ชี้ช่องฟัน แม้ว อีกคดี - ออกมติเอื้อ บ.มือถือ ทำรัฐสูญนับหมื่นล้าน

รัฐเสียหายนับหมื่นล้านบาทต่อปี...........


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ทีดีอาร์ไอ เสนอ ป.ป.ช.- คตส.สอบสวนเอาผิดทางอาญากับ ทักษิณ กับพวกอีกคดี ฐานออกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 ก.พ.46 เปิดทางบริษัทโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม เบี้ยวค่าสัมปทาน-ภาษี ทำให้รัฐเสียหายนับหมื่นล้านบาทต่อปี พร้อมเสนอให้ตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งแก้ กม.ให้สื่อของรัฐเป็นสื่อสาธารณะ

วันนี้ (10 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2549 ของสถาบันพัฒนาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในหัวข้อ สู่หนึ่งทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ได้เรียนรู้และปรับปรุงอะไรบ้าง ซึ่งมีการจัดสัมมนาเป็นวันที่ 2


การทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบัน..........

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปจากระดมความคิดหัวข้อ ธรรมาภิบาลทางการเมืองกับนโยบายทางเศรษฐกิจ ว่า การ
ทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบันได้มีการวิวัฒนาการจากการทุจริตแบบรับสินบนใต้โต๊ะของภาครัฐมาผนวกเป็นส่วนเดียว ระหว่างธุรกิจการเมือง กับนักการเมือง จนทำให้มีการออกนโยบายเอื้อประโยชน์และกำหนดเงื่อนไขสัมปทานเอื้อกับธุรกิจสัมปทาน
ดังนั้น แนวทางแก้ไขควรมีการป้องกันและการปราบปราม ด้วยการนำความโปร่งใสกลับมา เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน ข้อมูลเกี่ยวข้องกับราคาค่าไฟ ที่เดิมเคยอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่หาได้ยาก


ควรเร่งนำความโปร่งใส


รัฐบาลนี้ควรเร่งนำความโปร่งใส กลับมาสู่สังคมไทย ด้วยการแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และมีการกำหนดโทษหากหน่วยงานรัฐนั้นหากปฏิเสธไม่ทำตาม นอกจากนี้ควรมีการตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อความโปร่งใส เพื่อรวบรวมสัญญาสัมปทานที่มีมูลค่าสูงๆ รวมทั้งสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ใบอนุญาตที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันได้หากมีการปกปิดข้อมูล ดังนั้นการนำข้อมูลเหล่านี้มาไว้ที่เดียวกันจะช่วยให้ภาคประชาชน นักวิชาการ สามารถติดตามตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ นักวิชาการผู้นี้ เสนอ


ควรมีการรับประกันสิทธิเสรีภาพ

นายสมเกียรติ เสนออีกว่า นอกจากนี้ ควรมีการรับประกันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ด้วยการแปลงสื่อของรัฐเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซง รวมทั้งต้องรับประกันอิสระทางด้านการเงิน บุคลากร บริหารจัดการ ให้กับองค์กรสื่อเหมือนสถานีโทรทัศน์บีบีซีของประเทศอังกฤษ ส่วนการปราบปรามทุจริตนั้น รัฐบาลควรเร่งลงมือการตรวจสอบทุจริตของรัฐบาลที่ผ่านมา หากพบแล้วควรดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยไม่ต้องเว้นหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าทำได้จะเป็นการส่งสัญญาณถึงสังคมว่ารัฐบาลกำลังเอาจริง เพื่อยุติการทุจริตคอร์รัปชัน


กรณีที่มีข้อเท็จจริงและหลักฐานชัดเจน ............

