จี้ บิ๊กแอ้ด สอบจับ 9นปก.

จี้ "บิ๊กแอ้ด" สอบจับ 9นปก.

อ้างละเมิดปฏิญญาโฆษกฯโต้ครูประทีป
สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ร่อนจดหมายถึง “บิ๊กแอ้ด” จี้ให้เร่งสอบกรณีจับกุม 9 แกนนำ นปก. ระบุ เป็นการกระทำ "เผด็จการ" แทรกแซงการเมือง และละเมิดข้อตกลงในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ขณะที่ "เสน่ห์ จามริก" เตรียมหารือ กก.สิทธิฯ ถึงการกระทำของ "จรัล ดิษฐาอภิชัย" ขอให้ยุติบทบาทก่อนที่องค์กรจะเสียหาย ด้าน โฆษก คมช. โต้ "ครูประทีป" ทหาร-ตร.แค่ยึดเอกสารไปตรวจสอบ ไม่ได้ขโมย เมื่อไม่ผิดก็มาแสดงตัวเป็นเจ้าของรับคืนไป สำหรับ ประธาน คมช. จะไปเยี่ยม 8 แกนนำ นปก.ตามจิตแพทย์แนะหรือไม่ อยู่ที่ดุลพินิจของ "บิ๊กบัง" เอง ส่วน 8 ผู้ต้องขังในคุกคลองเปรมยังอยู่กันเป็นปกติ ไม่เครียด ใช้เงินได้วันละ 200 บาท แกนนำ นปก. รุ่น 2 พาผู้ชุมนุมมอบดอกไม้ให้กำลังใจหน้าเรือนจำท่ามกลางสายฝนกระหน่ำอย่างหนัก เอแบคโพลล์ระบุคนไทยความสุขลดต่ำลง สาเหตุเพราะม็อบ
 
จากเหตุการณ์ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ หรือ นปก. ไปชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของใส่บ้าน และทำลายทรัพย์สินในสโมสรกองทัพบกจนเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไประงับเหตุทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บหลายราย ตำรวจจึงจับกุมแกนนำ นปก. 9 คน นำตัวไปควบคุมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือเรือนจำคลองเปรม 8 คน โดย นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ศาลอนุญาตประกันตัว ขณะที่จิตแพทย์แนะให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธานคมช. ไปเยี่ยมแกนนำ นปก.ทั้ง 8 คน เพื่อลดกระแสความรุนแรง ส่วนแกนนำนปก.ชุด 2 ยังคงปักหลักชุมนุมที่สนามหลวงเพื่อขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. และรัฐบาลต่อไป รวมทั้งชักชวนให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่ง นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ถูกทหารบุกเข้ายึดแผ่นพิมพ์และโปสเตอร์ชักชวนคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เข้าแจ้งความตำรวจ สน.ท่าเรือ ให้ดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และละเมิดสิทธิ ตามที่เสนอข่าวไปให้ทราบตลอดนั้น


คมช.ชี้ "ครูประทีป" เข้าใจผิด
 ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช. กล่าวถึงกรณีที่ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำ นปก.รุ่น 2 เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทหารที่เข้ายึดแผ่นโปสเตอร์เชิญชวนให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรม นูญ ปี 50 ว่า ในพื้นที่ชุมชน 70 ไร่ คลองเตย เป็นความรับผิดชอบของกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ในวันนั้นทหารพบเอกสารแผ่นโปสเตอร์ดังกล่าว จึงได้แจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ เมื่อตำรวจตรวจสอบและสอบถามว่าใครเป็นเจ้าของก็ไม่พบว่าใครแสดงตัวเป็นเจ้าของ จึงนำเอกสารไปตรวจสอบที่โรงพักว่าผิดด้วยข้อกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบว่าผิดข้อกฎหมายใดเขาก็พร้อมที่จะคืน เอกสารให้ ถ้ามีคนมาแสดงตัวเป็นเจ้าของ
 
โฆษก คมช. กล่าวต่อว่า เรื่องที่เกิด  ขึ้นครูประทีปเข้าใจผิดคิดว่าทหารเข้าไปลักทรัพย์  ซึ่งเจตนาเราไม่ต้องการที่จะยึดหรือขโมยมาเพียงแต่นำไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อตรวจสอบแล้วใครมาแสดงความเป็นเจ้าของก็รับคืนไปเรื่องก็  จบ แต่หากไม่ยอมก็คงต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่  เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สามารถชี้แจงข้อร้องทุกข์กล่าวโทษได้ก็ว่ากันไปตามกระบวนการไม่ได้วิตกกังวลอะไร

