จับโกหก´ขิงแก่ ´เข็นกม.ขายชาตินิรโทษแปรรูปฯ

จับโกหกกฎหมายขายชาติ "รสนา" แฉร่าง พ.ร.บ.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ

เปิดช่องนิรโทษกรรม ปตท.-อสมท แถมกัน ปตท.ไม่ให้กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ยันหลังศาลปกครองเพิกถอนการแปรรูป กฟผ.จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นใดไม่ได้ "ศิริชัย" เตรียมหารือสหภาพเคลื่อนไหวต้านทันที

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550 น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค


หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติการกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พ.ศ....เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า ยังมีข้อสงสัยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

เพราะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นใดจะทำไม่ได้หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน พ.ร.ฎ.การแปรรูป กฟผ.แล้ว

เพราะคำสั่งดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานว่า ในอนาคตจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดๆ ไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า การแปรรูปจะเอาสมบัติส่วนรวมที่เป็นสมบัติสาธารณะไปแปรรูปย่อมไม่ได้ โดยคำสั่งศาลได้มีผลบังคับไว้แล้วว่าอำนาจมหาชนก็ไม่สามารถโอนให้เอกชนเอาไปใช้ได้

"ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงไม่มีความจำเป็นเลย เนื่องจากไม่มีผลอะไรมากในทางปฏิบัติ เพราะการจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นใด ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 ที่จะเป็นการผูกขาดหมดสภาพไปแล้ว ไม่สามารถแปรรูปได้อีกต่อไป แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้อาจจะถูกมองไปได้ว่า มีวาระซ่อนเร้น เพราะอาจจะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับรัฐวิสาหกิจที่ได้แปรรูปไปก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นก็จะใช้กับการแปรรูปในอนาคตเท่านั้น

แต่สิ่งที่ได้แปรรูปไปก่อนหน้านี้ เช่น ปตท. ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขในกฎหมายฉบับนี้ จะถือได้เป็นการนิรโทษกรรมรัฐวิสาหกิจที่เคยแปรรูปไปก่อนหน้านี้" น.ส.รสนากล่าว




กรรมการสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวว่า


ในฐานะที่ตนเป็นผู้หนึ่งที่ในผู้ฟ้องคดีเพื่อนำ ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์เห็นว่า ครม.ชุดนี้ได้ร่วมมือกับ ปตท.ในการต่อสู้เพื่อที่จะไม่ให้ ปตท.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออกกฎหมายแก้ไข พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจและสิทธิประโยชน์ของ ปตท. ซึ่ง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวได้กำหนดให้ ปตท.สามารถใช้อำนาจมหาชนได้ สามารถรับประโยชน์สาธารณะสมบัติต่างๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์ได้ ทำให้ ปตท.มีอำนาจเหนือกว่าเอกชนรายอื่น

"การออก พ.ร.บ.ฉบับทีดีอาร์ไอฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการแก้เกมตามที่ถูกฟ้อง ปตท.ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งภายหลังที่เราได้ฟ้องร้อง




ปตท.ก็ยอมคืนทรัพย์สินบางอย่าง แต่ไม่ยอมคืนท่อก๊าซ
ตรงกันข้ามกับตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อใช้อำนาจแทน ปตท.ในลักษณะเป็นที่พักอำนาจหรือเป็นนอมินีให้ ปตท. จากที่มีข้อมูล กรรมการชุดนี้ไม่มีรากฐานทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย" น.ส.รสนากล่าว

ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นกฎหมายกลางสำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างครบวงจร โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และกำหนดขั้นตอนในการกระจายหุ้นของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากการแปลงสภาพต่อประชาชนหรือบุคคลใดๆ


สำหรับแปรรูปตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะประกอบด้วยกระบวนการสำคัญ 2 ส่วน


คือ กระบวนการแปลงสภาพและกระบวนการกระจายหุ้น ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนแรก คณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนที่สอง คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท จะแต่งตั้งโดย ครม.ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนที่สาม คณะกรรมการกระจายหุ้น จะแต่งตั้งโดย ครม.ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม ทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่สามารถชี้แจงถึงหลักประกันที่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการกระจายหุ้นและการผูกขาดได้

ด้านนายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า การออกกฎหมายของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีคณะกรรมการหลายชั้น มีการกลั่นกรองหลายชั้น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถปิดช่องนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้

"ดังนั้นในเร็วๆ นี้ ผมจึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร คาดว่าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะไปตั้งเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่หน้ารัฐสภาต่อไป" นายศิริชัยกล่าว.




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์