จาตุรนต์ ชี้ 3 ปี ผลงานรัฐบาลล้มเหลว! ยกเรือดำน้ำ ปิดกั้นการตรวจสอบ

จาตุรนต์ ชี้ 3 ปี ผลงานรัฐบาลล้มเหลว! ยกเรือดำน้ำ ปิดกั้นการตรวจสอบ


12 พฤษภาคม จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการทำงานรัฐบาล และคณะรักษาตวามสงบแห่งชาติ(คสช.) ครบรอบ 3 ปีว่า พอมาปีที่ 3 ทำให้เห็นปัญหาชัดเจนมากกว่า 2 ปีก่อน คือทำให้เห็นว่าในที่สุดแล้วการรัฐประหารนอกจากแก้ปัญหาประเทศไม่ได้แล้ว ยังจะทำให้ปัญหาต่างๆเลวร้ายมากกว่าเดิม ซึ่ง 3 ปีนี้มานี้ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน ในขณะที่ประเทศอื่นๆเขาเติบโตเร็วกว่าเรามาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจ ต้องอาศัยธุรกิจขนาดใหญ่กับการท่องเที่ยว แต่ภาคเกษตรกรและธุรกิจรายเล็กรายน้อยต้องล้มลงไป ยิ่งทำให้ช่องว่างของรายได้มากยิ่งขึ้น สำคัญนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่มีความเชื่อมั่น เนื่องจากประเทศความไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีความแน่นอน ไม่ชัดเจนว่าคืนสู่ประชาธิปไตย และการมีเสถียรภาพได้เมื่อไหร่ ส่วนการปฏิรูปที่หลายฝ่ายทวงถามมาตลอด ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและฝ่ายที่คอยติดตามดูคสช.จะทำอย่างไร หรือคอยวิพากษ์วิจารณ์คสช. มีการทวงถามว่าที่จะปฏิรูปจะทำอย่างไร และมีอะไรเป็นตัวอย่างบ้าง ครบ 3 ปีนี้ยังไม่ปรากฎการปฏิรูปที่เป็นแก่นสารอะไรเลย

"เรื่องใหญ่ที่อ้างเรื่องการปฏิรูปมีความเห็นที่แตกต่าง ขัดแย้งไม่ลงตัว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่การปฏิรูป และยิ่งเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องพลังงานทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องอื่นๆคณะต่างๆของแม่น้ำ 5 สายกำลังสนุกเพลินทำในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าปฏิรูป แต่จริงๆแล้วกำลังสะสมปัญหา ทำให้เกิดความล้าหลัง ความขัดแย้ง แตกแยกทางความคิดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจะทำทั้งแผนปฏิรูประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ขาดการมีส่วนร่วม นอกจากนั้น คสช.และรัฐบาล ได้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ถนัดเรื่องการมองภาพรวมหรือการปฏิรูปอย่างเป็นระบบในเรื่องต่างๆ แต่มักให้ความสนใจในเรื่องปลีกย่อย ทำงานเป็นชิ้นๆ เช่น จะแก้ปัญหารถกระบะ แต่ไม่ได้มองภาพรวมอุบัติเหตุทั้งระบบ เรื่องที่ดูเหมือนจะคืบหน้า แต่จริงๆได้ซ้อนปัญหามาก