โต้จิตแพทย์ไม่ใช่เด็กทะเลาะกัน  
ส่วนกรณีที่มีจิตแพทย์แนะนำให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธานคมช.ไปเยี่ยมแกนนำ นปก.ทั้ง 8 คนนั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า เป็นความคิดหนึ่งของจิตแพทย์ที่คิดในมุมของท่าน แต่ถือว่าเป็นเสียงหนึ่งของประชาชนเราก็รับฟังไว้ แต่การตกลงใจจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานคมช.จะตกลงใจด้วยตนเอง แม้หลายฝ่าย จะบอกว่าการไปเยี่ยมแกนนำนปก.ทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งในความคิดทางการเมือง แต่ละคนของกลุ่มแกนนำที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ทราบไม่ใช่เรื่องที่คิดยากหรือต้องพิจารณากันหลายตลบถึงจะเข้าใจ เด็กอมมือก็เข้าใจว่ากลุ่มแกนนำคิดอะไรอย่างไร มันไม่ใช่เป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันในบ้านหรือเด็กแย่งของเล่นกันแล้วมาบอกว่าอย่าทะเลาะกันไม่ใช่อย่างนั้น

กกต.ไม่ฟันธง "ครูประทีป" ผิด
 นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำนปก.รุ่น 2 ได้ทำแผ่นโปสเตอร์ "โหวตล้มรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมาย" นั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติหรือไม่ ว่า ในการรณรงค์ตนบอกแล้วว่าอย่าให้เกินเลย การรณรงค์ในการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้ารณรงค์เพื่อไม่ให้ ประชาชนไปลงมติเราก็ต้องมาพิจารณากันโดยเอาหลักกฎหมายเข้ามาพิจารณา ซึ่งกฎหมายก็ออกมาแล้วมีอยู่เพียง 7 มาตราเท่านั้นว่ามีโทษ  อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ตนยังไม่ขอฟันธงว่าเป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่ผิด


"เสน่ห์" ให้ "จรัล" ยุติบทบาท
 ด้าน นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เข้าไปร่วมกับกลุ่ม นปก. จนถูกจับแล้วใช้ตำแหน่งกรรมการสิทธิฯ ประกันตัว โดยอ้างว่าจะต้องกลับมาทำหน้าที่กรรมการสิทธิฯ ว่า ก็เป็นสิ่งที่ดีที่นายจรัล ยังแสดงความสนใจที่จะมาทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ และตนเห็นว่านายจรัล ควรที่จะยุติบทบาทในการเคลื่อนไหวกับนปก.เสียที แต่หากว่ายังมีการดำเนินการอย่างที่แล้วมาก็จะถือว่าไม่เห็นแก่องค์กร ทำให้กระทบต่อองค์กร และต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อองค์กรแล้ว ซึ่งเรากรรมการสิทธิฯจะต้องคิดให้หนักถึงการทำหน้าที่

เตรียมหารือกับกก.สิทธิฯ
 นายเสน่ห์ กล่าวอีกว่า อาจจะต้องมีการพูดคุยในคณะกรรมการสิทธิฯถึงพฤติกรรมการกระทำของนายจรัล ว่าได้กระทำเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ และควรจะดำเนินการอะไรอย่างใด อย่างหนึ่งหรือไม่ แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วและมีการอ้างการทำหน้าที่บทบาทของการเป็นกรรม การสิทธิฯแล้วยังมีการเดินหน้าต่อ เราก็ต้องมีการพูดจากันบ้าง และจะไม่พูดเป็นการส่วนตัว โดยจะต้องฟังเสียงกรรมการคนอื่น ๆ บ้างว่าเขาคิด อย่างไร

"จรัล" ควรเสียสละลาออก
       ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพูดคุยกับนายจรัลหรือไม่ ว่าถ้าอยากจะเคลื่อนไหวก็ควรที่จะเสียสละลาออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิหรือไม่ นายเสน่ห์ กล่าวว่า ตรงนี้ตนจะต้องมีการคุยกันและคงต้องให้เป็นเรื่องที่กรรมการฯต้องออกทรรศนะออกมาเพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เราต้อง ทำกันอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่ 1 ส.ค.นี้ หากไม่ติดขัดอะไรก็อาจจะต้องมีการหารือกันในคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า คิดเห็นกันอย่างไร และจะฟังเหตุผลของนายจรัลด้วย จริง ๆ เราควรที่จะต้องคุยกันแล้ว แต่มาติดช่วงวันหยุดจึงต้องไปหารือกันในวันทำการ ถึงแม้จะยังไม่ได้คุยกับ กรรมการฯคนอื่น ๆ ตนก็คิดว่าพวกเขาคงไม่สบายใจเหมือนตนเช่นกัน

