คำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ทักษิณของอัยการ(3) ตอบโจทย์ ทำไมต้องยึดเงินทั้งหมด 76,000 ล้าน

หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"- เป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงปิดของอัยการสูงสุดในคดี ร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน อันเนื่องมาจากขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้ คำแถลงของอัยการสูงสุดระบุว่า  พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น เป็นเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สิน มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ในชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพิณทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน


ชั้นไต่สวนผู้คัดค้านทั้ง 22 คนยื่นคำคัดค้าน ศาลไต่สวนพยาน ผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านและพยานที่ศาลเรียกมาไต่สวนเองจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
--------------------------------
การกระทำของ พ.ต.ท.ทักาณ เป็นการละเมิดต่อความไว้วางใจของปวงชน (Treason) ในรัฐธรรมนูญ


กรอบของความไว้วางใจที่ได้ไปมีมากกว่าคำปฏิญาณตนในรัฐธรรมนูญ และมากกว่าหน้าที่ตามกฎหมายอาญาว่า จะไม่ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงได้วางกรอบใหม่สำหรับนักการเมืองไว้ดังนี้


-ต้องอยู่ห่างไกลจากอามิสสินจ้างรับของกำนัลเกิน 3,000 บาทก็ไม่ได้


-ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นต้องอธิบายที่มาที่ไปได้ทุกชิ้นไม่เช่นนั้นถูกยึด


-ได้ทรัพย์สินมาโดยมิสมควรสืบเนื่องจากหน้าที่ก็ต้องถูกยึดเช่นกัน


-ก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องไม่ถือหุ้นสัมปทานใดๆ


-หุ้นอื่นๆ ถ้ามี เกิน 5% ก็ต้องแขวนไว้ในบริษัทจัดการหุ้นโดยห้ามยิ่งเกี่ยว


-ในระหว่างดำรงตำแหน่งจะรับสัญญาจากหน่วยงานของรัฐที่ตนดูแลไม่ได้


-พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ห้ามไปทำงานเอกชนที่ตนเคยกำกับดูแลฯ


ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกติกาก็เป็นความคาดหวังของความไว้วางใจที่กำหนดไว้ในระบบรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งสิ้น ใครละเมิดก็เป็นผิดอาญาหรือพ้นจากตำแหน่ง ฐานละเมิดหรือทรยศต่อความไว้วางใจ (Treason) โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่ามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาเกิดขึ้นแต่อย่างใดเลย (ดังตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯ)


คดียึดทรัพย์ "ร่ำรวยผิดปกติ"


หุ้นชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสได้แปลงเป็นเงินได้จากการขายหุ้นกว่า 7.3 หมื่นล้านบาทแล้วอนุกรรมการได้ร่วมกันศึกษาว่าจะนำบทบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์ ในระบบ

รัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ได้หรือไม่เพียงใด ก็ได้ข้อยุติดังนี้


1.เดิมทีก่อนร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นคำว่า "ร่ำรวยผิดปกติ" กินความครอบคลุมแต่เฉพาะ "การมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหลังดำรงตำแหน่ง แล้วไม่อาจอธิบายที่มาให้เป็นที่พอใจได้" เท่านั้น

ครั้นต่อมาเมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่และร่างกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ใหม่ในฐานะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ได้เพิ่มลักษณะความ "ร่ำรวยผิดปกติ" ให้กินความถึงพฤติการณ์ "ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิสมควรสืบเนื่องจากตำแหน่งหน้าที่"(มาตรา4) ด้วย


2.ปัญหาว่าพฤติการณ์อย่างใดจึงจะถือเป็นการ "ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิสมควรสืบเนื่องจากตำแหน่งหน้าที่" นั้น แม้จะเป็นดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายไว้ก็ตาม แต่เฉพาะในกรณีของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีฐานทางกฎหมาย ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 รองรับอยู่แล้วว่าเข้าลักษณะเป็นการได้มาโดยมิสมควรสืบเนื่องมาจากตำแหน่งหน้าที่กล่าวคือ


2.1) มาตรา 100 (3) ระบุห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีถือหุ้นสัมปทาน ก็เพราะป้องกันว่าจะเกิดการใช้อำนาจหน้าที่ไปเอื้อประโยชน์ธุรกิจดังกล่าว แม้ธุรกิจดังกล่าวจะมีผู้อื่นถือหุ้นอยู่ด้วยเท่าใดก็ตาม ถือว่าเป็นประโยชน์ที่นายกรัฐมนตรีไม่สมควรได้


