ชะลอค่าแรง300ทั่วปท.ปี′58 ส.อ.ท.วอนรัฐเอกชนรับไม่ไหว ร้องเปิดทางนำเข้าคนงานตปท.

ภาพจาก มติชนภาพจาก มติชน

ส.อ.ท.วอนรัฐเลื่อนค่าแรง 300 บาททั่วประเทศออกไปอีก 2 ปี เป็นปี 2558 หวั่น 70 จว.ที่เหลือรับไม่ไหว เสนอตั้งกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนศึกษาผลกระทบพร้อมหามาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีอาการหนัก ร้องเปิดทางนำเข้าแรงงานข้ามชาติ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกรรมการบริหาร ส.อ.ท.และสมาชิก เพื่อพิจารณาข้อเสนอเรื่องมาตรการรองรับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 40% และที่นำร่อง 7 จังหวัดเป็น 300 บาทต่อวันไปแล้ว ก่อนนำเสนอต่อภาครัฐอย่างเป็นทางการ ว่า ที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอรวม 9 ข้อ โดยหลักสำคัญ อาทิ ชะลอการปรับค่าแรงจังหวัดที่ยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ซึ่งจะปรับให้ถึงภายในวันที่ 1 มกราคม 2556 ไปเป็นปี 2558 ช่วยเหลืองบประมาณโครงการเพิ่มทักษะในสาขาต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างผู้เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่


นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า หามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ส.อ.ท. ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบและหามาตรการช่วย เช่น ลดการส่งค่าประกันสังคม จาก 5% เหลือ 3% ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง 7% โดยเอสเอ็มอีที่มีรายได้ 100,000-1 ล้านบาท ปัจจุบันเสีย 15% เอสเอ็มอีที่มีรายได้ 1-3 ล้านบาท ปัจจุบันเสีย 25% จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 10,000-20,000 ล้านบาทจากธนาคารของรัฐเพื่อซื้อเครื่องจักรและเครื่องทุ่นแรง โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 3% ระยะเวลา 5-6 ปี ส่งเสริมการลงทุนประเทศเพื่อนบ้านและหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่พร้อมไปลงทุนต่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชายแดน ให้สามารถใช้แรงงานข้ามชาติแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือกำหนดเป็นรายพื้นที่ให้นำแรงงานข้ามชาติมาใช้ในอุตสาหกรรมโดยกำหนดระยะเวลาเข้ามาของแรงงานข้ามชาติที่ชัดเจน เป็นต้น


"วันที่ 20 เมษายน กระทรวงแรงงานได้เชิญ ส.อ.ท.รับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดมาตรการรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้น ส.อ.ท.จะเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงแรงงาน ส่วนเรื่องอื่นจะประสานกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงต่อไป" นายพยุงศักดิ์กล่าว


นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการให้ชะลอการปรับเพิ่มค่าจ้างรอบ 2 ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ออกไป เพราะผู้ประกอบการต่างจังหวัดเดือดร้อนมาก อาจประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เนื่องจากปีนี้ต้องปรับค่าจ้างไปแล้ว 40% ตามจังหวัดนำร่องที่ปรับเป็น 300 บาทต่อวัน หากต้องปรับเป็นครั้งที่ 2 จะมีต้นทุนสูงมาก อาทิ เชียงใหม่ จาก 180 บาทต่อวัน เป็น 251 บาทต่อวัน นครราชสีมา 183 บาทต่อวัน เป็น 255 บาทต่อวัน สงขลา 176 บาทต่อวัน เป็น 246 บาทต่อวัน ขอนแก่น 167 บาทต่อวัน เป็น 232 บาทต่อวัน และพระนครศรีอยุธยา 190 บาทต่อวัน เป็น 265 บาทต่อวัน


นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้สำรวจผลกระทบหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ โดยสุ่มสำรวจภาคเหนือพบว่าผู้ประกอบการรวม 119 ราย ได้รับผลกระทบรุนแรง 58% ผลกระทบปานกลาง 36% และผลกระทบน้อย 6%


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์