"FIDH" ระบุเผด็จการจับ9แกนนำ
 ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า เว็บไซต์ www.prachatai.com ได้มีการเผยแพร่ว่า ทางสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 27 ก.ค. 2550 ถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อ้างถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาแกนนำ นปก. ทั้ง 9 คน ด้วยข้อหา มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการจับกุมคุมขังแกนนำดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.เป็นต้นมา โดยทางสหพันธ์ฯ ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้เป็นการกระทำที่เป็น "เผด็จการ" เนื่องจากยังไม่ทันได้มีการไต่สวนหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 22 ก.ค. 2550 อันนำมาซึ่งการตั้งข้อหา เจ้าหน้าที่กลับจับกุมแกนนำทั้ง 9 คนในระหว่างการเข้ารับฟังข้อกล่าวหาในชั้นศาล


ชี้เป็นการละเมิดปฏิญญาสากล
 การจับกุมและคุมขังแกนนำต่อต้านรัฐบาลทหารทั้ง 9 ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยลงนามเป็นภาคี เพราะการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานที่กระทำได้ หรือในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ก็มีสิทธิที่จะจับกุมหรือคุมขังผู้ต้องหาได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งเสียก่อนว่าการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มคนดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติจริง เมื่อเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในวันที่ 22 ก.ค. ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และไม่ปรากฏบทสรุปที่แน่ชัดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงมาจากฝ่ายรัฐหรือกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกัน การจับกุมและคุมขังแกนนำทั้ง 9 จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ถือเป็นการแทรกแซงการเมือง
 สหพันธ์ฯ ได้ระบุไว้ในจดหมายด้วยว่า การตั้งข้อหาและเรียกร้องความรับผิดชอบจากแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทั้ง 9 คน ถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองอย่างหนึ่ง เพราะเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบไปถึงการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้าด้วยเหตุนี้ สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล จึงยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไต่สวนกรณีดังกล่าวด้วยความเร่งด่วน และต้องแสดงให้เห็นว่าการจับกุมตัวแกนนำฯ ครั้งนี้ไม่มีเหตุผลทางการเมือง โดยขั้นตอนการไต่สวนจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในกฎหมายสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดด้วย

ม็อบ นปก.บุกเรือนจำฯ
 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มแกนนำ นปก. รุ่น 2 มาว่า นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำ นปก. รุ่น 2 เปิดเผยว่า ในเวลา 15.00 น. วันเดียวกันนี้ ตนและแกนนำ นปก.รุ่น 2 รวม 9 คนจะเดินทางไปให้กำลังใจกับแกนนำ นปก.รุ่นแรก ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และคาดว่าจะมีประชาชน ติดตามไปด้วย 100-200 คน ตนขอยืนยันว่าการเดินทางไปในวันนี้เพื่อให้กำลังใจไม่ใช่เพื่อก่อความวุ่นวาย แต่ทางกลุ่มจะมีการทำกิจกรรมเล็กน้อย เช่น เขียนข้อความให้กำลังใจใส่ถุงผ้าห้อยไว้ การมอบดอกไม้ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับมายังท้องสนามหลวง

8 นปก.ได้ใช้เงินวันละ 200 บาท
 สำหรับบรรยากาศบริเวณด้านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือเรือนจำคลองเปรม ในตอนเช้าวันเดียวกันนี้ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากยังไม่มีกลุ่ม นปก. หรือบรรดาญาติของแกนนำ นปก.ทั้ง 8 คน เดินทางมาเยี่ยม เพราะวันนี้เป็นวันหยุด เรือนจำไม่อนุญาตให้เยี่ยมผู้ต้องขัง นายพิทยา สังคนาคิณ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าวันนี้การดูแลกลุ่มผู้ต้องหายังปกติ ยังไม่ได้รับรายงานถึงปัญหาอุปสรรค ส่วนความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้อนุญาตให้ผู้ต้องขังเปิดบัญชีเงินฝากกับทางเรือนจำโดยไม่จำกัดเงินฝาก แต่อนุญาตให้เบิกเงินได้วันละ 200 บาท เพื่อใช้ซื้อของใช้ส่วนตัวในร้านสวัสดิการในเรือนจำ โดยต้องถอนเป็นคูปอง ไม่สามารถถือเงินสดในเรือนจำได้ อย่างไรก็ตามในวันจันทร์นี้ทางเรือนจำได้เปิดให้ญาติได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ตนคงไปตรวจสอบความเรียบร้อยด้วยตนเองอีกครั้ง

