ชูชาติตีความจับจริงจอมแชท ยันรถติดไฟแดงใช้โทรศัพท์ไม่ผิด

ชูชาติตีความจับจริงจอมแชท ยันรถติดไฟแดงใช้โทรศัพท์ไม่ผิด

11 ส.ค. 57 นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

โพสต์เฟซบุ๊ก "Chuchart Srisaeng" อธิบายถึงนโยบาย จับจริงจอมแชท ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่เว้นแต่ตอนรถติดไฟแดง
 
ทว่าใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่ได้นิยามคำว่า "ขับ" และ "ขับขี่" ไว้
 
จึงไปดูความหมายประกอบในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการบังคับให้เคลื่อนไป จึงสรุปได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือขณะจอดรถ ย่อมไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก แต่อย่างใด
 
ข้อความในเฟซบุ๊กระบุดังนี้
 
....การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบาย จับจริง จอมแชต คือการจับกุมผู้ขับขี่รถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเร่ืองที่ดีเพราะเป็นการป้องกันอุบัติเหตุให้แก่ผู้ขับขี่รถและผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนทุกคน รวมทั้งจะฝึกให้ผู้ขับขี่รถมีวินัยในการขับขี่รถและปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ซึ่งจะช่วยให้การจราจรลดการติดขัดลงได้มาก

.....ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่คงเห็นด้วย อย่างไรก็ดี การปฏิบัติงานหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมาย
 
.....พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ
.....มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ ฯลฯ (๒๘) “ผู้ขับขี่” หมายความว่า ผู้ขับรถ
.....มาตรา ๔๓ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
.......ฯลฯ
.......(๙) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
.....มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ (๙) ฯลฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐ บาทถึง ๑,๐๐๐ บาท
 
.....เนื่องจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่ได้ให้คำนิยาม คำว่า ขับ และ ขับขี่ ไว้ จึงต้องดูความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔
.....คำว่า ขับ หมายความว่า บังคับให้ไป, บังคับให้เคลื่อนไป เช่น ขับรถ ขับเรือ
.....คำว่า ขับขี่ หมายความว่า สามารถบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้
 
.....เมื่อดูบทบัญญัติของกฎหมายและพจนานุกรมแล้ว ก็สรุปได้ดังนี้
.....ห้ามไม่ให้ผู้ที่กำลังขับขี่รถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
.....การขับขี่รถก็คือการบังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะ คือ รถเคลื่อนที่ไป
.....ถ้ารถไม่เคลื่อนที่คือจอดอยู่เฉยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ เช่น รถเสีย จอดรอผู้ที่นัดกันไว้ จอดรอสัณญาณจราจร หรือการจราจรติดขัดจนต้องจอดอยู่กับที่ ย่อมไม่ใช่การขับขี่รถ
 
.....การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะจอดรถ จึงสามารถกระทำได้เพราะในขณะนั้นไม่ใช่การขับขี่รถ ย่อมไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ครับ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์