ทั้งนี้อีกเรื่องที่คสช.มักอวดอ้างเป็นสาเหตุต้องเข้ามาแก้ปัญหา และเป็นผลงานชิ้นสำคัญคือ การปรองดอง ถ้าติดตามกระบวนการปรองดองที่คสช.และรัฐบาลทำอยู่ จะพบว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเลย เนื่องจากกระบวนการปรองดองที่ทำนี้ ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการเชิญผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เป็นกลาง ไม่มีคณะกรรมการที่เป็นอิสระ และมีข้อสรุปของตนเองล่วงหน้ามาก่อนแล้ว โดยโยนความผิดไปให้ฝ่ายการเมืองเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่พูดถึงต้นเหตุปัญหาที่แท้จริง แนวโน้มนอกจากไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งไปจากสังคม คสช.กำลังสะสมปัญหาต่างๆคือทำในเรื่องที่คนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก สะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ"
นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ข้ออ้างที่สำคัญในการรัฐประหารทุกครั้ง รวมถึงครั้งนี้ด้วยคือเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนจำนวนไม่น้อยฝากความหวัง และอาจมีความรู้สึกว่า คสช.เอาจริงเอาจัง แต่ตรงกันข้ามคสช.เข้ามาแทรกแซงระบบในการการป้องกันปราบปรามคอร์รัปชัน จนทำให้องค์กรต่างๆที่มีหน้าที่ไม่มีความเป็นอิสระ และคสช.เข้ามาทำแทน ก้าวก่ายเต็มไปหมด สังคมไทยไม่สามารถรู้ได้ว่าทำอะไรไปถึงไหน เพราะไม่มีการเปิดเผย ได้แต่ดูจากจัดอันดับของต่างประเทศ ที่ดูจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในปีที่ 3 เห็นปัญหาชัดกว่าปีก่อนๆ มีการผสมผสานกันระหว่างการทุจริตคอร์รัปชันที่ตรวจสอบไม่ได้ กับการมีนโยบายใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐที่สูญเปล่า โดยไม่คำนึงถึงความสามารถทางการคลังและความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงปัญหาในหลายมิติพร้อมๆกัน คือการซื้อเรือดำน้ำ เป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายที่ไม่สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันดำเนินการไปโดยไม่มีความโปร่งใสชัดเจน บอกว่ามีการประกวดราคา ต่อมาเป็นการดำเนินการรัฐต่อรัฐ และมีการรวบรัดทำสัญญา ที่สำคัญเมื่อมีคนเรียกร้องให้ตรวจสอบ กลับถูกคุกคาม เท่ากับเป็นการทำลายระบบการตรวจสอบการคอร์รัปชันอย่างชัดเจนที่สุด ความจริงเป็นเรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเคยเกิดเรื่องทำนองนี้มาก่อนแล้ว แต่สังคมอาจจะเห็นปัญหาไม่ชัด เท่ากับเรื่องเรือดำน้ำ

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า โดยรวมแล้วเมื่อครบปีที่ 3 ปัญหา ความล้มเหลวในเรื่องต่างๆจะชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการสะสมปัญหาไปข้างหน้าอย่างน่าวิตกว่า ในวันข้างหน้านอกจากประเทศล้าหลัง ประชาชนเดือดร้อนแล้ว ความขัดแย้งต่างๆจะมากขึ้น ความไม่มีเสถียรภาพก็กลับมาอีก เมื่อถามว่า ถือว่าการแก้ปัญหาทุจริตถือว่าล้มเหลว นายจาตุรนต์ ตอบว่า เมื่อระบบการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันถูกทำลายมาเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งองค์การโดยคสช.และรัฐบาล ทำให้องค์กรอิสระทั้งหลายสูญเสียความเป็นอิสระไปหมดแล้ว การดำเนินการต่างๆ เหมือนแก้ปัญหาทุจริต แต่กลับสร้างปัญหาทุจริตด้วยตัวมันเอง อย่างการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่มีหลักเกณฑ์ ลงโทษคนไม่เปิดโอกาสให้สืบสวนหรือชี้แจง โดยมาในช่วงหลังปัญหาใหญ่อยู่ที่การไปหาทางป้องกัน สกัดกั้นการตรวจสอบ ซึ่งตรงข้ามกับส่ิงที่ควรจะทำ ถือเป็นอันตราย ผู้มีอำนาจอาจคิดว่าใกล้จะหมดอำนาจ ถึงแม้จะเหลือเวลาอีก 1-2 ปี แต่อาจคิดว่าเป็นช่วงเวลาทิ้งทวน ทั้งที่ต้องยิ่งตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส แต่กลับมีแนวโน้มจะเล่นงานคนที่ถูกสอบเพื่อไม่ให้มีการตรวสอบ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ความเสียหายจาการทุจริตอาจจะมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมาก็ได้


Cr.matichon

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์