ชัยลากยาว กม.ตรวจเงินฯโยนทุกพรรคหารือ

วิปรัฐบาลแทงกั๊กตีตก-ผ่าน โยนทุกพรรคกลับหารือ ปธ.วุฒิย้ำเดินหน้าเรียกประชุม กก.สรรหา รับหากสภาตีตก-กก.สรรหาไม่เดินหน้า สตง.จะเกิดสุญญากาศ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่รัฐสภา จากกรณีปัญหาการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คนใหม่ที่ยังสรรหาไม่ได้ เนื่องจากไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่ ทำให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่าจะเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะยืนยันในร่างกฎหมายตามวุฒิสภาหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อวัน ที่ 30 ส.ค. นายชัยมีคำสั่งนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1-2 ก.ย.นี้ แต่ไม่มีการบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว มีเพียงวาระเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุมรับทราบคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงิน แผ่นดิน(คตง.) กับวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ซึ่งศาลฯไม่รับวินิจฉัยเท่านั้น

นายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ เลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวว่า สภาคงยังไม่พิจารณายืนยัน หรือไม่ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวในสัปดาห์นี้ จะพิจารณาตามวาระที่ประธานฯบรรจุไว้ และวิปรัฐบาลคงไม่เสนอหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแทรกเข้ามาก่อน เพราะวิปรัฐบาลเองก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ว่าจะเห็นชอบหรือตีตกโดยให้ทุกพรรคกลับไปหารือในพรรคของตนเอง เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีปัจจัยเยอะ จึงต้องค่อยๆแก้ เพราะจะเป็นบรรทัดฐานกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วย สำหรับเนื้อหาของกฎหมายที่เพิ่มอำนาจ คตง. ให้ไต่สวนและส่งฟ้องเองได้ ไม่ใช่ประเด็นที่สภาเสียงข้างมากจะคว่ำหรือไม่คว่ำ เพราะกฎหมายหากใช้ไป 5 ปี 10 ปี แล้วไม่พอใจ สามารถแก้ไขได้

นายธนิตพล กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาการเมืองตามที่มีคนตั้งข้อสังเกต แต่เป็นเรื่องปัจจัยที่เพิ่มเติมเข้ามา นั่นคือ การสรรหาผู้ว่าการ สตง.และ คตง.ใหม่ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ไปทับซ้อนกับกฎหมายที่คาในสภา เมื่อกฎหมายค้างนาน สรรหาไม่ได้ จึงต้องมานั่งคิดด้วยว่า หากปล่อยให้กระบวนการสรรหาเดินต่อไปก่อนตามที่ประธานวุฒิสภาบอก เกิดสรรหามาได้แล้วอำนาจหน้าที่ของเขาจะมีหรือไม่ จะทำงานได้ไหม สามารถส่งผลการตรวจสอบให้อัยการฟ้องได้หรือไม่ซึ่งมันจะเป็นบรรทัดฐานใน อนาคตกับองค์กรอิสระอื่น วิปรัฐบาลจึงต้องนำมาพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรกับร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจะ เป็นทางออกที่ดีที่สุด

ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คงต้องรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะมีมติอย่างไร หากไม่มีการยืนยันตามวุฒิสภาก็มีอันตกไป และต้องเสนอร่างกฎหมายเข้ามาใหม่ แต่ก็มีปัญหาอีกว่าแล้วใครคือผู้มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายเข้ามาระหว่าง คตง.หรือ ส.ส. อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีหรือไม่มีกฎหมายฉบับใหม่ ตนก็จะเชิญคณะกรรมการสรรหาฯมาหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังวันที่ 15 ก.ย. แต่ยอมรับว่า หากสภาฯตีตกแล้ว คณะกรรมการสรรหาฯมีมติว่า ต้องรอร่างกฎหมายใหม่ ก็จะมีปัญหาการทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ สตง. ที่อาจจะทำได้แค่งานธุรการ ไม่สามารถทำตามอำนาจหน้าที่ตรวจสอบได้ตามรัฐธรรมนูญ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์