เชื่อว่า รัฐบาลนี้น่าจะดำเนินการ เพราะหลายโครงการที่อยู่ในการดูแลของ คตส.และ ป.ป.ช.ก็คงดำเนินไป แต่วิธีการที่จะส่งสัญญาณได้ชัดเจน คือ เลือกกรณีที่มีข้อเท็จจริงและหลักฐานชัดเจน เพื่อดูข้อกฎหมายในการเอาผิด เช่น การออกมติ ครม.วันที่ 11 ก.พ.2546 ที่ถือได้ว่าเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิต อย่างเลือกปฏิบัติระหว่างผู้รับใบอนุญาตใหม่ที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้รับสัมปทานเดิม ซึ่งมติ ครม.ดังกล่าวเป็นการเอื้อให้กับธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์และโทรคมนาคม ที่ออกให้นักธุรกิจเหล่านั้นไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตจริง แต่ให้นำค่าสัมปทานของรัฐมาหักออก ซึ่งน่าจะเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดกับกฎหมายอาญา ม.154 และ 157 ถือเป็นความผิดที่ไปยกเว้นภาษีให้กับเอกชนบางราย อยากจะฝาก คตส.และ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการเรื่องนี้


แล้วจะเอาผิดใครได้บ้าง ..........


นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ต้องดูว่า เมื่อมติ ครม.ที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายแล้วจะเอาผิดใครได้บ้าง ถ้าเอาผิดทางอาญาไม่ได้ก็สามารถเอาผิดทางแพ่ง เพราะเรื่องการยกเว้นภาษีทำให้เกิดความเสียหายทางแพ่ง รายได้ที่ควรจะเข้ารัฐ จำนวนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ก็ตกไปอยู่ในมือเอกชน ซึ่งความเสียหายที่เอกชนไม่ได้จ่ายภาษีให้กับรัฐนั้น เอกชนอาจจะอ้างว่า เป็นการทำตาม มติ ครม.อาจจะปฏิเสธ ไม่ยอมเสียภาษี แต่ตามข้อกฎหมายเมื่อมติ ครม.เป็นเช่นนี้ ก็คงยากที่จะไปตามไล่เบี้ยจากเอกชน สิ่งที่ทำได้ คือ การไล่เบี้ยกับ ครม.ชุดเก่า เพื่อเอาผิดในทางอาญาให้ได้


โดยมีสาระสำคัญ........


ทั้งนี้ นายสมเกียรติ เสนอแนวทางว่า ในระยะยาวต้องมีการแก้ไข พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2546 ให้เป็น พ.ร.บ.พิกัดภาษีสรรพสามิต โดยมีสาระสำคัญให้ตัดกิจการโทรคมนาคมออกจากกิจการที่ต้องเสียภาษี เพราะถ้ายังให้กิจการเหล่านั้นเสียภาษีเขาจะผลักภาษีให้กับผู้บริโภค อาจทำให้ค่าบริหารสูงขึ้น ซึ่งในระยะสั้นนี้ตนขอเสนอให้รัฐบาลชุดนี้ยกเลิกมติ ครม.ที่ลงวันที่ 11 ก.พ.2546 แล้วออกประกาศกระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตให้เหลือ 0% หรือ 2% หรือให้ต่ำที่สุด


สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤต


ขณะที่ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้สรุปการระดมความคิดในหัวข้อ การปรับปรุงการบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาค ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เกิดมาจากการขาดฐานข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน จนทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ดังนั้น ในรัฐบาลนี้มีการจัดฐานข้อมูลทางด้านเงิน การคลัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความผันผวน รวมทั้งควรมีการปรับกรอบเศรษฐกิจมหภาคให้อยู่ในระดับพอประมาณ ไม่ร้อนแรงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง


เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก .....


สิ่งสำคัญ ควรมีการสร้างระบบวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลุงทุนเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เพราะมีช่องโหว่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) ก็ไม่มีระบบกำกับความคุ้มค่า และไม่มีการถ่วงดุลจนทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ยิ่งในช่วงรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีการผลักดันเมกะโปรเจกต์เป็นจำนวนมาก และโครงการต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่ผ่านกฎหมายร่วมทุน หรือถ้าผ่านก็มีการตีความเลี่ยงกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลนี้ควรสร้างระบบขึ้นมาป้องกันช่องโหว่โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลนี้สร้างระบบไว้ให้เป็นที่ยอมรับแล้ว รัฐบาลต่อไปอาจจะไม่กล้ามารื้อ เพราะถ้ารื้ออาจจะถูกสังคม ประณามได้


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์