ฉายา รธน.ฉบับ 3 ขาด พีเน็ต ติงให้อำนาจตุลาการเกินไป

คม-ชัด-ลึก

16 เมษายน 2550 20:38 น.

สมชัย ศรีสุทธิยากร ติงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเป็นฉบับ 3 ขาด ทั้ง สมดุล-เหตุผล-การมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับระบบตุลาการมากเกินไป เน้นแก้ปัญหาในอดีต เร่งยกร่างฯ ทำให้กระบวนการรับฟังความเห็นเป็นแค่พิธีกรรม แนะ ส.ส.ร.แก้ไข

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต)

ให้สัมภาษณ์ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการยกร่างจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และจะออกมาให้ประชาชนเห็นในวันที่ 19 เมษายนนี้ว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญ 3 ขาด คือ ขาดความสมดุล ขาดเหตุผล และขาดการมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญต่อองค์กรด้านตุลาการมากเกินไป โดยฝ่ายศาลจะเพิ่มบทบาทในทางการเมืองอย่างมาก เช่น บทบาทในการสรรหาองค์กรอิสระ บทบาทในการพิจารณาใบเหลือง ใบแดงแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และบทบาทในคณะบุคคลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ เป็นต้น

การให้ความสำคัญดังกล่าวจะเป็นเหตุให้องค์กรด้านตุลาการมีความหมายทางการเมืองมากขึ้น และทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรด้านตุลาการ และจะทำให้สถาบันดังกล่าวมีปัญหาตามมาทั้งระบบในภายหลัง ดังนั้นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ควรใคร่ครวญให้ดีถึงการให้ตุลาการมีอำนาจจนขาดความสมดุลเช่นนี้ นายสมชัย กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต กล่าวว่า สาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญขาดเหตุผล เพราะพยายามยกร่างฯ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ไม่สามารถชี้แจงในเชิงเหตุผลได้

และอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ เพิ่ม เช่น การลดจำนวน ส.ส.เขตเหลือ 320 คน และให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบสัดส่วนภาค จำนวน 80 คน ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนายทุนเข้ามามีอิทธิพลใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสัดส่วนภาคก็เกิดขึ้นใน ส.ส.เขตอยู่แล้ว

การลดจำนวน ส.ส.จะทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรง โอกาสที่ ส.ส.หน้าใหม่ในสภาจะน้อยลง เช่นเดียวกับประเด็นการสรรหา ส.ว. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสภาผัว-เมียในอดีตก็ไม่มีหลักประกันว่าการเมืองจะไม่เข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหา ผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต กล่าว

ส่วนที่มองว่าขาดการมีส่วนร่วมนั้น นายสมชัย กล่าวว่า กระบวนการยกร่างที่เร่งรัด ทำให้การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจึงมีลักษณะเป็นพิธีกรรม หรือเพื่อใช้งบประมาณให้หมดไปมากกว่านำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการยกร่างฯ

เกรงว่าการจัดทำประชามติที่จะเกิดขึ้นจะตั้งอยู่บนฐานของความว่างเปล่า คือ รับ หรือไม่รับ โดยประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้เนื้อหาที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ส.ส.ร.ควรประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และชี้แจงเหตุผลในเรื่องต่างๆ ต่อประชาชน นายสมชัย กล่าว

ขณะที่ นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า

จะฝึกอบรมบุคลากรของภาคประชาชนที่รักประชาธิปไตย และองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ให้มาเป็นเครือข่ายด้านการสืบสวนสอบสวนของ กกต.เพื่อเฝ้าระวังและจับตาการทุจริตของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวกลุ่มบุคคลที่อาจขัดขวางการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์