ชวนเผยแนวทางแก้รธน.พรรคเดินตามมาร์คปัดแทงกั๊ก ป๋าเหนาะควันออกหูถูกกล่าวหารับใช้ทักษิณ


นายกฯแย้มรื้อ ม.190 เหตุทำงานไม่คล่องตัว ปัดข้อหารัฐบาลซื้อเวลา ลั่นไม่ทำเลยก็ได้ เชื่อปมที่มีวาระแอบแฝงไม่สำเร็จแน่ "ชวน" ชี้ที่ประชุมพรรคเห็นตามหัวหน้า ปฏิเสธแทงกั๊ก ย้ำประเด็นขัดแย้งไม่ได้เกิดจากรธน. "เสนาะ"ยันไม่ได้ช่วยเหลือ"แม้ว-อ้อ"ยัวะข้อหารับงาน บอกถ้าอยากปรองดองจริงแค่ 7 วันก็จบ


"มาร์ค"ปฏิเสธรัฐบาลซื้อเวลา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันการเปิดช่องของรัฐบาลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล แต่เป็นปัญหาของคนที่มาชุมนุม ที่ต้องฟังและนำมาพิจารณา พร้อมเชื่อว่า ประเด็นที่มีวาระแอบแฝงจะไม่มีความสำเร็จ
 ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเสียงวิจารณ์รัฐบาลซื้อเวลาว่า รัฐบาลไม่ได้ซื้อเวลา และทราบอยู่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเห็นหลากหลาย ขัดแย้งรุนแรง ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมเพราะเริ่มจากปัญหานี้ รัฐบาลไม่ต้องการทำอะไรที่จุดชนวนความขัดแย้ง แต่ยอมรับเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องสะสาง
 
"ผมพูดวันแรกที่รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติว่า จำเป็นต้องแก้ แต่ประเด็นของผม อาจไม่ตรงกับคนอื่นที่อยากแก้ ดังนั้น วิธีที่ไม่ทำเป็นปมขัดแย้งต้องมีวิธีการสามารถนำมาพูดคุยก็ต้องใช้เวลาบ้าง มาว่าผมซื้อเวลา ถามว่าซื้อเวลาทำอะไร จะไม่ทำเลยก็ได้ หรือบอก 2 ปีจึงแก้ก็ได้ แต่ผมแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในใจคนที่มาชุมนุม เรื่องนี้เราก็ต้องฟังเขา แต่ไม่ใช่ไม่ฟังคนที่ไม่มาชุมนุม ดังนั้น ต้องเอาเรื่องนี้มาวางบนโต๊ะ ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เชื่อว่าคนเข้าใจได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เชื่อวาระแอบแฝงไม่สำเร็จ
 
เมื่อถามว่าถึงเวลาแก้รัฐธรรมนูญหรือยัง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บางมาตราเมื่อการใช้เป็นอุปสรรค หรือไม่สอดคล้องความจริง หรือสามารถปรับเป็นประชาธิปไตยได้มากขึ้นก็ทำได้ อย่างมาตรา 190 คงต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งนี้ที่ปฏิบัติยากไม่ใช่หลักการ แต่เพราะไม่ชัดเจน หน่วยงานจึงไม่แน่ใจว่าเรื่องนั้นๆ เข้าข่ายหรือไม่ ทำให้เมื่อกลัวก็เสนอผ่านสภาก่อน การทำงานเลยไม่คล่องตัว หรือปัญหา ส.ส.รับเรื่องร้องทุกข์จะถ่ายทอดอย่างไรไม่ให้เป็นการแทรกแซงราชการ หรือเรื่องโครงสร้างองค์กรรัฐธรรมนูญ เช่น สภามีกี่สภา จำนวนเท่าไหร่ มาอย่างไร เป็นประเด็นที่สามารถหยิบมาพูดคุยได้
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มองว่ามาตรา 237 มีปัญหา ก็เพราะมาตราใดมีเรื่องส่วนได้เสียของคนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขจึงมีปัญหาแน่นอน จึงพยายามให้องค์กรกลาง(สถาบันพระปกเกล้า)เข้ามาดูส่วนนี้ เมื่อฝ่ายค้านไม่พอใจจึงมาใช้ประเด็นนี้ แต่ประเด็นใดละเอียดอ่อนต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น เชื่อว่าประเด็นใดพยายามทำโดยมีวาระแอบแฝง สุดท้ายจะไม่สำเร็จ และจะเป็นชนวนความขัดแย้ง

ยันอาสามาไม่มีสิทธิท้อถอย

เมื่อถามว่า มีช่วงเวลาท้อถอยในการทำงานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ผมไม่มีสิทธิท้อถอย ผมเป็นคนอาสาตัว ดังนั้น ต้องมีความรับผิดชอบ แต่หากทำงานไม่ได้ ทำแล้วบ้านเมืองเสียหายเป็นอีกเรื่อง ไม่ท้อ แต่ถามว่าบางช่วงเหนื่อยหรือไม่ ก็เป็นธรรมดาบางช่วงเหนื่อยได้หรือเบื่อ บางช่วงรู้สึกทำไมต้องเกิดสิ่งนี้กับผม เช่น เหตุที่พยายามทำร้ายผม ผมก็คิด แต่ไม่ใช่ว่าทำไมมีคนอยากทำร้าย การเมืองธรรมดามีคู่แข่งเป็นศัตรูทางการเมือง แต่อยู่การเมืองมา 17 ปี ไม่เคยเห็นว่าทำกันรุนแรงขนาดนี้ ถึงขนาดประกาศบนเวทีว่าไปทำร้ายคนนั้น ไล่จับคนนี้"
 
