คำให้การพยานปากเอก ย้อนรอยปมเงิน258ล. หอกโมกขศักดิ์ปักอกปชป.

"พรรคประชาธิปัตย์" เริ่มร้อนๆ หนาวๆ อีกครั้งกับปมร้อนสำนวนที่อยู่ในการพิจารณาของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เวลานี้ กับเงิน 2 ก้อนที่เกี่ยวพันถึงขั้นยุบพรรค

กับปมเงินบริจาค 258 ล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหาว่า
ได้รับจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ไปใช้ในการเลือกตั้งปี 2548

และเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจาก "กกต." ในปี 2548 จำนวน 29 ล้านบาท ไปใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์

ทั้งนี้ สำนวนดังกล่าวเป็นการส่งไม้ต่อจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มายัง กกต. เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550

รวมทั้ง พรรคเพื่อไทย ยังส่งหลักฐานที่เพิ่มน้ำหนักมัดพรรคประชาธิปัตย์มายัง กกต. ในกรณีเดียวกัน หลังเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคมที่ผ่านมา

หากผลสุดท้าย กกต. ตรวจสอบพบว่า "พรรคประชาธิปัตย์" ปกปิดซ่อนเร้นไม่แจ้งงบดุลการเงินที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

จะส่งผลให้ พรรคประชาธิปัตย์ กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 93 และ 94 ซึ่งต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ

ย้อนรอยดูปัญหาดังกล่าว พบว่า

ช่วงศึกซักฟอกที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ในฐานะประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นคนนำข้อมูลดังกล่าวออกมาเปิดเผย

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวหาว่า
 
มีขบวนการเอาเงินจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านไปยังบริษัท เมซไซอะฯ ที่มี "ประจวบ สังข์ขาว" เป็นผู้บริหาร เพื่อนำไปให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั่วไป 6 กุมภาพันธ์ 2548

ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่า โดยมีการจ่ายเช็ค 27 ฉบับ เข้าธนาคาร 75 ครั้ง ใช้เวลาทั้งหมด 84 วัน มูลค่า 258 ล้านบาท

พร้อมกล่าวหาบุคคลอย่างน้อย 3 คน ในพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวพัน ประกอบด้วย "ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้น, นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน และ ประพร เอกอุรุ ส.ส.สงขลา

มี "ธงชัย คลศรีชัย" น้องชาย "ประดิษฐ์" เป็นคนกำกับฉาก กำหนดบทบาท ขณะที่ "ประจวบ" เป็นลูกมือ

มีการเปิดโปงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า

เงินจำนวน 258 ล้านดังกล่าว ถูกยักย้ายถ่ายเทออกจากบริษัทในตลาดหุ้น ผ่านไปยังบริษัทเมซไซอะฯ โดยระบุเป็นการจ้างทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่จากฝีมือการสืบสวนของนายตำรวจเก่าอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม ที่ไปได้สลิปการจ่ายเงินออกจากบริษัทเมซไซอะฯหรือ "ประจวบ" ไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ 4 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มนายประจวบและญาติพี่น้อง 2.กลุ่มนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ 3.กลุ่มนายนิพนธ์ บุญญามณี และ 4.นายประพร เอกอุรุ

ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจน

ส่วนเงิน 29 ล้านบาทที่ได้รับจากกองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองของ กกต.นั้น ร.ต.อ.เฉลิมชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธีเดิมกับที่ทำกับบริษัททีพีไอฯ และเรียกนายประจวบไปพบพร้อมมอบงานโฆษณา แต่ไม่ได้ว่าจ้างทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพียงแต่ทำ "ป้ายลม" และขอให้ออกใบเสร็จรับรองให้เท่านั้น

ที่สำคัญมีลายเซ็นของหัวหน้าพรรคที่ชื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เซ็นรับรองงบดุลที่เสนอต่อ กกต. เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2548

เหล่านี้คือ เหตุผลที่ ร.ต.อ.เฉลิมถึงกับประกาศลั่นกลางที่ประชุมสภาว่า นี่คือการทำ "สัญญาแบบนิติกรรมอำพราง" ไม่แจ้งรายรับ ปกปิด ชี้แจงงบดุลอันเป็นเท็จต่อ กกต.

ปรากฏการณ์ที่เด็ดกว่านั้นคือ ร.ต.อ.เฉลิมกุมเอกสาร หลักฐาน และ "ความลับ" ทั้งหมดเอาไว้ในมือ

โดยเฉพาะชายชื่อ "ประจวบ สังข์ขาว" ที่ถือเป็น "กุญแจสำคัญ" ของคดีดังกล่าว

ตรวจสอบพบว่า "ประจวบ" เคยเข้าให้การกับดีเอสไอแล้ว 5 ครั้ง

ครั้งแรก 30 กันยายน 2551, 5 พฤศจิกายน 2551, 2 มีนาคม 2552, 14 กรกฎาคม 2552

ครั้งล่าสุด เมื่อ 17 กรกฏาคม 2552 ย่องเข้าให้ปากคำดีเอสไอเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนชื่อจาก "ประจวบ" เป็น "คณาปติ" เพราะกลัวอันตราย

จากนั้นไม่กี่วัน "ประจวบ" ปรากฏตัวพร้อมๆ กับการเดินทางมายังสำนักงาน กกต.ของ ร.ต.อ.เฉลิม เข้าให้การต่ออนุกรรมการไต่สวนของ กกต. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม

ว่ากันว่า เป็นการประสานงานของ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์

พล.ต.มนูญกฤตที่ก่อนหน้านี้ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างปัญหาสุขภาพ และเป็นคนคนเดียวกับที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคน "คุ้มกัน" ประจวบ สังข์ขาว เพื่อใช้เป็น "หมัดน็อค" พรรคประชาธิปัตย์

ว่ากันว่า การเข้าให้การของ "ประจวบ" ครั้งนี้ ยังคงยืนยันใน "ให้การเดิม" ดังที่เคยให้ไว้กับดีเอสไอ ไม่ผิดเพี้ยน

"ประจวบ" ยืนยันว่า ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์อาศัยบัญชีบริษัทเมซไซอะฯเพื่อเป็นการผ่านเงินเท่านั้น..และเช็คทุกฉบับที่เข้าสู่บัญชีบริษัท ผมจะเป็นผู้เบิก/ถอน/โอน เงินออกให้บุคคลต่างๆ ตามที่คนของพรรคประชาธิปัตย์กำหนด"

นี่คือคำพูดที่ "ประจวบ" ให้การต่อคณะอนุกรรมการของ กกต. และยืนยันในช่วงท้ายด้วยว่า "นี่เป็นการทำนิติกรรมอำพราง"

ถ้อยคำของ "ประจวบ" เป็นเหมือน "หอกโมกขศักดิ์" ที่ปักลงกลางอกพรรคประชาธิปัตย์

อยู่ที่ กกต.ว่าจะให้ "น้ำหนัก" ในคำให้การของ "ประจวบ" มากน้อยแค่ไหน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์