จี้มาร์คธงนำ ใช้ทางลับ-แจ้งเจรจาพท.

ปชป.เรียกร้องทุกพรรค-ทุกสีร่วมกันทำให้บ้านเมืองปกติสุข เลิกพาดพิงสถาบัน สร้างความแตกแยก ชักศึกเข้าบ้าน ยุติส่งสัญญาณวุ่นวาย กก.สมานฉันท์ฯจี้ รบ.เป็นเจ้าภาพ ให้"อภิสิทธิ์"ถือธงนำปฏิบัติ ยุใช้วิธีเจรจา อาจเริ่มต้นกับฝ่ายค้านก่อน ต้องต่อยอดทั้งทางลับและทางแจ้ง

@ ปชป.เรียกร้องทำบ้านเมืองปกติสุข


นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ว่า ขอน้อมรับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งดุจเป็นแสงสว่างนำทางของบ้านเมืองถือเป็นมงคลอันยิ่งใหญ่ หากคนไทยจะช่วยกันทำให้เป็นปณิธานปีใหม่ของชาวไทยทุกคน โดยการทำการบ้านถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำดีและแสดงออกโดยที่คนไทยทุกคนร่วมกันทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองปกติสุขและมั่นคง ในการนี้พรรคขอเชิญชวนทุกพรรคและทุกกลุ่มการเมืองร่วมกันกระทำ 3 สิ่ง คือ 1.ร่วมกันสร้างความสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองเพื่อนำการเมืองออกจากวิกฤตของปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา 2.ร่วมกันนำการเมืองกลับสู่สภาและลดความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง และ 3.ร่วมกันทำประชาธิปไตยให้มั่นคง โดยให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงถึงการยอมรับในความเห็นที่แตกต่างและพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องแตกแยก แม้มีความเห็นที่แตกต่างกันทางความคิด

@ จี้เลิกก่อ"แตกแยก"-นปช.ทบทวน

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันขอเรียกร้องทุกพรรคการเมืองและทุกกลุ่มการเมืองให้เลิก 3 อย่างคือ 1.เลิกพาดพิงทุกองค์กรและสถาบัน ที่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง 2.เลิกสร้างความแตกแยกทุกวิถีทาง ไม่ว่าโดยการปลุกระดมมวลชนเพื่อให้คนไทยต้องเลือกข้างหรือการใช้ข้อมูลหลักฐานที่เป็นเท็จ หรือดึงเอาเพื่อนบ้านมาเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และ 3.ขอให้ทุกฝ่ายยุติการส่งสัญญาณความวุ่นวาย ความรุนแรงและไม่ว่าพรรคใดหรือสีใดขอให้ยุติการพูดถึงสงครามกลางเมืองหรือสงครามประชาชน ทางพรรคประชาธิปัตย์มีความมั่นใจว่าหากทุกฝ่ายช่วยกันทำ 3 สิ่ง และเลิก 3 อย่างนี้ ฝันร้ายในปีเก่าก็จะถูกทดแทนด้วยฝันดีที่จะเป็นจริงในปีใหม่ที่จะถึงนี้

"ยังไม่สายเกินไปที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จะใช้โอกาสน้อมรับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้วิจารณญาณและไตร่ตรอง เลื่อนการชุมนุมในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ออกไปก่อน และให้โอกาสประชาชนคนไทยใช้เวลาในช่วงนี้สร้างความสุขและสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติกลับคืนมา" นพ.บุรณัชย์กล่าว


@ ปธ.สมานฉันท์ฯให้"มาร์ค"ธงนำ

นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงรูปธรรมนำไปสู่การทำให้บ้านเมืองสงบตามพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มิใช่มีแค่กรอบ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญระยะเร่งด่วน แต่ยังมีกรอบ 1 เรื่องการสร้างความสมานฉันท์ และกรอบ 2 เรื่องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งสามารถทำได้เลย ตนย้ำเรื่องนี้มาหลายรอบตั้งแต่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้วว่า รัฐบาลต้องเป็นแกนนำที่ดำเนินการพร้อมกันทุกกรอบ เช่น การลดวิวาทะ การลดการสร้างเงื่อนไขใหม่ การเจรจา เป็นต้น แต่นี่ไม่มีการทำ แถมคนข้างๆ นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ยุติการตอบโต้ ฉะนั้นหากรัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมาถือธงนำในการปฏิบัติ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

"แม้พรรคเพื่อไทย หรือ แกนนำ นปช. จะออกมาพูดโจมตีใส่ร้ายอย่างไร ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมจะนิ่ง ทำงานเพื่อพิสูจน์อย่างเดียว และไม่พูดมาก สังคมก็จะเห็นเอง เขาจะใส่ร้ายก็ปล่อยเขา เพราะประชาชนไม่โง่ และรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าตอบโต้ตลอดเวลาอยู่อย่างนี้ มันจึงกลายเป็นชิงไหวชิงพริบในการพูดเสียมากกว่า เป็นการโต้วาที แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาบ้านเมือง การทำแบบนี้จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอไป ผมขอเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติจริง และปฏิบัติพร้อมกันทั้ง 3 กรอบที่เสนอไป" นายดิเรกกล่าว

