คำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ทักษิณของอัยการ(1) ชำแหละขบวนการซุกหุ้นจากเครือญาติ-บริษัทคู่แฝด

หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"- เป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงปิดของอัยการสูงสุดในคดี ร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติและได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นของแผ่นดิน อันเนื่องมาจากขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้ คำแถลงของอัยการสูงสุดระบุว่า  พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 1,419,490,150 หุ้น เป็นเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สิน มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ในชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพิณทองทา ชินวัตร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน


ชั้นไต่สวนผู้คัดค้านทั้ง 22 คนยื่นคำคัดค้าน ศาลไต่สวนพยาน ผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านและพยานที่ศาลเรียกมาไต่สวนเองจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
-------------------------------------------
คำแถลงปิดคดีของอัยการสูงสุดส่วนหนึ่งสรุปว่า ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส(คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ณ ป้องเพ็ชร)ให้บุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นเครือญาติถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ แทนดังนี้


นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น


นางสาวพินทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น


นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น


รวมเป็นจำนวนหุ้นทั้งหมด 1,419,490,150 หุ้น


หุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสใช้ชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นแทนมีจำนวนทั้งหมด 1,419,490,150 หุ้น ใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนในชื่อของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5(เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542) และการโอนหุ้นให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5(เมื่อวันที่ ื1 กันายน 2543)  ไม่ได้ชำระเงินกันจริงเพียงแต่ทำหลักฐานตั๋วสัญญาใช้เงินระบุลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 และวันที่ 1 กันยายน 2543 ให้ไว้กับผู้ถูกกล่าวหาและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร รวมจำนวน 5 ฉบับ เป็นเงินเพียง 1,124,335,225 บาท


 อีกทั้งตั๋วสัญญาใช้เงิน ฉบับระบุลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ระบุว่า นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 102,135,225 บาท ให้แก่"คุณหญิงพจมาน ชินวัตร "ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งที่ในวันที่ 16 มีนาคม 2542 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้า ที่จะใช้คำนำนามว่า "คุณหญิง" ได้ โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้าในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ 5 พฤษภาคม 2542 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2542


 ดังนั้น คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 จะใช้คำนำนามว่าคุณหญิง ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2542

ข้ออ้างว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมสูญหายจึงจัดทำขึ้นใหม่นั้นก็ไม่มีการแจ้งความเอกสารหายแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว เป็นการจัดทำเป็นหลักฐานขึ้นในภายหลังเท่านั้นไม่ได้จัดทำขึ้นตามความจริง และหากมีการซื้อขายกันจริง นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้คัดค้านที่ 5 ก็มีเงินของตนเพียงพอที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้โดย ผู้คัดค้านที่ 5 ไม่จำเป็นต้องทำตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่อย่างใด


แต่เป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าได้มีการซื้อขายเท่านั้นทั้งที่ไม่มีการซื้อขายกันจริง การซื้อหุ้นเพิ่มทุนและการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวและคู่สมรส หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส


บริษัท แอมเพิลริช อินเวสเม้นท์ จำกัด ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นแต่ผู้เดียว และบริษัท แอมเพิล ริช ฯ ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาอยู่ด้วยนั้น ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่า ได้ขายหุ้นบริษัท แอมเพิล ริชฯ ให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร ทั้งหมดในราคา 1 เหรียญสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 นั้น ก็มีเพียงหนังสือของนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 โดยลำพังเท่านั้น แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นระยะเวลานานถึง 6 ปีจึงเพิ่งมาแจ้งต่อ ก.ล.ต. โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดอีก รวมทั้งไม่มีบันทึกการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง หรือจดแจ้งกับผู้ใดหรือหน่วยงานใด ข้ออ้างประกอบการไต่สวนของผู้ถูกกล่าวหาและนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่น่าเชื่อถือไม่น่ารับฟัง


แต่เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงหนังสือของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ยอมรับว่าได้รับซื้อและเข้าถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่มีการยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่สนับสนุนว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนหุ้นดังกล่าวให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร แล้วจริง ซึ่งสอดคล้องกับผลตรวจสอบสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน ก.ล.ต. ที่พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า บริษัท วินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้น (Nominee) ของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส และเมื่อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ถือโดยบริษัท แอมเพิลริชฯ มาฝาก รวมกันกับหุ้น บริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ถือโดยบริษัท วินมาร์ค จำกัด ในบัญชีเลขที่ 8002480002 ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เป็นผลให้หุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่ฝากอยู่ในบัญชีดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 5.24 ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว


ธนาคารยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ ผู้รับจัดการดูแลหุ้นและบัญชีดังกล่าว ได้ยื่นรายงานตามแบบ 246-2 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2544 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากได้รับโอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ คิดเป็นร้อยละ 3.40 จำนวน 10 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 มาไว้ในบัญชีเลขที่ 8002480002 ซึ่งนับรวมกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ที่อยู่ในบัญชีนี้อยู่ก่อนแล้ว จำนวน 5,405,913 หุ้นรวมเป็น 15,405,913 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 5.24 ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วซึ่งแสดงว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ผู้ถูกกล่าวหา ก็ยังเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิลริชฯ อยู่เหมือนเดิม


คำชี้แจงแก้ข้อกล่วหาว่าได้โอนขายให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 รับฟังไม่ขึ้น แต่รับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาปกปิด อำพรางการถือครองหุ้นบริษัท แอมเพิล ริชฯ ซึ่ง บริษัท แอมเพิล ริชฯ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ จำนวน 32,920,000 หุ้น (หรือ 329,200,000 หุ้นหลังลดมูลค่าหุ้น)อีกทั้งการชำระเงินค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน การซื้อโอนหุ้น ต่างก็เป็นเงินที่จ่ายจากบัญชีของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งสิ้น และหลังจากนั้นเงินดังกล่าวต่างก็โอนกลับมาเข้าบัญชี คุณหญิง พจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1


การชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่อ้างว่า เป็นค่าซื้อขายหุ้นหรือเพิ่มทุนเป็นเงินปันผลที่รับจากบริษัทชินคอร์ปฯ ก็โอนกลับบัญชี คุณหญิง พจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีของนายพานท้องแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 ก็โอนเงินปันผลให้ คุณหญิง พจมาน ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 1 เกินกว่ายอดเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเสียอีก พยานหลักฐานตามที่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านนำสืบประกอบการไต่สวนจึงฟังไม่ขึ้น


ดังนั้น ตามพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ดังกล่าว จำนวน 1,419,490,150 หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ยังเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส ที่ให้ผู้มีชื่อดังกล่าวถือหุ้นไว้แทน ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์


ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2549 ผู้ถูกกล่าวหาได้รวบรวมหุ้นดังกล่าวทั้งหมดขายให้กับกลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ซื้อเป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880,932.05 บาท และตั้งแต่ปี 2546 - 2548 บริษัทชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 6,898,722,129 บาท


รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด จำนวน 76,621,603,061.05 บาท เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์