คำให้การคดีพระวิหาร ว่าด้วยแผนที่ ของอลินา มิรอง

คำให้การคดีพระวิหาร ว่าด้วยแผนที่ ของอลินา มิรอง

"แผนที่" กลายเป็นหัวใจสำคัญในการให้การด้วยวาจา ในคดีว่าด้วยการตีความคำพิพากษาศาลโลก 15 มิถุนายน 2505 ระหว่างกัมพูชา ผู้ยื่นคำร้อง กับไทย ผู้คัดค้านและแก้คำร้อง ในศาลโลกที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

นอกจากจะกลายเป็นการกล่าวหาซึ่งกันและกัน เริ่มจากการที่ฝ่ายไทยระบุว่ากัมพูชา "ปลอมแปลง" (อาร์ติฟิเคชั่น) แผนที่ "แอล7017" อัตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหารมานำเสนอต่อศาล

อลินา มิรอง ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของฝ่ายไทย ยังนำเสนอแผนที่ในภาคผนวก 85ดี ขึ้นมาในระหว่างการพิจารณา เพื่อแสดงให้เห็นว่า การกำหนดเขตการถอนทหารของไทยในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 นั้่น ไม่ได้กำหนดเองอย่างเลื่อนลอย แต่กำหนดจากคำพิพากษาเมื่อปี 2505

จนเป็นที่มาของการที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวหาว่า ไทยไป "ลบเส้น" บนแผนที่ ในภาคผนวก 85ดี เพื่อนำเสนอต่อศาล

คำให้การคดีพระวิหาร ว่าด้วยแผนที่ ของอลินา มิรอง

แผนที่ตามภาคผนวก 85ดี มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องเพราะแผนที่นี้เป็นส่วนขยายของแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000
 
ที่กัมพูชาใช้และปรากฏอยู่ในภาคผนวก 1 เรียกกันว่าแผนที่ระวางดงรัก (แต่ตอนนี้ รู้จักกันทั้งในชื่อ แผนที่ 1 ต่อ 200,000, แผนที่ในภาคผนวก 1 รวมทั้งแผนที่ระวางดงรัก ซึ่งทั้ง 3 ชื่อคือแผนที่เดียวกัน) ที่ถูกยกขึ้นมาพิจารณากันในระหว่างการพิจารณาคดีฟ้องร้องเรื่องพระวิหารครั้งแรก

เป็นแผนที่ที่ศาลโลกจัดทำขึ้นเอง เพื่อขยายให้ดูพื้นที่พิพาทชัดเจนขึ้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และข้อพิพาทในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรนั้นเป็นเรื่อง "ใหม่"

เพื่อความกระจ่าง ควรดูภาพแผนที่พร้อมทำความเข้าประกอบกันไปตามลำดับดังนี้

1.แผนที่แนบท้าย 85d คือแผนที่ซึ่งแสดงเส้นสันปันน้ำตามที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาอ้างในการต่อสู้คดีเมื่อปี 2505 แต่ความพิเศษของแผนที่ฉบับนี้คือเป็นส่วนขยายของพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกจัดทำขึ้นเพื่อขยายพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารให้ชัดเจนขึ้น โดยเส้นสีดำคือเส้นสันปันน้ำที่ไทยอ้าง ขณะที่เส้นสีแดงคือเส้นสันปันน้ำตามที่กัมพูชาอ้างถึง

2.แผนที่ 85d เปรียบเทียบกับเส้นตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2505 ของไทย

3.พื้นที่ 0.35 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ซึ่งไทยและกัมพูชาถกเถียงกันในการต่อสู้คดีในศาลโลกเมื่อปี 2505 ว่าเป็นบริเวณซึ่งครอบคลุมพื้นที่ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเส้นสันปันน้ำในบริเวณดังกล่าว

4.พื้นที่ 0.28 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี 2505 โดยจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ซึ่งสองฝ่ายมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับเส้นสันปันน้ำในพื้นที่ดังกล่าว

5.พื้นที่ 0.07 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนที่แตกต่างระหว่างเส้นมติ ครม. 2505 ซึ่งไทยกำหนดขึ้น กับพื้นที่ 0.35 ตารางกิโลเมตรเดิมในบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งไทยและกัมพูชามีความเห็นเรื่องเส้นสันปันน้ำที่แตกต่างกัน

6.พื้นที่บริเวณพนมซับหรือภูมะเขือทางฝั่งซ้ายของปราสาทพระวิหารในแผนที่ ซึ่งนาย Dean Acheson หนึ่งในทีมทนายความฝ่ายกัมพูชา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้พูดถึงในการสู้คดีเมื่อปี 2505 ว่าเป็นพื้นที่ซึ่ง "ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ" แต่กลับเป็นพื้นที่ซึ่งกัมพูชาอ้างสิทธิในปัจจุบัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้างว่าศาลโลกได้ให้การรับรองไปแล้ว

7.แผนที่ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นว่าเมื่อนำแผนที่ภาคผนวก 1 มาถ่ายทอดลงในพื้นที่จริงด้วยวิธีต่างๆ จะทำให้เกิดเส้นที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่อาจกำหนดเป็นเส้นเขตแดนได้เพราะตามหลักการเส้นเขตแดนต้องมีความชัดเจน

ในเส้นต่างๆ ที่เห็น เส้นสีแดงคือเส้นสันปันน้ำตามที่กรมแผนที่ทหารของไทยจัดทำขึ้น ส่วนเส้นอื่นๆ คือเส้นที่นำมาถ่ายทอดตามแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชาในวิธีที่ต่างกัน ซึ่งเห็นได้ว่าเกิดความไม่ชัดเจนและไม่สามารถถ่ายทอดค่าพิกัดได้

8.พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่กัมพูชาอ้างสิทธิในปัจจุบัน ซึ่งไทยระบุว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กัมพูชาต้องการพื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์