2.2) มาตรา 100 (2) ระบุห้ามนายกฯ เข้าเป็นคู่สักญากับหน่วยงานที่ตนมีอำนาจบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ก็เพราะเห็นว่านายกฯ จะสั่งการหน่วยงานเหล่านั้นให้เอื้อประโยชน์แก่ตน

ข้อเท็จจริงปรากฎว่า มาตรการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบต่อธุรกิจบริษัทชินคอร์ปที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ล้วนมาจากองค์กรที่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของนายกฯ ทั้งสิ้นคือ


-กระทรวงต่างประเทศและ คณะรัฐมนตรีให้พม่ากู้เงิน 1000 ล้านบาท ซื้อสินค้าชินแซท


-กระทรวงคมนาคม ให้ ชินแซทส่งดาวเทียมไอทีสตาร์ แทนที่จะส่งดาวเทียมไทยคม 4 ตามสัญญา


-กระทรวงไอซีที กระทรวงคลัง และครม. แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต


-กระทรวงไอซีทีและ ทศท.ลดค่าสัมปทานมือถือให้ เอไอเอส


-กระทรวงไอซีทีและ กสท.กับ ทศท. แก้สัญญาสัมปทานเปิดให้ Roaming


ดังนั้นประโยชน์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นประโยชน์ที่กฎหมายไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นเมื่อใด กฎหมายก็จะถือว่าเป็นประโยชน์อันมิสมควรที่สืบเนื่องจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปในทันที


2.3) ด้วยเหตุทั้งสองประการดังกล่าว การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า มาตรการเอื้อประโยชน์จากรัฐมิได้ให้ประโยชน์โดยตรงต่อนายกรัฐมนตรีผู้ถือหุ้นชินคอร์ปก็ดี หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีสั่งการก็ดี ทั้งสองกรณีล้วนถูกตัดบทโดยมาตรา 100 ไว้แล้วทั้งสิ้น


ยิ่งไปกว่านั้นในทางคดีกลับพบไปในทางตรงข้ามว่า ครอบครัวชินวัตรถือหุ้น (โดยเปิดเผย) ในธุรกิจนี้ถึง 49% แต่กลับขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโดยจงใจใช้อุบายใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ 2, ที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย

ครั้นเมื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ในส่วนมาตรการอื้อประโยชน์ 5 มาตรการที่เกิดขึ้นนั้น ก็พลั้งพลาดปรากฏหลักฐานการสั่งการจนเป็นความผิดอาญาถึง สองกรณีคือการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและการให้ธนาคารเอ็กซิมแบ้งค์ปล่อยเงินกู้ให้พม่า ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องต่อศาลนี้ตามคดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 และ อม.3/2551 ตามลำดับ


แต่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ศาลนี้จึงออกหมายจับ ผู้ถูกกล่าวหาและจำหน่ายคดีชั่วคราว ข้อกล่าวอ้างถึงความสุจริตใจดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักโดยสิ้นเชิงทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง


การกระทำลักษณะปกปิดอำพรางหุ้น


1.การอำพรางหรือซุกหุ้นคืออะไร?

คือการจงใจถือครองหุ้นใดโดยไม่ยอมเปิดเผยตัวต่อระบบตรวจสอบทำได้โดย


1.1 ใช้ชื่อบุคคลใกล้ชิดถือหุ้นแทน (ชื่อคนใช้, บุตร, พี่น้อง ในกรณีหุ้นบริษัทชินคอร์ป ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา)


1.2 จัดตั้งบริษัทถือครองหลักทรัพย์ของตนเองขึ้นมาโดยเฉพาะ (เช่นบริษัทแอมเพิลริช ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา รับว่าได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ หรือ บริษัทวินมาร์ค)


1.3 เมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อขายจ่ายโอนหุ้น รับเงินปันผล ก็อาจใช้บริการบริษัทดูแลหลักทรัพย์รับเป็นตัวแทนถือครอง สั่งซื้อขายแทนอีกชั้นหนึ่งก็ได้ เมื่อมีการตรวจสอบ ก็จะเห็นรายการแต่เพียงว่ามีหุ้นเคลื่อนไหวเข้าออก จากบัญชีหนึ่งของบริษัทตัวแทนถือครองเท่านั้น โดยไม่ทราบว่าที่แท้จริงเป็นการซื้อขายของผู้ใด หากเป็นบริษัทต่างประเทศที่มีกฎหมายท้องถิ่นให้เอกสิทธิ์ไม่เปิดเผยชื่อลูกค้าแล้ว การแกะรอยจะทำได้ลำบากยากยิ่ง (พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ใช้วิธีตั้งบริษัทวินมาร์ค และบริษัทแอมเพิลริช เป็นตัวแทนเชิดตาม


