอีกครั้งหรือไม่

ผมห่วงมากๆ ว่าจะเกิดเป็นชนวนของความขัดแย้งครั้งใหม่ เพราะที่ผ่านมา 10 ปี มีการอธิบายว่าการทำรัฐประหารคือหนทางในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐประหารปี 2549 ได้พิสูจน์แล้วว่าทำให้ปัญหาหนักขึ้น ความเสียหายร้ายแรงขึ้น เพราะก่อนรัฐประหารปี 2549 ยังไม่มีการชุมนุมของประชาชนหลายกลุ่ม ยังไม่มีอะไรเลย ดังนั้น รัฐประหารปี 2557 อาจเกิดอะไรที่หนักกว่าที่ผ่านมา ซึ่งสัญญาณของสิ่งเหล่านี้มันปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เนื้อหาอย่างที่มีการพูดออกมา แล้วจะควบคุมสถานการณ์ได้อย่างไร จะควบคุมได้ก็ต้องใช้ควบคู่ไปกับมาตรา 44 นั่นหมายความว่า คสช.ก็ยังต้องมีอำนาจอยู่ เมื่อเป็นแบบนั้นไม่มีใครตอบได้ว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบอะไร สุดท้ายก็เละ

- เมื่อมองรัฐธรรมนูญอย่างนี้ คนเสื้อแดงจะทำอย่างไร

เรารอดูเนื้อหาสาระสุดท้ายก่อน การจะไปคาดการณ์ในขณะที่ร่างแรกยังไม่ออกจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ คงจะเร็วเกินไปที่จะตัดสิน แต่ขณะนี้พูดได้เพียงว่าถ้ายังเป็นแบบนี้คงยุ่งอยู่เหมือนกัน เอาเถอะ!! ในเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายต่างบอกว่ามีกระบวนการสามารถปรับแก้ไขได้ อย่างน้อยเขาก็ส่งสัญญาณว่าพยายามรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ส.ว.ก็จะให้มีเลือกตั้งด้วย แสดงว่าเสียงของสังคมได้ไปถึงการรับรู้ของพวกเขาอยู่บ้าง

ประเด็นสำคัญ เช่น นายกฯจากคนนอก ผมว่าไม่สามารถเปิดทางให้มีได้เลย เพราะถ้าเปิดช่องให้มี ก็จะเป็นทางของคนกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างวิกฤตเพื่อต้องการนายกฯคนนอก ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ไม่ได้เปิดทางให้มีนายกฯคนนอกก็ยังตะบี้ตะบันจะเอากันให้ได้ เพราะการบอกว่านายกฯคนนอกในภาวะวิกฤต ก็จะมีคนสร้างวิกฤตให้บ้านเมือง สุดท้ายจะเกิดเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ ส่วนเรื่อง ส.ว.ที่ กมธ.ยกร่างฯ ต่อมาก็บอกว่าเอา ส.ว.เลือกตั้งมา 77 คนไหม มองแล้วนี่เป็นเทคนิคที่ กมธ.ยกร่างฯต้องการโชว์เป้าหมายเล็กแต่ซ่อนเป้าใหญ่ ประเด็น ส.ว.เรื่องที่มายังน้อยไปกว่าเรื่องอำนาจหน้าที่ เพราะการจะให้ ส.ว.ใหญ่จนขนาดพิจารณารายชื่อรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารนั้นเป็นปัญหา ต่อให้ ส.ว.ได้รับเลือกตั้งทั้งสภา ก็ไม่ควรได้อำนาจมากมายขนาดนี้ นี่คือการเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะเวลาที่ กมธ.ยกร่างฯอธิบายเขาจะอธิบายแค่เรื่องที่มา แต่ไม่อธิบายว่าทำไมถึงมีอำนาจขนาดนั้น ซึ่งประเทศอื่นๆ ส.ว.ไม่ได้มีอำนาจมากอย่างนี้เลย

- อะไรคือวิธีคิดของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

ถ้ามองกันให้ชัดในเรือแป๊ะหรือแม่น้ำทั้ง 5 สาย คนพวกนี้ไม่ใช่คนแปลกหน้าเลยในความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่คนแปลกหน้าเลยในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปแล้ว 2 ฉบับ เพราะหลายคนมีบทบาทในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนไทยต้องกลับมาคิดว่า เมื่อไหร่ที่กระบวนการเหล่านี้จะหมดไป คือกระบวนการที่มีคนกลุ่มหนึ่งใช้วิชาความรู้ สถานะทางสังคมสนองต่ออำนาจนอกระบบ อำนาจที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย ทำให้คนในสังคมเกิดความสับสนว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่และถูกต้อง เพราะคนที่เข้ามาทำนั้นต่างมีสถานะเป็นที่ยอมรับ โดยเอาสถานะดังกล่าวสร้างอิทธิพลทางความคิด แล้วทำงานให้อำนาจนอกระบบ ถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่ การทำรัฐประหารก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ คนกลุ่มนี้จะไม่รู้สึกอะไรเลยที่ต้องมานั่งร่างรัฐธรรมนูญอยู่เรื่อยๆ โดยที่ไม่คิดย้อนทวนในเจตนารมณ์ของตัวเองว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 คืออะไร ถึงวันนี้กลับมาร่างรัฐธรรมนูญที่สวนทางกับรัฐธรรมนูญ 2540 แค่ไหน

- ในฐานะแกนนำมวลชนอยากฝากอะไรถึงคนร่างรัฐธรรมนูญ

ผมให้เกียรติกับทุกคนแม้จะไม่ยอมรับที่มาในการเข้ามาทำหน้าที่และอยากให้ทางกมธ.ยกร่างฯให้เกียรติต่อประชาชนและตัวท่านเอง เพราะการมานั่งร่างรัฐธรรมนูญตามธงของผู้มีอำนาจแล้วหลับหูหลับตาตามธงนำโดยไม่สนใจเสียงทักท้วงและหลักการใดๆไม่สนใจผลว่าจะเกิดความเสียหายมากมายแค่ไหนนั้นคือการทำลายเกียรติของประชาชนและของท่านเองกมธ.ยกร่างฯไม่ควรเป็นผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานตามความต้องการของเจ้าของงาน จะเท่ากับว่าผ่านฉบับนี้ไปแล้ว กมธ.ยกร่างฯก็จะนั่งรอร่างฉบับใหม่อีก โดยไม่มีพัฒนาการทางการเมืองอย่างแท้จริง

 

 


 

(ที่มา:มติชนรายวัน 7 เมษายน 2558)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์