คำให้การทักษิณ สู้คดียุบพรรค ทรท.

คำให้การ"ทักษิณ" สู้คดียุบพรรคไทยรักไทย

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


หมายเหตุ - คำให้การของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรค เนื้อหา 2 ตอนแรก ได้แก่

การก่อตั้งและการบริหารพรรค เล่าถึงการจัดตั้ง พรรค ลำดับนโยบายพรรคที่แปรมาเป็นนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาล ย้ำถึงการทำงานถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และเหตุการณ์ก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎร 24 กุมภาพันธ์ 2549 เล่าถึงขบวนการล้มล้างรัฐบาลที่นำไปสู่การยุบสภา กำหนดวันเลือกตั้ง


กรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติคว่ำบาตร (Boycott)


การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 หลังจากมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้วนั้น ข้าฯได้รับทราบว่าได้มีข้อเสนอจากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีแถลงการณ์แสดงจุดยืนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549

โดยเสนอให้ข้าฯลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรี และให้นำคณะรัฐมนตรีกราบบังคมทูลขอพึ่งพระบารมีในฐานะพสกนิกรชาวไทยเพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 7 พร้อมทั้งให้ข้าฯดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ กกต.ที่มีอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งได้เสนอกำหนดแนวทางในการปฏิรูปทางการเมือง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำบุคคลที่เป็นกลางมาเป็นผู้ยกร่าง และเสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ มาทำสัตยาบันร่วมกัน

ข้าฯเห็นว่า การที่จะให้ข้าฯลาออก และขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ นอกจากไม่สามารถกระทำได้ตามมาตรา 7 แล้ว ยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 215 และเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทโดยไม่บังควร

หลังจากยุบสภา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอพบข้าฯที่บ้านพิษณุโลก เพื่อปรึกษาหารือ และหาทางแก้ปัญหาทางการเมือง โดยเสนอให้ข้าฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเชิญหัวหน้าพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน มาประชุมร่วมกันเพื่อทำสัตยาบัน

โดยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว โดยให้บุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข ซึ่งข้าฯได้บอกว่าเห็นด้วยในหลักการ แต่ต้องนำไปประชุมหารือภายในคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน ข้าฯมิได้ตกลงเรื่องอื่นใด นอกเหนือไปจากที่กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้ตกลงว่าจะเชิญหัวหน้าพรรคทั้ง 3 พรรคไปประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 08.30 น. ตามที่นายสุเทพกล่าวอ้าง



ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 ข้าฯ ได้เชิญพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมหารือที่อาคารวุฒิสภา ครั้นวันนัด หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน หรือผู้แทน ไม่ได้มาร่วมประชุมแต่อย่างใด ข้าฯได้เสนอให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่มาประชุมทำสัตยาบันว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปจะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง เมื่อลงสัตยาบันแล้วก็ออกไปขึ้นรถ

ข้าฯไม่เคยพูดเลยในวันนั้นหรือในวันใดว่าจะสนับสนุนเงินหรือให้การสนับสนุนใดๆ แก่พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง แต่เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองอื่นย่อมเห็นโอกาสที่ผู้สมัครของตนจะได้รับเลือกตั้งมากขึ้น และพยายามที่จะส่งผู้สมัครลงแข่งขันกับพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 อยู่แล้ว นอกจากนี้ ในวันดังกล่าวหากข้าฯพูดเรื่องการสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น สื่อก็ต้องลงข่าวครึกโครม แต่ก็ไม่มีสื่อใดเสนอข่าวนั้นเลย ส่วนที่นางฐัติมา ภาวะลี อ้างในบันทึกถ้อยคำที่ทำที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า หลังการประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองที่ห้อง 309 แล้ว

ข้าฯได้ขอให้หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ไปประชุมลับกันนั้น ข้าฯขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา รัฐมนตรีบางคน เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวิษณุ เครืองาม และนายพินิจ จารุสมบัติ เสนอว่าจะลองหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในเรื่องนี้ เท่าที่ข้าฯทราบ ทั้งสามคนได้ติดต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าหากคิดว่าวันเลือกตั้งกระชั้นไปก็จะหาทางเลื่อนวันเลือกตั้ง และได้ทราบว่ามีการเสนอมาจากทางพรรคร่วมฝ่ายค้านขอให้ออก พ.ร.ฎ.ยกเลิก พ.ร.ฎ.ยุบสภา ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ทำไม่ได้

นอกจากนี้ข้าฯได้ทราบว่า ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้หัวหน้าพรรคการเมืองไปขอเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกัน แต่ข้าฯไม่เคยรับปากในเรื่องนี้


ขบวนการปรักปรำใส่ร้ายพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 และล้มการเลือกตั้ง