1.2 ก่อน แล้วใช้บริการบริษัทถือครองหลักทรัพย์เช่น บริษัทวิคเกอร์, บริษัทแอสเสทพลัส และธนาคารยูบีเอสในต่างประเทศ จัดการหุ้นชินคอร์ปทางบัญชี จากสิงค์โปร์อีกชั้นหนึ่ง)การกระทำดังกล่าวเป็นการปกปิดข้อมูลเพื่อประโยชน์คือ


2.1 ปกปิดการตรวจสอบภาษีเงินปันผล ทำได้โดยตั้งนิติบุคคลต่างประเทศแล้วถือหุ้นเล่นหุ้นในกระดานต่างประเทศ โดยสรรพากรไทยและ ก.ล.ต.ไทย จะไม่สนใจตรวจสอบว่าเป็นบริษัทต่างประเทศที่ประกอบกิจการในไทยหรือไม่ โดยวิธีนี้รัฐจะได้ภาษีเงินได้ จากเงินปันผล หัก ณ ที่จ่ายเพียง 7% เท่านั้น สูญหายไป 8%


2.2 ปกปิดการตรวจสอบตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์  หน้าที่สำคัญที่สุดของกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ คือทำตลาดให้โปร่งใส เป็นธรรม มีตัวเลขรายงานความเคลื่อนไหวที่บุคคลใดถือหุ้นเพิ่มหรือลดเกิน 5% อยู่ในมือทุกขณะเพื่อตรวจสอบการปั่นหุ้น สามารถตรวจสอบได้ว่า มีผู้ขายมีหุ้นรายใดใช้ข้อมูลภายในซื้อหรือขายหุ้นโดยมิชอบหรือไม่ การอำพรางหรือซุกหุ้นคือช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ระบบนี้ล้มเหลว


โดยเฉพาะกรณีที่มีการซ่อนตัวอยู่หลังบริษัทนิติบุคคล เช่น แอมเพิลริช หรือวินมาร์ค ที่อุปโลกน์จัดตั้งไว้ บริษัททั้งสองนี้สามารถเปิดบัญชีค่าหุ้นไว้กับบริษัทที่รับจัดการหลักทรัพย์ในต่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง แล้วผู้เป็นเจ้าของตัวจริงก็สามารถสั่งซื้อขายหุ้นได้ตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ เพราะบัญชีซื้อขายหุ้นแต่ละวัน ที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นจะมีแต่ ตัวเลขบัญชีของบริษัทรับจัดการหลักทรัพย์ ปรากฏให้เห็นว่า ซื้อเข้าหรือขายออกจากบัญชีไหนเท่านั้น โดยไม่มีทางจะทราบได้เลยว่าบัญชีนี้เป็นของใคร


2.3 หลีกเลี่ยงการตรวจสอบคอร์รัปชั่น ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่พยายามตรากฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่น ไว้ก้าวหน้ามาก ทั้งระบบตรวจสอบทรัพย์สิน และโทษยึดทรัพย์ฐานร่ำรวยผิดปกติซ้ำด้วยการติดตามเงินคอร์รัปชั่นด้วกฎหมายฟอกเงิน จากนั้นจึงมาวางข้อกำหนดห้ามรัฐมนตรีใช้ข้อมูลภายในเล่นหุ้น ให้ต้องแขวนหุ้นไว้เฉยๆ แล้วซ้ำด้วยข้อห้ามถือประโยชน์ทับซ้อน ห้ามเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือห้ามถือหุ้นในบริษัทสัมปทาน อีกชั้นหนึ่ง


-มาตรการเหล่านี้ล้วนพังทลายลงโดยสิ้นเชิง ด้วยการปกปิดอำพร่างการถือหุ้นของนักการเมืองดังต่อไปนี้


(2.3.1) ให้ตัวแทนเชิด รับสินบนเป็นหุ้น ช่องทางนี้เปิดต่อข้าราชการทุกระดับ และแพร่หลายมากหลุดพ้นจากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินโดยสิ้นเชิง ต้องอาศัยความบากบั่นติดตามเงินที่เชื่อว่าได้มาโดยทุจริตจริงๆ จึงจะพบว่าแอบไปซื้อหุ้นมอบเป็นสินบนให้นักการเมืองนั้น


