ค่าโง่โฮปเวลล์-รถดับเพลิง ชั่วซ้ำซากของนักการเมืองขี้ฉ้อ..โดยประสงค์ วิสุทธิ์


เหลือแต่เสาคอนกรีตโด่เด่เรียงรายริมถนนวิภาวดีรังสิตจากดอนเมืองถึงบางซื่อเป็น"อนุเสาวรีย์แห่งความอัปยศ"ประจานประเทศไทยว่าเต็มไปด้วยนักการเมือง ข้าราชการขี้ฉ้อ รวมถึงประชาชนคนไทยที่เลือกนักการเมืองเหล่านี้บริหารประเทศ


ทั้งๆที่เป็นเรื่องสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล แต่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับข่าวอื่นๆในช่วงนี้


เรื่องที่ว่า คือข่าวที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ต้องจ่ายเงินและคืนเงินให้แก่บริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย)จำกัดเป็นเงินรวมประมาณ 12,388 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีการยกเลิกสัญญาสัมปทานในการประกอบกิจการเดินรถไฟชุมชนและระบบการขนส่งทางถนน หรือที่รู้กันดีในชื่อ"โครงการรถไฟยกระดับโฮปเวลล์"ซึ่งอื้อฉาวมาตั้งแต่ริเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 สมัย นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ


เพราะโครงการมีมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท แต่มีการนำเสนอด้วยกระดาษเพียงไม่กี่แผ่น นอกจากนั้นในวันลงนามในสัญญายังเป็นวันเกิดของนายมนตรี นัยว่า เป็นของขวัญวันเกิดไปในตัวด้วย
 

โครงการดังกล่าวป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.)ใช้เป็นข้ออ้าง (รัฐบาลมีการคอรัปชั่นมาก)ในการยึดอำนาจจากพล.อ.ชาติชายด้วย



แม้โครงการก่อสร้างจะดำเนินการต่อมา ก็เป็นไปอย่างล่าช้า ว่ากันว่า การเปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่ละครั้ง นายกอร์ดอน วู เจ้าของโฮปเวลล์ ต้องควักกระเป๋าจ่ายผู้มีอำนาจทุกครั้ง จนผู้คนเรียกชื่อโครงการว่า "โฮปเลส"ในที่สุดโครงการก็หยุดชะงัก


เหลือแต่เสาคอนกรีตโด่เด่เรียงรายริมถนนวิภาวดีรังสิตจากดอนเมืองถึงบางซื่อเป็น"อนุเสาวรีย์แห่งความอัปยศ"ประจานประเทศไทยว่าเต็มไปด้วยนักการเมือง ข้าราชการขี้ฉ้อ รวมถึงประชาชนคนไทยที่เลือกนักการเมืองเหล่านี้บริหารประเทศ


นักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในโครงการนี้ยังคงมีอำนาจวาสนาอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก



ในต้นปี 2541 กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์โดยอ้างว่า การก่อสร้างล่าช้ามากไม่เป็นไปตามสัญญา โฮปเวลล์จึงนำข้อพิพาทดังกล่าวฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2547 เรียกร้องให้ชดใช้ค่าสัมปทานที่บริษัทจ่ายให้ รฟท.2,850 ล้านบาท ค่าก่อสร้างที่โฮปเวลล์ลงทุนไป 14,799 ล้านบาท(คณะอนุญาโตฯให้จ่าย 9,000 ล้านบาท)  หนังสือค้ำประกันโครงการ 500 ล้านบาท  ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน 38.7 ล้านบาท


ผลการวินิจฉัยคือ กระทรวงคมนาคมและ รฟท.บอกเลิกสัญญาไม่เป็นไปตามขั้นตอนของสัญญา ทำให้ต้องคืนสู่สถานะเดิม ต้องชดใช้เงินคืนให้แก่โฮปเวลล์ประมาณ 12,388 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5


หนทางต่อสู้ของกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ที่พอจะมีโอกาสบ้างคือ นำข้อพิพาทยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้ชี้ขาดว่า คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตฯไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสิ่งที่จักต้องพิสูจน์คือ มีกระบวนการฉ้อฉลเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการดังกล่าวแต่ต้นโดยดูแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาทเป็นตัวอย่าง


แต่อย่าหวังอะไรมากเพราะ รฟท.เองนั้นถือเป็นแดนสนธยา อยู่ในสภาพล้มละลาย มีหนี้สินอยู่ประมาณ 45,000 ล้านบาท เมื่อรวมภาระหนี้ที่อาจต้องจ่ายจากคดีนี้อีกกว่า 12,000 ล้านบาท รวมแล้ว มีหนี้สินกว่า 57,000 ล้านบาท



นอกจากกรณีของโฮปเวลล์แล้ว ทางการไทยยังมีกรณีทำสัญญาเสียเปรียบและส่อทุจริตจนเกิดค่าโง่ซ้ำซาก เช่น ค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่ไอทีวี ค่าโง่หวยออนไลน์(เอกชนขู่ว่าจะฟ้องสำนักงานสลากกินแบ่งผิดสัญญา)
 

ล่าสุดคือ ค่าโง่รถดับเพลิงและเรือดับเพลิง กทม.มูลค่า 6,600 ล้านบาทที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เพิ่งมีมติเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คน มีความผิดทั้งทางอาญาและวินัยแตกต่างกัน


แต่การดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหายังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาค่าโง่ที่เกิดขึ้นและอาจจะเกิดขึ้นกว่า 5,712 ล้านบาทจาก


1.การจ่ายเงินให้บริษัทผู้ผลิตไปแล้ว 3 งวดเป็นเงิน  2,354  ล้านบาท


2.
ค่าภาษีอากรนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังไม่ได้ชำระประมาณ  1,300  ล้านบาท 


3.ค่าสินค้าที่มีการจัดซื้อแพงทั้งโครงการประมาณ  1,958.6  ล้านบาท 


4.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าหน้าท่าของสินค้างวดที่  2  เบี้ยปรับเงินเพิ่มอีกประมาณ 100 ล้านบาท  เมื่อมีการรับมอบสินค้า 


จากเอกสารแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ระบุชัดว่า เริ่มมีการฮั้วกันตั้งแต่เริ่มเพื่อให้บริษัทสไตเออร์ฯได้งานแบบไม่ผ่านการประมูล โดยใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใด ตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มโครงการ  การเสนอและการอนุมัติโครงการ  โดยเฉพาะการทำข้อตกลงความเข้าใจ A.O.U. ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรีย มีการแบ่งหน้าที่กันทำทั้งการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน ฯลฯ


"ค่าโง่"
เหล่านี้เป็นผลงานความชั่วของนักการเมืองขี้ฉ้ออย่างมิต้องสงสัย แต่คำถามคือ ประชาชนต้องรับผลกรรมจาก"ค่าโง่"ซ้ำซากไปอีกนานเท่าไหร่

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์