ผู้ต้องขังทั้ง 8 คนอยู่เป็นปกติ
 ส่วนความเป็นอยู่ของ 8 แกนนำ นปก. ที่ถูกควบคุมในแดนแรกรับหรือแดน 1 เป็นวันที่ สองนั้น ทุกคนยังใช้ชีวิตตามปกติไม่มีอาการเครียด ช่วงเย็นของวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังรับประทานอาหารเสร็จ ทั้ง 8 คนที่อยู่ในชุดผู้ต้องขังแรกเข้า สวมกางเกงขาสั้นสีฟ้า เสื้อเชิ้ตสีฟ้า ได้ทยอยขึ้นเรือนนอนด้วยอาการปกติในห้องขังที่ 13 ส่วน นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ถูกแยกให้นอนร่วมกับผู้ต้องขังชรา มีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดทั้งคืน จนตื่นนอนในเวลา 05.30 น. ของวันที่ 29 ก.ค.นี้ ทำกิจวัตรประจำวัน ก่อนนั่งสนทนาเหตุการณ์บ้านเมืองบริเวณลานหน้าเรือนนอน ทางเจ้าหน้าที่นำกาแฟร้อนมาให้ทั้งหมดดื่ม พร้อมกับหนังสือพิมพ์มาให้อ่านปล่อยให้ทั้งหมดพักผ่อนตามอัธยาศัย โดยเจ้าหน้าที่จับตาดูอยู่ห่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย

เตรียมรับมือผู้เข้าเยี่ยม
 ผู้สื่อข่าวรายงานมาด้วยว่า ในตอนเช้าวันที่ 30 ก.ค.นี้ ทางเรือนจำเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตามปกติ เรือนจำจึงเตรียมพร้อมรับมือกลุ่มญาติสนิทมิตรสหายและกลุ่ม นปก.ที่คาดว่าจะเดินทางมาให้กำลังใจ 8 แกนนำ นปก. เป็นจำนวนมาก โดยกรมราชทัณฑ์มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำใกล้เคียงจัดเตรียมกำลังไว้ในที่ตั้งพร้อมที่จะออกควบคุมฝูงชนได้ในทันทีหากมีเหตุการณ์วุ่นวาย

เมีย "หมอเหวง" ขอวันหยุดเยี่ยมได้
 ขณะที่ตอนสายวันเดียวกันนี้ นางธิดา  โตจิราการ ภรรยา นพ.เหวง โตจิราการ ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้นำอาหารโปรดประกอบด้วยผัดวุ้นเส้น ผัดเผ็ดปลาดุก และหมูสะเต๊ะ มาฝากให้สามี พร้อมกับกล่าวว่า การมาเยี่ยมวันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ชุมนุม เบื้องต้นยังไม่ขอยื่นประกันตัวตามความประสงค์ของ นพ.เหวง แต่ทางครอบครัวได้   เตรียมหลักทรัพย์ไว้พร้อมแล้ว นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กรมราชทันฑ์เปลี่ยนระบบเยี่ยมผู้ต้องขังให้สามารถเข้าเยี่ยมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ เช่นเดียวกับ นางอุทุมพร พัฒนภูมิไท ภรรยา     นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ที่นำเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวมาฝากไว้ โดยยืนยันจะไม่ขอยื่นประกันตัว อย่างไรก็ตามรู้สึกเสียใจที่ 8 แกนนำ นปก. ถูกควบคุมตัวเพราะเชื่อว่าทุกคนทำเพื่อประเทศชาติ

ผบ.เรือนจำจัดจนท.สกัดม็อบ
 ในส่วนการรักษาความปลอดภัยบริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นไปอย่างเข้มงวด มีการตรวจตรารถและบุคคลที่ผ่านเข้า-ออกโดยไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่ นายฐานิส ศรียะพันธ์ ผู้บัญชาการ (ผบ.) เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 50 นาย เพื่อซักซ้อมการรักษาความปลอดภัย โดยกำชับเจ้าหน้าที่ให้ใช้วิธีการเจรจาอย่างนุ่มนวลที่สุดกับกลุ่ม นปก. ที่จะเดินทางมาให้กำลังใจ 8 แกนนำ เพื่อไม่ให้เข้าไปในบริเวณเรือนจำ และป้องกันเหตุวุ่นวาย โดยเจ้าหน้าที่จะไม่พกอาวุธแต่อย่างใด พร้อมกับประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ประชาชื่น มาดูแลความเรียบร้อยอีกจำนวนหนึ่ง