ข้าฯเชื่อว่าการเลือกตั้งต้องดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย และบริสุทธิ์ยุติธรรมตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยไม่ได้คำนึงถึงเงื่อนไขในกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้ง และเชื่อว่าจะมีผู้สมัครพรรคอื่นลงสมัครแข่งขันกับพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 ทุกเขต พรรคจึงไม่ได้ให้ความสำคัญในกรณีที่มีผู้สมัครของพรรคลงสมัครเพียงคนเดียวแต่ประการใด เมื่อพ้นกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งแล้วปรากฏว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรคไม่ได้ส่งผู้สมัคร

ข้าฯยังได้รับรายงานว่าได้มีขบวนการล้มการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยมีพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรคเป็นแกนนำ ทั้งนี้ โดยวิธีการไปปราศรัยตามจังหวัดสำคัญๆ ในลักษณะโจมตีข้าฯ และพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 และชี้นำให้ประชาชน "คว่ำบาตร" (Boycott) การเลือกตั้ง หรือชี้นำให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน การกระทำดังกล่าวพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 3 พรรค ได้กระทำไปโดยไม่เกรงกลัวว่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงที่มีประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง หลังจากนั้น ข้าฯได้รับทราบว่ามีการดำเนินการหลายรูปแบบเพื่อทำให้การเลือกตั้งไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ดังต่อไปนี้

1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้นำผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า จ.ตรัง จำนวน 3 คน มาแถลงต่อสื่อมวลชนว่าได้รับการว่าจ้างให้สมัครรับเลือกตั้ง โดยพยายามโยงข้อเท็จจริงว่าเกี่ยวข้องกับสมาชิกพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 บางคนเพื่อให้เข้าใจผิดว่าพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้ลงสมัคร ข้าฯได้สอบถามแล้วได้รับการชี้แจงว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง และต่อมาภายหลัง ก็ได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการว่าจ้างผู้สมัครที่ จ.ตรังดังกล่าว โดยมีสื่อมวลชนรายงานข่าวกันอย่างครึกโครม



2.เมื่อระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2549 นายสุเทพฯ และคณะ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตที่ไม่เป็นฐานเสียงของพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีการระบุข้อเท็จจริงพาดพิงถึงผู้บริหารของพรรคบางคนว่า เป็นผู้ดำเนินการว่าจ้าง

ข้าฯจึงได้เรียกผู้บริหารที่ปรากฏชื่อเกี่ยวข้องมาสอบถาม ก็ได้รับการยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงตามที่นายสุเทพฯแถลง และน่าเชื่อว่าเป็นขบวนการสร้างพยานหลักฐานเพื่อปรักปรำใส่ร้ายพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 โดยมีเจตนาเพื่อล้มการเลือกตั้ง เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจเป็นช่องทางให้ผู้ซึ่งไม่หวังดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉวยโอกาสใช้เป็นข้ออ้างกระทำการปฏิวัติรัฐประหารได้

3.นอกจากนั้น ข้าฯยังได้รับทราบขบวนการขัดขวาง และล้มการเลือกตั้งอีกหลายกรณี อาทิ อดีต ส.ส.สงขลา ของพรรคประชาธิปัตย์ ขัดขวางมิให้ผู้สมัครพรรคการเมืองอื่นเข้าไปสมัครรับเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารหลายคน ได้ร่วมกันจัดให้มีเวทีปราศรัยใส่ร้ายข้าฯและพรรคผู้ที่ร้องที่ 1 ในหลายจังหวัด และชักชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ให้กาคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือที่เรียกว่าโนโหวต (No Vote)


คำชี้แจงข้อกล่าวหาตามคำร้องของอัยการสูงสุดที่มีต่อพรรคผู้ร้องที่ 1


1.กรณีที่กล่าวหาว่าผู้บริหารของพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีที่คะแนนเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผู้ถูกร้องที่ ไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และสนับสนุนให้พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ กกต.ตัดต่อ เปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้ง

ข้าฯขอชี้แจงว่าข้าฯได้สอบถาม พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ซึ่งตามคำร้องอ้างว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 และอ้างว่าทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องในการว่าจ้างให้พรรคทั้งสองที่กล่าวมาส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารทั้งสองได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ดำเนินการตามที่กล่าวอ้างในคำร้องแต่อย่างใด อีกทั้งยังเชื่อว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากขบวนการเพื่อล้มการเลือกตั้ง โดยพรรคประชาธิปัตย์เข้ามามีส่วนในการสร้างพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ ตลอดจนพยานเอกสาร เพื่อให้น่าเชื่อว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง

การที่อัยการสูงสุด (อสส.) อ้างว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นกรรมการบริหารระดับสูงพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 และในฐานะผู้แทนพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 มีหน้าที่จัดการบริหารทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 37 และเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 นั้น