(2.3.2) ฟอกเงินข้ามชาติ การมีบริษัทตัวแทนเชิดที่ปิดลับ อยู่นอกอำนาจตรวจสอบของกฎหมายไทย เป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการฟอกเงิน สามารถย้ายเงินจากในประเทศด้วยการซื้อหุ้นต่างๆ ได้เช่นในกรณีที่ใช้เงินปันผล 487 ล้านบาท ในบัญชีบุตรสาว ทำเป็นซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีอนาคตแล้วจากบริษัทวินมาร์คเป็นต้น หรืออาจนำเงินที่อำพรางไว้ในต่างประเทศเข้าประเทศ โดยทำเป็นขายหุ้นของตนในราคาสูงให้บริษัทวินมาร์ค ซึ่งเมื่อตรวจที่มาของเงินที่บริษัทวินมาร์คชำระค่าหุ้นให้ ก็จะพบว่าแท้จริงเป็นเงินของผู้ซื้อที่ซ่อนไว้ในต่างประเทศนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้นถ้าจะให้สินบนใครโดยไม่มีใครตามเงินได้ ก็ทำได้โดยสั่งให้บริษัทวินมาร์ค ขายหุ้นราคาถูกให้ผู้ใด ก็ทำได้ทั้งสิ้น


(2.3.3) ทุจริตในเชิงนโยบาย กิจการโทรคมนาคมทั้งโทรศัพท์และดางเทียม, โทรทัศน์, และสายการบิน เป็นธุรกิจชนิดที่หากินจากโครงข่าย เป็นโครงข่ายที่มีจำกัดและอยู่ใต้อำนาจกำกับดูแลของรัฐอย่างใกล้ชิดด้วยเหตุที่มีประโยชน์สาธารณะที่ต้องดูแล ทั้งประสิทธิภาพ ความมั่นคง และราคา ที่มอบให้แก่ผู้บริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม


การปล่อยให้ นายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอำนาจถือครองหุ้น 49% ในบริษัทแม่ ของกิจการเหล่านี้ (โดยไม่นับรวมหุ้นที่ถือผ่านตัวแทนเชิดอื่นๆ นอกครอบครัว) นับเป็นช่องว่างที่อันตรายอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ ด้วยอำนาจที่มีในมือ นายกฯ ที่คงหุ้นบริษัทชินคอร์ป ผู้นี้สามารถสร้างนโยบายและกำหนดการสั่งการที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการของบริษัทได้

ทั้งโดยเปิดเผยและโดยปิดลับผ่านเครือข่ายเจ้าหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อรัฐ ได้อย่างมากมาย ทั้งที่คิดหรือไม่อาจคิดเป็นตัวเงินได้


ทั้งการแก้ไขสัญญาลดส่วนแบ่งรายได้จากโทรศัพท์เติมเงิน (ทศท.ขาดประโยชน์ 8 หมื่นล้าน) ทั้งการให้เอกชนนำภาระภาษีสรรพสามิตมาหักจากค่าสัมปทาน (กสท.และ ทศท.เสียหาย รวม 3 หมื่นล้าน) ฯ ซึ่งหากคำนวณมูลค่าที่เพิ่มขึ้นโดยมิชอบจากการใช้อำนาจรัฐ เป็นขั้นต่ำคือ 4 หมื่นล้านบาท บวกด้วยความเสียหายที่รัฐต้องเสียประโยชน์เพราะมาตรการทุจริตเชิงนโยบายแสนกว่าล้านบาท แล้วเงินค่าขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้านบาทนี้ก็หาได้เพียงพอต่อการยึดทรัพย์ด้วยเหตุร่ำรวยโดยมิชอบ และความรับผิดทางแพ่งต่อรัฐเลย


3.การตรวจสอบพฤติการณ์ปกปิดอำพรางการถือหุ้น


การพิสูจน์คดีนี้ ไม่อาจสืบจากปากคำบุคคลจนกระจ่างได้ เพราะโดยสภาพจะเป็นการติดตามสืบสวนทางบัญชีที่ซับซ้อนมาก ต้องตามรอยทั้งเงินซื้อหุ้น, การโอนหุ้น และเงินปันผลหุ้น หาชื่อเจ้าของบัญชีและโยงใยที่มีกับผู้ต้องสงสัย ยิ่งในกรณีที่มีจัดการหุ้นข้ามชาติ คืออาศัยบริษัทดูแลหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นผู้จัดการแทนทำให้เห็นแต่เพียงตัวหุ้นโอนถ่ายไปมาผ่านบัญชีต่างๆ เท่านั้น กรณีเช่นนี้จะตรวจสอบได้ยากมาก


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์