ฝนกระหน่ำตอนมอบดอกไม้
 กระทั่งเวลา 15.00 น. นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ แกนนำ นปก.รุ่น 2 พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุม นปก. เกือบ 500 คน เดินทางมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อนำดอกไม้มามอบเป็นกำลังใจให้กับ 8 แกนนำ นปก.รุ่นแรก ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เจ้าหน้าที่พัสดีของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 50 นาย นำแผงเหล็กมากั้นไม่ให้กลุ่ม นปก.  เข้าไปในพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษยอมให้กลุ่ม นปก.นำดอกไม้ไปวางไว้ที่หน้าป้ายของเรือนจำกลางคลองเปรมเท่านั้น กลุ่ม นปก.จึงทยอยกันเดินนำดอกไม้ไปวางไว้ ส่วนแกนนำ นปก.ทั้ง 3 คน ได้นำดอกไม้บางส่วนไปวางที่วงเวียนหน้าเสาธงของเรือนจำกลางคลองเปรม ใช้เวลา 30 นาที จึงวางดอกไม้เสร็จสิ้น โดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น กลุ่ม นปก. จึงเดินทางกลับไปชุมนุมกันต่อที่สนามหลวง

คนชัยภูมิร่วมต้านม็อบนปก.
 ที่ จ.ชัยภูมิ เมื่อเวลา 09.50 น. วันเดียวกัน ได้มีกลุ่มพลังมวลชนประชาชนกลุ่มคนรักป๋าเปรม กลุ่มชาวปักษ์ใต้ เครือข่ายประชาชนคนชัยภูมิ และประชาชนคนรักบ้านเกิด พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลืองกว่า 100 คน ออกมาชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแลกลางเมืองชัยภูมิ พร้อมกับถือป้ายให้กำลังใจป๋าเปรม และไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุม นปก. โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยกล่าวประณามกลุ่ม นปก.ที่ไปสร้างความปั่นป่วนและใช้คำพูดจาบจ้วงป๋าเปรมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา เสร็จแล้วได้พากันเดินถือป้ายไปตามถนนใจกลางเมืองชัยภูมิเพื่อไปทำบุญที่วัดกลางเมืองเก่าในเมืองชัยภูมิเนื่องในวันอาสาฬหบูชาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ประเทศชาติบ้านเมืองสงบสุขโดยเร็ว

โพลชี้ม็อบทำความสุขลดลง
 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจเรื่อง "รายงานดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนภายในประเทศในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2550" จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนคนไทยใน 20 จังหวัด จำนวน 3,962 คน ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-28 ก.ค. 2550 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติด ตามข่าวสารเป็นประจำ อย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 82.4 วิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมืองขณะนี้ ร้อยละ 46.7 เครียดต่อเรื่องการเมือง ร้อยละ 9.7 ขัดแย้งกับคนในครอบครัว เรื่องการเมือง ร้อยละ 12.8 ขัดแย้งกับเพื่อนบ้านเรื่องการเมือง ร้อยละ 15.1 ขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องการเมือง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุขโดยเร็ว
 
ผลวิจัยยังพบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549 เป็นต้นมา โดยในการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า ความสุขของคนไทยลดลงเหลือ 5.02 ซึ่งถือว่ามีความสุขอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ โดยคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือความสุขสูงที่สุดอยู่ที่ 5.13 รองลงมาคือ ภาคกลาง อยู่ที่ 5.08 ภาคเหนืออยู่ที่ 4.93 ภาคใต้ อยู่ที่ 4.33 ในขณะที่คนในกรุงเทพมหานครมีความสุขต่ำที่สุด ได้คะแนนเพียง 3.71 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน สำหรับสิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขน้อยถึงไม่มีความสุขเลย ได้แก่ สถานการณ์ปัจจุบัน มีค่าความสุขต่ำสุดอยู่ที่ 2.45 ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประชาชนยังคงมีความสุขอยู่ได้ คือ การใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าความสุขสูงสุดอยู่ที่ 7.41 คะแนน รองลงมาคือโครงการพระราชดำริต่าง ๆ อยู่ที่ 7.21 คะแนน อันดับที่ 3 คือสุขภาพกาย อยู่ที่ 6.94 คะแนน อันดับที่ 4 คือ บรรยากาศภายในชุมชนอยู่ที่ 6.56 คะแนน และอันดับที่ 5 ได้แก่ วัฒนธรรมประเพณี ความมีน้ำใจให้แก่กัน ความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์