จับตาบิ๊กเสือใช้หมัดฮุคโป้งปิดบัญชีภาค2 หลังเคยสอยวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำเสื้อแดงร่วงเมื่อ 21ปีก่อน


การที่ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี อดีตนักมวยยอดเเยี่ยม โรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ สหรัฐอเมริกา ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า มีพฤติกรรมที่ไม่บังควรหลายประการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการล่วงล้ำพระราชอำนาจ เช่น  เมื่อพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และโทรศัพท์มาพูดออกผ่านทีวี ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โทรศัพท์มากระซิบข้างหูก็จะกลับมา ท่านเป็นเพื่อนเล่นของเขาหรือ  เป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเมื่อ 21 ปีก่อน พล.อ.พิจิตร ขณะที่มียศเป็น พล.ท.ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 1 ได้อกมาเคลื่อนไหวในนามสมาชิกวุฒิสภาสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในเรื่องทำนองเดียวกัน คดีที่ นายวีระ มุสิกพงศ์ ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ จนนายวีระต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ปัจจุบันนายวีระ มารับบท "สามเกลอ" แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติหรือกลุ่มเสื้อแดงที่เป็นกลไกสำคัญให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณในการเคลื่อนพลยึดอำนาจรัฐและโจมตี พล.อ.เปรม และองคมนตรีใกล้ชิดบางคน

จึงน่าจะมาย้อนรอยดูว่า บทบาทของ พล.อ.พิจิตรในขณะนั้น เป็นอย่างไร ซึ่งตัดตอนมาจากคำพิพากษาศาลฎีกา(ที่  2354/2531) มีสาระสำคัญดังนี้

หลังจากจำเลย(นายวีระ)กล่าวคำปราศรัยแล้วทั้งสองแห่ง ไม่มีประชาชนไปแจ้งความเรื่องที่จำเลยกล่าวปราศรัย

ต่อมา นายเชิดชัย เพชรพันธ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรคสหประชาธิปไตย เขตกรุงเทพมหานคร ได้ไปแจ้งความนายศิว์ณัฎฐพงศ์พยานโจทก์เป็นผู้แทนของพรรคสหประชาธิปไตยและนายจรูญ นิ่มนวล เป็นหัวคะแนนของพรรคสหประชาธิปไตยซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

การที่นายเชิดชัยไปแจ้งความก็เพื่อหวังผลทางการเมืองและเพื่อทำลายคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ หลังการเลือกตั้งจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ต่อมาได้มีการปลุกระดมกลุ่มมวลชนต่าง ๆ โดยเริ่มจากพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายทหารทำการปลุกระดมในกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ท.ส.ป.ช. และกลุ่มกระทิงแดงเพื่อเร่งรัดให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แรกเริ่มเกิดเรื่องนี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปให้กรมตำรวจพิจารณาก่อนแล้ว

แต่พนักงานสอบสวนเบื้องต้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เห็นว่าไม่มีความผิด ไม่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงส่งเรื่องให้กรมตำรวจ

ทางกรมตำรวจได้ให้ พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องกฎหมายในสถานการณ์เลือกตั้งพิจารณา
 
พลตำรวจตรีสุภาส จีรพันธ์ ได้ประชุมพิจารณาและทำความเห็นไปยังอธิบดีกรมตำรวจว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบของมาตรา 112 จึงให้ระงับเรื่อง

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนเริ่มลุกฮือเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่า จะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ในที่สุดกรมตำรวจได้สั่งการให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยให้ถือว่า คดีพอมีมูลที่จะฟ้องร้องได้ ทั้งนี้จริง ๆ แล้วเพื่อแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองเมื่อมีความกดดันดังกล่าวจำเลยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออกโดยไม่มีใครบังคับ เพื่อเจตนาที่จะแก้ปัญหาความกดดันทางการเมืองและปกป้องรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย

ที่จำเลยกล่าวขอขมาในห้องรับรองของรัฐสภาต่อพระบรมสาทิสลักษณ์นั้น จำเลยไม่ได้ยอมรับผิด

เหตุที่จำเลยไปขอขมาเนื่องจาก พล.ท.วัฒนชัย วุฒิศิริ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยเพื่อแก้ปัญหา โดยให้จำเลยไปพบ พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้น

จำเลยก็ได้ไปพบตามที่นัดหมาย และได้พูดคุยทำความเข้าใจจนชัดแจ้งว่า จำเลยมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ได้มีเจตนาอย่างที่ฝ่ายค้านหรือทางทหารเข้าใจ พลท.พิจิตร กุลละวณิชย์ ก็เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างและจะเลิกรากันไป

แต่มีปัญหาว่า ญัตติที่ พล.ท.พิจิตร  ยื่นไว้ต่อวุฒิสภากล่าวหาว่า จำเลยละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถ้าจะถอนญัตติจะอธิบายแก่ประชาชนอย่างไร เพราะประชาชนอาจมองไปในแง่ไม่ดี

จำเลยบอกว่า จะให้ทำอย่างไรก็ยินดี พล.ท.พิจิตรจึงเชิญสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเจ้าของญัตติมาพบพร้อมกันที่สภา ขอให้จำเลยกล่าวคำขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์

จำเลยจึงกล่าวขอขมาเพื่อให้ผู้ยื่นญัตติทุกคนสบายใจ และเพื่อให้กลุ่มมวลชนที่กำลังลุกฮือสลายตัวไป ทั้งนี้โดยการแสดงออกถึงความจริงใจของจำเลยในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนคำกล่าวของจำเลยตอนหนึ่งที่ว่า จะผิดหรือไม่ผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในประเด็นข้อกฎหมายจะไม่พูดถึง เพราะจำเลยเห็นว่าเป็นเรื่องของศาลและถ้าเห็นว่า เป็นเรื่องระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทจำเลยก็พร้อมที่จะขอพระราชทานอภัย

สำหรับคำกล่าวขอพระราชทานอภัยนั้น กองทัพภาคที่ 1 ได้จัดพิมพ์แล้วใส่ซองมาให้จำเลยกล่าว ไม่ใช่เป็นการรับสารภาพ เพราะจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงจึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำดังกล่าวของจำเลยจะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวนั้นก็ตาม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จะถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเองมิได้ ต้องพิจารณาจากข้อความที่จำเลยกล่าวทั้งหมด

การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่า ไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง

การที่จำเลยเป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน หลังจากเกิดเหตุแล้วยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลของพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปรานีลดโทษให้จำเลย

อ่านบทบาท พล.อ.พิจิตร เมื่อ 21 ปีก่อน จึงทำให้น่าลุ้นว่า หมัดของอดีตนักมวยยอดเยี่ยมในปัจจุบันยังมีน้ำหนักพอที่จะปิดบัญชีได้อีกหรือไม่?

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์