จุดจบ 3 กกต.ที่เหลืออาจลงเอยที่ศาลรธน.

กรุงเทพธุรกิจ

6 มิถุนายน 2549 19:50 น.

การเคลื่อนไหวของ 35 รักษาการวุฒิสมาชิกที่ยื่นเรื่องผ่าน นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการพ้นสภาพการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่เหลืออีก 3 คน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : โดยยกเหตุผลว่าวางตัวไม่เป็นกลางตามมาตรา 136 ซึ่งก่อนหน้านี้ดูประหนึ่งว่านายสุชนจะไม่ค่อยรับลูกเรื่องดังกล่าวเท่าไร แต่หลังจากที่นายสุชนออกมายอมรับเองว่า ได้หารือกับกลุ่มประธานศาลแล้ว ท่าทีกลับเปลี่ยนไป โดยไม่ออกรับแทน 3 กกต.เหมือนในอดีต แต่ให้เป็นเรื่องของกกต.ที่เหลือพิจารณาเอาเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ได้ข้อยุติจะส่งเรื่องของ 35 ส.ว.ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ก็ติดขัดเกิดข้อโต้แย้งจากฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักไทยและส.ว.บางส่วนที่ใกล้ชิดรัฐบาล ที่เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภารักษาการซึ่งสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2549 นั้น คำร้องของ 35 ส.ว.เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญหรือไม่

ดังนั้น นายสุชนจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 2 เรื่อง คือ 1.อาศัยอำนาจตามมาตรา 266 เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าวุฒิสภารักษาการสามารถยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของกกต.ได้หรือไม่ ซึ่งการเสนอคำร้องดังกล่าวเป็นปัญหาว่าวุฒิสภาที่สิ้นสุดลงมีอำนาจมากน้อยเพียงใด และ 2.หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคำร้องว่า วุฒิสภารักษาการสามารถยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 142 ได้ จึงเป็นผลนำไปสู่การวินิจฉัยการขาดคุณสมบัติของกกต. ตามคำร้องของ 35 ส.ว.และคำร้องดังกล่าวจะมีผลให้ 3 กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำร้องดังกล่าวหรือไม่ โดยรักษาการประธานวุฒิสภาย้ำว่า การเสนอคำร้องทั้ง 2 เรื่องเป็นการนำความเห็นของทั้งสองฝ่าย และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

กระนั้นก็ตาม มีกระแสข่าวว่าจากวงการศาล ระบุว่า มาตรา 142 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ กกต.พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 136 ได้ โดยต้องเป็นกรณีขาดคุณสมบัติตามมาตรา 137 หรือเข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 139 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่ง 2 มาตราดังกล่าวเป็นการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกกต. อาทิ ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งเงินเดือนประจำ หรือไม่ดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เป็นต้น ดังนั้น ถ้าหากเห็นว่า กกต. ชุดนี้ ขาดความเป็นกลางทางการเมืองและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ควรใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303 เช่น ให้ประชาชน 50,000 รายชื่อ เข้าชื่อกันว่าส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ จากนั้นยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ ป.ป.ช.ไต่สวน หากมีมูลก็ให้วุฒิสภาลงมติ 3 ใน 5 ถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี มีข้อคิดเห็นจากอีกฟากว่า หากศาลวินิจฉัยถึงอำนาจของส.ว.ชุดรักษาการว่าสามารถดำเนินการส่งตีความสถานภาพของกกต.ได้ ก็ถือว่าเข้าเงื่อนไขที่จะพิจารณาคำร้องตามมาตรา 136 และด้วยคำวินิจฉัยจากที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะ ด้วยการจัดคูหาเลือกตั้งและการกำหนดวันเลือกตั้งที่สั้นไม่เป็นกลาง ตลอดจนบันทึกเหตุผลของศาลฎีกาที่ปฏิเสธสรรหาเพิ่ม 2 กกต.ในตำแหน่งที่ว่าง โดยชี้ชัดว่ากกต.ที่เหลืออยู่มีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง ขัดมาตรา 136 ถือว่าอยู่ในจุดพ้นสภาพที่จะทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งเมื่อดูตามแนวทางการแก้วิกฤติของสถาบันศาลแล้ว จุดจบของ 3 กกต.อาจมาลงเอยที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ อาจเร็วกว่าคดีของกกต.ในศาลอาญาก็เป็นได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์