จับตาจังหวะก้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างภูมิคุ้มกันหรือขัดแย้งรอบใหม่

จับตาจังหวะก้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์สร้างภูมิคุ้มกันหรือขัดแย้งรอบใหม่


ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นมีผลกระทบต่อการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ “ผู้ชนะ”และพรรคเพื่อไทยในฐานะ “ผู้แพ้”

ผลชนะ-แพ้ จะนำมาซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองต่อจากนี้ไปไม่มากก็น้อย กล่าวคือ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะ “ผู้ชนะ” สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯยังให้ “ความไว้วางใจ” และให้ “โอกาส” ในการทำงานการเมืองต่อไป ขณะที่พรรคเพื่อไทยในฐานะ “ผู้แพ้” อธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นชัยชนะบนความพ่ายแพ้โดยหยิบคะแนนนิยมที่ผู้สมัครของพรรคได้รับ 1 ล้านกว่าคะแนนมาเป็น “ตัวประกัน”

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หากเปรียบไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับ “ฉากหนึ่ง” ในการเมือง “ฉากใหญ่”

“ฉากใหญ่” ที่พรรคเพื่อไทยยังทำหน้าที่รัฐบาล บริหารราชการแผ่นดินต่อไป ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่ “ฝ่ายค้าน” ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

คงเพราะปรากฏการณ์ “ล้านคะแนนชนล้านคะแนน” นี่แหละถึงทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเคลื่อนไหวต่อทันทีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 2 เรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่งคือ การนิรโทษกรรม กับอีกเรื่องคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องใช้เวลากับโอกาสที่เหมาะสม แต่กับการนิรโทษกรรมซึ่งได้ถูก “ปูทาง” มาก่อนหน้านี้เป็นระยะ ๆ จากฝ่ายต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และดำเนินไปควบคู่กับคำว่า “ปรองดอง” ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมอยากให้เกิดขึ้น

ดูความเคลื่อนไหวทั้งในส่วนของ นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เชิญผู้เกี่ยวข้อง 8-10 ฝ่ายมาหารือในวันที่ 11 มี.ค.ที่จะถึงนี้ พร้อม ๆ กับความเคลื่อนไหวของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำนปช.ที่รวบรวมรายชื่อส.ส.ยื่นเรื่องให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทยในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วน่าจะประเมินได้ว่า พรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นมืออีกครั้งที่จะใช้กลไก “รัฐสภา” ผลักดันให้เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังสะดุดมาก่อนหน้านี้ที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการสร้างความปรองดองเข้าสู่สภาถึง 4 ฉบับมาแล้วก่อนหน้านี้

ในระบอบรัฐสภา “เสียงข้างมาก” ซึ่งวันนี้คือพรรคเพื่อไทย อยู่ในฐานะที่ “ได้เปรียบ” แต่ “หัวใจ” สำคัญของการนิรโทษกรรมอยู่ตรงที่สังคมต้องมี “ความเห็นพ้อง” ถ้าตราบใดที่สังคมยังมี “ความเห็นต่าง” แม้จะมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้นก็ตาม แต่ความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นตามมา

ประเด็นลึก ๆ ที่คนเมืองหลวงออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.กันมากกว่าที่กกต.ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก “ความกลัว” ที่คนกทม.ส่วนใหญ่มองว่า หากปล่อยให้ฝ่ายหนึ่ง “กินรวบ” จะส่งผลเสียหายต่อการเมือง จึงต้องเลือกเพื่อให้ฝ่ายตรวจสอบเข้มแข็งเพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้

หากรัฐบาล “จับอารมณ์” ตรงนี้ได้ รัฐบาลต้องใช้ความได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาลเดินหน้าสร้างผลงานเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา มากกว่าที่จะเดินหน้าทางการเมืองอย่างไม่ลดละ

มีหลายต่อหลายเรื่อง หลายต่อหลายสถานการณ์ ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรีบเดินหน้าเพื่อเรียกความเชื่อมั่นทางการเมืองกลับมาโดยเร็ว

ฉะนั้นการเร่งทำนโยบายจึงเป็น “งานหลัก” ที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องทำให้เกิดขึ้นเป็น “รูปธรรม” กว่าที่ผ่านมา

หลายต่อหลายเรื่องที่ว่านั้น เช่น การกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาระบบ “น้ำ” ของประเทศ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อวางระบบพื้นฐานของประเทศ การเดินหน้านโยบาย “รับจำนำข้าว” ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่ากำลังจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับงบประมาณของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลกำลังใช้วิธีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา การต่อสู้ในศาลโลกกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจะมีการ “ขึ้นศาล” กันในช่วงเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ หรือปัญหาด้านพลังงานซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของชาติ

จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาหลังเกิดการสะดุดใน 2 ปัญหาซึ่งเป็น “เงื่อนไข” ของความวุ่นวายทางการเมืองอย่างการนิรโทษกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่อง “การเมือง” ทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเวลาในการทำ “บ้านเมือง” มากขึ้น

ในทางการเมือง “ผลงาน” ของรัฐบาลนั้นถือเป็น “ภูมิคุ้มกัน” และ “ใบรับประกัน” ความนิยมทางการเมืองได้เป็นอย่างดี อย่าลืมว่าพรรคเพื่อไทยมาได้วันนี้เพราะมีนโยบายโดนใจ ทำได้จริงและยั่งยืน ไม่ใช่มาเพราะผู้คนส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดในทางการเมือง

แต่หากพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะเดินหน้าทางการเมืองในสถานการณที่สังคมอยากให้ทำงาน จึงไม่เป็นผลดีและจะกลายเป็นการไม่ยอมรับ ร้ายไปกว่านั้นอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง “รอบใหม่” ซึ่งสุดท้ายพรรคเพื่อไทยนั่นแหละจะกลายเป็น “จำเลย” ไปซะเอง

4 ปีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งบัดนี้เดินมาได้ปีกว่า ยังเหลือเวลาอีก 2 ปีกว่าซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ไม่นานเลยสำหรับการเมืองไทย

กลับมาเล่นบท ’รัฐบาล“ จริง ๆ จัง ๆ ได้แล้ว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์