เมื่อถามว่า ผลโพลระบุว่าปัญหาต่างๆ เกิดจากนักการเมือง นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ไม่ปฏิเสธ เพราะปัญหาหลายอย่างมาจากการเมือง เมื่อมาจากการเมือง นักการเมืองก็เป็นผู้ก่อ แต่อย่าสรุปว่าเป็นนักการเมืองทุกคน หรือส่วนใหญ่ เชื่อว่าส่วนใหญ่ตั้งใจดีไม่ให้เกิดปัญหา

"ชวน"ชี้รธน.ไม่ใช่ปมขัดแย้ง
 
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ส่วนตัวเป็นเพียงผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ผู้แก้ไข แต่ขอเอาไว้ให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ขอให้เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะพิจารณา ซึ่งเมื่อพรรคมีการประชุมเพื่อขอความเห็น ก็จะได้ให้ความเห็นในที่ประชุมพรรค เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่จริงใจ หรือแทงกั๊กในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  นายชวน กล่าวแบบติดตลกว่า "พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เล่นการพนันอะไรเลย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค ได้ประกาศจุดยืนมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในที่ประชุมพรรคก็มีความเห็นตามหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม อย่าไปเข้าใจผิดว่า วิกฤตตอนนี้ที่มีปัญหาความขัดแย้งแตกความสามัคคีนั้นมาจากตัวรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน และไม่ได้เกี่ยวข้องกัน"
 
เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่มองว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจะแก้วิกฤตการเมืองได้ นายชวน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ ถ้าเห็นว่าเป็นการแก้ไขให้ดีขึ้น ส่วนจะแก้ไขมาตราใดนั้นขอให้คณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคเคารพเสียงข้างมาก เมื่อถามต่อว่า เป็นห่วงประเด็นการนิรโทษกรรมหรือไม่  นายชวน กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดกันถึงเรื่องนี้
 
"การเสนอแก้ไขก็มีบางมาตราที่ในหมู่ส.ส.มีความเห็นร่วมกัน เช่น บทบาทของส.ส.ในบางเรื่อง อาทิ ไม่สามารถเป็นเลขานุการรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็มีเหตุผล ส่วนมาตรา 190 ก็เป็นที่รู้กันว่าจะหาทางทำให้มันเหมาะสมกว่านี้ได้อย่างไร"นายชวน กล่าว

ปชป.ให้คง"237"แต่ไม่ยุบพรรค
 
นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ควรมีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลามากกว่านี้ แม้จะมีการพูดถึงกรอบเวลา 45 วัน แต่ทุกฝ่ายยังไม่เห็นพ้อง ควรนำข้อเสนอทุกฝ่ายมากองรวม ไม่ว่าจะเป็นจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ การปฏิรูประบบราชการ แล้วดูกรอบเวลาการทำงาน จากนั้นค่อยถกเถียงว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญ จะให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) หรือเดินตามกระบวนการมาตรา 291 ที่มีอยู่ 
 
"ยืนยันว่า พรรคไม่ได้ปิดกั้น และไม่มีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย เราเข้าใจเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่ต้องการเปิดประตูให้ทุกฝ่ายเข้ามาอยู่ในกรรมการ ผมอยากเสนอประเด็นที่เหตุแห่งปัญหาวิกฤต คือ เรื่องซื้อสิทธิขายเสียง  ทำให้เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มาทุจริต นายกฯควรให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ และทุกพรรคต้องมาประกาศจุดยืนต่อต้านเรื่องซื้อเสียงขายเสียงร่วมกัน และจากเรื่องดังกล่าว ผมเห็นว่า ต้องคงมาตรา 237 ไว้ แต่อาจไม่ถึงต้องยุบพรรค เพราะไม่แฟร์กับสมาชิก แต่สำหรับกรรมการบริหารพรรคยังต้องรับผิดชอบอยู่  นอกจากนี้ เสนอด้วยว่า มาตรา 239 ว่าด้วยการให้ใบแดงใบเหลือง ควรตัดวรรคสองออก เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีสิทธิในการตัดสินถึงที่สุด ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศรับรองผล นอกจากนี้ มาตรา 265 และ 266 ว่าด้วยส.ส.ห้ามเป็นเลขารัฐมนตรี หรือห้ามก้าวก่ายราชการ ก็ควรแก้เช่นกัน" นายสาธิต กล่าว

รช.ชี้เป็นสิทธิที่ปชป.แทงกั๊ก
 
นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา  กล่าวว่า ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาก่อนหน้านี้จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯด้วย โดยกรอบหน้าที่ของคณะกรรมการฯจะแก้ไขความขัดแย้งควบคู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ที่จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งคงจะได้ข้อสรุปว่าคณะอนุกรรมการจะมีจำนวนกี่ชุดและจะทำอะไรบ้าง
 
