ชีวประวัติสมัคร สุนทรเวชนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทย

นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย หรือ"น้าหมัก,ลุงหมัก" มี "วาจาดุเด็ดเผ็ดร้อน" เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวพร้อมกับ"จมูกชมพู่" ที๋โดดเด่นของนักการเมืองเก่าแก่ผู้คร่ำวอดในวงการเมืองก่อนที่จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดเคยเป็น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) 


เส้นทางชีวิตของนายสมัคร ในเวทีการเมืองโดดเด่นไม่แพ้ใครไม่ว่าจะสวมหัวโขนอะไรก็ได้รับความสนใจมีทั้ง "คนรักคนชัง" หรือที่เรียกว่า"ฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน" แต่ที่อดีตนายกฯไม่ปลื้มเป็นที่สุด  คือ "นักข่าว" ที่มักจะได้คำผรุสวาทสวนกับมาอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่นายสมัครเริ่มทำงาน เป็นสื่อมวลชนสายการเมือง หลังจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โดยเขียนบทความ และความคิดเห็น ทางการเมืองแบบไม่ประจำใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง 2516 เขียนบทความ การเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนถึง 2520 และเขียนบทความในคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึง 2537


หลังเสพเรื่องการเมืองผ่านคอลัมน์นายนายสมัครข้ามจากการเป็นสื่ออย่างเดียว มาเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2511 ลงสมัครเลือกตั้งตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนขึ้นถึงระดับชาติ


นายสมัครปรากฎตัวต่อสาธารณชนที่โดดเด่นคือ ช่วงปี 2519 ในการจัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ที่มีเนื้อหาโจมตีบทบาทของ ขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้น พร้อมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เกลียดชังขบวนการนักศึกษา และ เป็นศูนย์กลางประสานงาน ถ่ายทอดกำหนดการ และคำสั่งเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านนักศึกษาใน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519


เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2519 นายสมัครได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมๆ กับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และในปี พ.ศ. 2522 ได้ก่อตั้ง พรรคประชากรไทย และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค มีฐานคะแนนเสียงหลักในกรุงเทพมหานครบ้านเกิด โดยเฉพาะเขตที่มีหน่วยทหารตั้งอยู่หนาแน่น


นายสมัครยังคงใช้ฝีปากในการปลุกกระแสโจมตีจนกระทั่งกลายเป็นบุคคลที่เข้าไปมีบทบาทในการสร้างกระแสมวลชนทั้งต่อต้านและสนับสนุน ในเหตุการณ์นองเลือด ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 6 ตุลา, พฤษภาทมิฬ  รวมทั้งการกล่าวโจมตี ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทางรายการโทรทัศน์ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ร่วมกับนายดุสิต ศิริวรรณ ในเวลา 11.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี  เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 ว่า พล.อ. "เลือกข้างใช่ไหม" จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจของหลายฝ่ายจนต้องขอยุติรายการดังกล่าวไปด้วยตนเอง


สิ่งที่นายสมัคร ภาคภูมิใจเป็นที่สุดในระบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งหลังจากที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2543 ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชนะ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน


หลังจากพ้นจากจวนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครบวาระ 4 ปี นายสมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

หันมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2549  ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เป็นอันดับสองของประเทศ  แต่ก็ต้องถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา


หลังจากที่รถถังกลับเข้ากรมกองดังเดิมการเมืองไทยเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้ง นายสมัคร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ท่ามกลางกระแสการกดดันจากฝ่ายตรงข้ามพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาว่าเป็น"นอมินี" หลังจากที่พรรคพลังงานประชาชนมีเสียงข้างมากได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล  เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ให้นายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายสมัครยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นพลเรือนคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งนี้


แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ความเป็นนายกฯของนายสมัครสิ้นสุดลง เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่


จากนั้นมานายสมัครเริ่มหันหลังให้การเมือง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551  ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เป็นทางการ


(ยังไม่มีเอกสารยื่นใบลาออก) โดยให้เหตุผลว่า ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว จึงขอยุติบทบาททางการเมือง ส่วนการดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้ขึ้นอยู่กับพรรค


เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2551  นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคุณหญิงสุรัตน์ ภรรยาเดินทางไปรักษาโรคมะเร็งตับ ที่สถาบันมะเร็งฮุสตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ณ นครฮุสตัน มลรัฐเท็กซัส  ชูป้ายประท้วงขณะที่นายสมัครและภรรยาไม่ได้โต้ตอบแต่อย่างใด  ผู้ประท้วงระบุว่า ถึงแม้ว่านายสมัครจะป่วยหนัก แต่เราก็จำต้องเดินทางไปประท้วงเขาที่สนามบิน จากพฤติกรรมและการกระทำของเขาต่อนักศึกษาประชาชนและประเทศชาติ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะกรณีสังหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงกรณีทำร้ายประชาชนในปี 2551 รวมถึงกรณีปราสาทพระวิหาร


สำหรับป้ายที่พันธมิตรฮุสตันประท้วงนายสมัครมีข้อความต่างๆ เช่น "เวรกรรม ไม่ต้องรอชาติหน้า ", " พันธมิตร Houston (ไม่) ต้อนรับอ้ายคนขายชาติ" เป็นต้น
 
กระทั่งวันที่ 21 ม.ค. 2552  นายสมัคร เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ก็พักฟื้นที่บ้านพักมาโดยตลอด  และไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเลย โดยไม่มีข่าวความเคลื่อนไหว หรือการรักษาตัวแต่อย่างใด และจากนั้นได้เข้ารักษาตัวอีกครั้งที่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งขั้วตับเมื่อเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน ด้วยวัย 74 ปี
 

นายสมัคร สุนทรเวชเป็นบุตรของ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) กับ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก

นายสมัครเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ดังนี้

พ.อ. (พิเศษ) พ.ญ.มยุรี พลางกูร - อดีตรองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
นางเยาวมาลย์ ราชวังเมือง - ประกอบธุรกิจส่วนตัว
พล.อ.อ.สมมต สุนทรเวช - อดีตที่ปรึกษา ทอ. (ถึงแก่กรรมแล้ว)
นายสมัคร สุนทรเวช
นายมโนมัย สุนทรเวช - พนักงานรัฐวิสาหกิจ
นายสุมิตร สุนทรเวช - นักการเมือง หัวหน้าพรรคประชากรไทย


นายสมัคร สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัทใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบุตรสาวฝาแฝด คือ กานดาภาและกาญจนากร ปัจจุบันสมรสแล้วทั้งคู่ จากการที่ภรรยาทำงานอยู่กับบริษัทเอกชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 สถานะการเงินของภรรยาจึงมั่นคงพอที่จะดูแลครอบครัวได้ นายสมัครเลยมิได้ทำงานประจำให้กับหน่วยงานใดและได้ทำงานด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์