ชวน หลีกภัยไม่รู้เรืองไกรยื่น กกต.สอยพ้น ส.ส.เป็นกก.สภามหาวิทยาลัยรัฐ2แห่งขัดรธน.

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

กล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ถึงการที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกรรมการสภามหาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาลัยศิลปากรและเป็นกรรมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า ตนยังไม่ทราบเรื่อง แล้วแต่จะมีความเห็น แต่ตนพร้อมชี้แจง

วันเดียวกันนายเรืองไกร  ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ระบบสรรหา เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้ตรวจสอบสมาชิกภาพนายชวน หลีกภัย ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ระบบบัญชีรายชื่อและประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ว่า ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากกดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยศิลปากร และกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 (1) ซึ่งประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (6) หรือไม่
                                                

ในหนังสือดังกล่าวนายเรืองไกรได้หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 10/2551ที่ระบุว่า ที่วินิจฉัยว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่สามารถเป็นกรรมการในหน่วยงานของฝ่ายบริหารได้ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


"มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า  ข้อยกเว้นในกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารับหรือดำรงตำแหน่งกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรคสอง   มีความหมายและขอบเขตอย่างไรนั้น เห็นว่า เมื่อคำนึงถึงหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ  ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำของข้อยกเว้น  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่มาก่อนหน้า  กล่าวคือ  ยกเว้นการรับหรือคำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา  สภาผู้แทนราษฎร  หรือวุฒิสภา  ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งในราชการฝ่ายนิติบัญญัติโดยแท้แล้ว  ก็ควรจะแปลความคำว่า “ราชการแผ่นดิน” ในมาตรา 265 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องหรือสอดรับกับจุดประสงค์ของถ้อยคำในตัวบทบัญญัติที่มาก่อนว่า  ราชการแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึง  ราชการบริหารในฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น  ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ หรือในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ  ทำให้ผู้ควบคุมและผู้ถูกควบคุมเป็นบุคคลคนเดียวกัน  อันจะทำให้เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์  เว้นแต่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี  ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ


ตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตยแม้จะมีการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกันแล้ว 

แต่องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยก็ยังมีความเป็นอิสระต่อกันอยู่  โดยเฉพาะความเป็นอิสระในการดำเนินกิจการภายในตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้นเองซึ่งแต่ละองค์กรจะมีหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือกำกับดูแล  ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรนั้นบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  เช่น  ฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี  มีกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งเป็นหน่วยราชการ  หรือมีรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนที่มิใช่หน่วยงานราชการอยู่ในความรับผิดชอบและกำกับดูแล  โดยมีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการนำนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาไปปฏิบัติให้บรรลุผล  หน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการของคณะรัฐมนตรี  ฝ่ายตุลาการหรือศาลมีสำนักงานศาลยุติธรรม  สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบและกำกับดูแลของศาล
 


ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภามีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบและกำกับดูแลของรัฐสภา  โดยมีคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (ก.ร.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 มาตรา 6  รวมทั้งมีสถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของประธานรัฐสภา  ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541   และมีสำนักงานสภาพัฒนาการเมืองเป็นหน่วยงานอิสระอยู่ในสถาบันพระปกเกล้าอีกชั้นหนึ่ง  ตามมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551

ดังนั้น จึงเห็นว่า การแต่งตั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นสมาชิกของฝ่ายนิติบัญญัติ  เป็นกรรมการในหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือกำกับดูแลของฝ่ายนิติบัญญัติ  เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แห่งการบริหารราชการของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งมิได้เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่  จึงอยู่ในความหมายและขอบเขตของการเป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดิน

นายเรืองไกรกล่าวว่า  ถ้าพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  ศาล  และองค์กรอื่นของรัฐ  ก็จะพิจารณาได้ว่า  การดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ในมหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของนายชวน  ย่อมขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 265 (1) แล้ว 

-----------------

 เปิดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 265 (1)   ซึ่งอยู่ในส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  

   มาตรา 265    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ต้อง
 

   (1) ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น
  

   มาตรา 106    สมาชิกสภาพของสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงเมื่อ
  

   (6) กระทำการอันต้อห้ามตามมาตรา 265 หรือ มาตรา 266 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์