"การที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าควรรอข้อสรุปจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯก่อนที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็ถือเป็นสิทธิของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทางพรรครอได้อยู่แล้ว"นายวิรัช กล่าว

"ป๋าเหนาะ"ปัดช่วย"แม้ว-อ้อ"
 
นายเสนาะ เทียนทอง  หัวหน้าพรรคประชาราช  ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวถึงกรณีเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ให้นิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ดินรัชดา ว่า ไม่ได้พูด เพียงแต่ชี้ให้เห็น เพราะการกล่าวหาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในคดีที่ดินย่านรัชดา และมีการตัดสินจำคุก 2 ปีนั้น  ซึ่งทุกอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ซื้อที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพียงเสนอให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯไปเท่านั้น ว่าความแตกแยกมันเกิดจากตรงนี้ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณก็มีคนรักเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ยกตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น
 
เมื่อถามว่า มีเสียงคัดค้านในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯบอกว่า พูดเพียงด้านเดียว โดยไม่พูดถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ  นายเสนาะกล่าวว่า "เราเพียงชี้ให้เห็นว่าเราทำงานสมานฉันท์ใช่ไหม เพื่อหาทางออกให้เกิดความปรองดอง ไม่ใช่บอกแล้วไม่เอา แล้วจะปรองดองได้อย่างไร คณะกรรมสมานฉันท์ฯไม่ได้ตัดสินว่าใครถูกใครผิด ชื่อคณะกรรมการก็บอกแล้วว่าสมานฉันท์ ดังนั้นเรามาปรองดอง"

ยัวะถูกกล่าวหารับใช้"ทักษิณ"
 
เมื่อถามว่า มีหลายฝ่ายบอกว่ารับงานจากพ.ต.ท.ทักษิณมา นายเสนาะ กล่าวว่า "แค่สื่อยังเข้าใจว่าผมไปรับงานจากพ.ต.ท.ทักษิณมาก็ไม่ต้องมาพูดกันแล้ว ถ้าผมไม่ไปนั่งเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะตั้งไข่ได้หรือไม่ ส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์ฯจะได้ข้อสรุปอย่างไรนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าไม่เอา หรือใครบอกว่าไปรับใช้พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ต้องมาพูดกันแล้ว จะประชุมกันให้เสียเวลาทำไม"
 
เมื่อถามว่า กรอบเวลาการทำงาน 45 วันถือว่าน้อยหรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่า ความจริงทำงานเพียง 7 วันก็พอแล้ว ถ้ามีความเข้าใจกัน หากยอมกันว่าที่แล้วๆ มาจบกันนะ นี่คือการปรองดองที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
 
"หากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะหาเสียงได้อย่างไร สำหรับพรรคประชาธิปัตย์หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย เว้นแต่แก้รัฐธรรมนูญและสมานฉันท์กันได้แล้วก็ยังต้องรอให้ประชาชนหายความขัดแย้งอีก มันต้องหันมาเป็นรัฐบาลเพื่อชาติอย่างเดียวเพื่อขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยอาจให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯหรือไม่ก็แล้วแต่ ที่พูดไปนั้นหากไม่ผิดแล้วทำไมไม่ฟังกันบ้าง การไม่ยอมกันหากเกิดยุบสภาแล้วจะหาเสียงได้อย่างไร" นายเสนาะ กล่าว

กก.สอบเท็จจริงฯตั้งอนุ3ชุด
 
ด้านนายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. ที่ประชุมจะพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะอนุกรรมการรับฟังข้อมูลข่าวสาร และคณะอนุกรรมการจัดทำข้อสรุป เพื่อเสนอต่อรัฐสภา โดยในคณะอนุกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ อาจจะแยกย่อยออกเป็นการตรวจสอบเหตุการณ์ในแต่ละจุด เช่น ที่พัทยา ที่กระทรวงมหาดไทย นางเลิ้ง และที่อื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมข้อมูลทั้งหมด อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งสัดส่วนจำนวนอนุกรรมการ แต่คิดว่า จะให้มีตามความเหมาะสมกับภารกิจมากกว่า และขณะนี้ยังไม่มีการทาบทามบุคคลภายนอก ส่วนกรอบการทำงานของคณะกรรมการฯ เบื้องต้นกำหนด 30 วัน แต่ถ้าไม่เสร็จก็สามารถขยายต่อได้อีก อย่างไรก็ดีจะพยายามทำให้เร็วที่สุด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ
 
"หากพรรคเพื่อไทยติดใจในเหตุการณ์ความวุ่นวาย ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ขอให้รวบรวมข้อมูลนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้  โดยเฉพาะเรื่องที่สงสัยว่านายกรัฐมนตรีอยู่ในรถระหว่างการเกิดเหตุที่กระทรวงมหาดไทยหรือไม่  โดยคณะกรรมการฯพร้อมรับเป็นประเด็นในการตรวจสอบ" นายสกลธี กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์