ข้าฯ ขอชี้แจงว่าผู้บริหารพรรคทั้งสองไม่เคยได้รับมอบหมายจากพรรคไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ดำเนินการตามที่กล่าวหา และไม่มีหน้าที่จัดการบริหารทรัพย์สินของพรรคแต่อย่างใด คงมีหน้าที่แต่เฉพาะที่ได้รับมอบหมายตามข้อบังคับของพรรคเท่านั้น ซึ่ง พล.อ.ธรรมรักษ์ฯมีหน้าที่คัดสรรผู้สมัครในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อย่างอื่น เช่นเดียวกับนายพงษ์ศักดิ์ อีกทั้งพรรคก็ไม่ได้เคยมีมติของคณะกรรมการบริหาร ให้กระทำการตามข้อกล่าวหา



พรรคผู้ถูกร้องที่ 1 มีคณะกรรมการบริหารทั้งสิ้นถึง 119 คน การที่จะกล่าวหาว่าผู้บริหารพรรคเพียงสองคน ได้กระทำการบางประการ และถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองย่อมไม่เป็นธรรมต่อพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่เป็นธรรมต่อกรรมการบริหารพรรค และไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่งส่วนสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งมีถึง 14 ล้านคนเศษ บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ไม่มีส่วนรับรู้กับการกระทำตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ร้องเรียนและต้องการให้การเลือกตั้งยุติสิ้นสุดลง กลับเป็นผู้ที่มิได้สมัครรับเลือกตั้ง คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้ส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงถือว่าไม่เป็นผู้เสียหาย ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2542 ข้อ 3

2.เมื่อ กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่า กกต.ยังมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แก่ข้าฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นผู้แทนพรรคการเมืองตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 การสอบสวนจึงกระทำโดยมิชอบด้วยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 กกต.ไม่ได้ให้โอกาสข้าฯมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และแสดงหลักฐาน รวมทั้งให้โอกาสมาแสดงถ้อยคำ แต่นายทะเบียนพรรคการเมืองกลับส่งหลักฐานให้ อสส.พิจารณายุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 โดยทันที

กรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่า กกต.ยังไม่เคยสอบสวนข้าฯแต่อย่างใด การดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่กระทำไป จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อสส.จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ นอกจากนั้น ข้าฯทราบว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้เสนอความเห็นให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 โดยมิได้มีมติของ กกต.การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แล้ว ยังไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 อีกด้วย


ประเด็นข้อกฎหมายอื่นๆ และเหตุผลที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรค


แม้พรรคการเมืองจะเป็นนิติบุคคล และบริหารโดยคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 37 แต่ก็มีกลไกต่างๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมือง มิให้ต้องเกิดความเสียหายจากการบริหารผิดพลาดของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองนั้น กรอบนโยบายและข้อบังคับของพรรค พรรคการเมืองและสมาชิกพรรค จึงมีความสำคัญเหนือกว่าคณะกรรมการบริหาร

ซึ่งมีหน้าที่ขับเคลื่อนกลไกของพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ได้ให้ความสำคัญทั้งพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง การกระทำของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หากไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง อาจถูกระงับยับยั้งโดยนายทะเบียนพรรคการเมือง หรืออาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ออกจากตำแหน่งเสียได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ผลกระทบมิได้เกิดเฉพาะคณะกรรมการพรรค



ข้าฯขอเรียนต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 1 แม้ได้จัดตั้งมาได้เพียง 8 ปีเศษ มีสมาชิกถึงกว่า 14 ล้านคน หากมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 67 ตามข้อกล่าวหาของ อสส. ทั้งๆ ที่พรรคการเมืองยังมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างบริบูรณ์นั้น

นอกจากจะเป็นการกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว ยังเกิดผลกระทบโดยตรงต่อสมาชิกถึง 14 ล้านคน ย่อมเห็นได้ชัดว่าเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงจนเหลือคณานับ ทั้งๆ ที่สมาชิกพรรคเหล่านั้นไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องอย่างใดๆ ต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่จะต้องถูกลงโทษประหารชีวิตในทางการเมืองไปด้วยอย่างปราศจากความเป็นธรรม หากปรากฏว่ากรรมการบริหารพรรคได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ของประเทศชาติโดยรวม ย่อมได้รับความเสียหายจากสายตาของนานาชาติ อาจทำให้ต่างชาติมองภาพการเมืองไทยไปในทางเสียหาย นักลงทุนต่างชาติจากอารยประเทศ ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึก และมีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ย่อมไม่มั่นใจและไม่เต็มใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ซึ่งจะติดตามมาด้วยปัญหาทางด้านสังคมอีกมากมาย เหล่านี้เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบที่ตามมาจากการมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใหญ่ๆ ได้ทั้งสิ้น



(ลงชื่อ) ............................................

(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)

พยานผู้ให้ถ้อยคำ



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่คุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์