@ ยุเจรจา-เริ่มต้นกับฝ่ายค้านก่อน

นายดิเรกกล่าวว่า เรื่องการเจรจาตามข้อเสนอนั้น ถ้าทุกคนเห็นแก่บ้านแก่เมือง ทำไมจะเจรจากันไม่ได้ เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่นายกฯจะเชิญฝ่ายค้านมาปรึกษาหารือ หาทางเลิกทะเลาะกัน ถ้านายกฯเปิดเกมอย่างนี้ก็จะมีการเจรจาได้ ไม่ใช่ต้องไปเจรจาแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเพียงคนเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเจรจาแล้วคือแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแต่สุดท้ายฝ่ายค้านก็ถอนตัวหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาสั่งการ นายดิเรกกล่าวว่า ฝ่ายค้านก็มีเหตุผลของตนเอง โดยมองว่า เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ทำไมไม่ยกร่างเป็นร่างเดียว 6 ประเด็น รวมใจกันทำ แต่พอรัฐบาลให้แยกเป็น 6 ร่าง ร่างละประเด็น ฝ่ายค้านก็มองว่า รัฐบาลจะไม่เอาอันไหน ก็ไม่โหวตให้ได้ และเห็นว่า รัฐบาลจะซื้อเวลาด้วยการประชามติอีก ทั้งที่มาตรา 291 กำหนดให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญได้เลย ตรงนี้จึงเป็นความรู้สึกขัดแย้งขึ้นมา สุดท้ายทั้งสองฝ่ายมองกันไปมาด้วยสายตาที่ไม่ไว้ใจ

@ รบ.ไม่เป็นเจ้าภาพก็ไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นจริงๆ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องการรับโทษและไม่ต้องการโดนยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยอ้างว่าไม่ยุติธรรมเพราะเป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหาร นายดิเรกกล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ที่การได้คุยกันก่อน ประเด็นไหนเจรจาไม่ได้ ก็ยกเก็บไว้ก่อน อันไหนทำได้ก็ทำ ก็จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจกัน ถ้ารัฐบาลทำเหมือนแมวไล่จับหนูตลอดเวลา หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ และฝ่ายค้าน สู้เพื่อป้องกันตัวเองตลอดเวลา ก็ไม่สำเร็จ หรืออย่างฝ่ายค้านบอกว่า คดีเสื้อเหลืองปิดสนามบินสุวรรณภูมิทำไมไม่คืบ แต่คดีเสื้อแดงคืบเอาคืบเอา รัฐบาลก็ต้องชี้แจงด้วยเหตุผลเพื่อให้เข้าใจกัน

เมื่อถามถึงความจำเป็นที่จะต้องนำร่างกฎหมายปรองดองหรือพวกกฎหมายนิรโทษกรรมมาคุยกันหรือไม่ นายดิเรกกล่าวว่า หากเริ่มพูดคุยกันได้ มีอะไรก็เอามาวางต่อรองกัน และพิจารณากันดูเป็นประเด็นไป งานก็เดินหน้า ร่างกฎหมายปรองดอง อาจเป็นลักษณะหนึ่งก็ได้ถ้าสมมุติว่าพูดคุยกันได้จบ แต่นี่ยังไม่ได้คุยกันเลย รัฐบาลก็ไม่เป็นเจ้าภาพที่จะเริ่ม เรื่องก็ไปไหนไม่ได้

@ ต้องต่อยอดทั้งทางลับและแจ้ง

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย ในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางรูปธรรมในการทำให้บ้านเมืองสงบว่า ข้อเสนอของกรรมการสมานฉันท์ฯ ในส่วนกรอบแรกว่าด้วยแนวทางสร้างสมานฉันท์ ซึ่งมี 6 ข้อ ได้แก่ การลดวิวาทะ การไม่สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ การให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้ามาเป็นเครือข่ายสร้างพื้นที่สมานฉันท์ การเจรจา การตั้งสมัชชาสมานฉันท์ส่วนภูมิภาค และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้ ยังไม่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรม คิดว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้เริ่มได้แล้วและหลายอย่างทำได้เลยไม่ต้องลงทุน เช่นการลดวิวาทะ ดูอย่างงาน 5 ธันวาคม ที่รัฐบาลจัด ก็ระดมใจคนสามารถทำให้บรรยากาศลดความร้อนแรงลงได้มาก

"ต่อจากนี้ไป รัฐบาลต้องต่อยอด เช่น การเจรจา ทั้งทางลับและทางแจ้ง เริ่มจากตัวหลักทางการเมือง คือ ฝ่านค้านและรัฐบาล นายกฯสามารถเชิญ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของฝั่งนี้ มาร่วมกันได้ เพราะการเมืองตอนนี้มี 2 ขั้วใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อไปต่างก็ต้องสลับเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แล้วทำไมจะคุยกันไม่ได้ ส่วนการเจรจาทางลึก รัฐบาลสามารถเปิดการเจรจากับคนที่อยู่เบื้องหลังการที่เอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือ และยกเรื่องนั้นเรื่องนี้มาอ้างได้ เริ่มจากเอาสิ่งที่คุยกันได้มาเจรจากันก่อน หรือหากรัฐบาลไม่ทำ ประธานสภา ที่เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ก็สามารถผลักดันได้ วันนี้เป็นโอกาสดี เพราะคนไทยมีศูนย์รวมใจที่พระเจ้าอยู่หัวแล้ว และกระแสสังคมก็ต้องการให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน" นายตวงกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์