คาดหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญทรท.พรรคแตก

คาดหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ"ทรท."พรรคแตก

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2549 23:45 น.

วังน้ำยม ฟันธงพรรคแตกหลังแก้รัฐธรรมนูญ เผยเปิดสภาฯ เมื่อไหร่ยื่นตั้ง กมธ.ปลดล็อก 90 วัน ระบุถ้าอยู่พรรคเดียวกันแล้วเกิดความขัดแย้ง อุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ควรเปิดโอกาสให้มีการลาออก โดยการขออนุญาตลาออกจากพรรคต้นสังกัด

นายประทวน เขียวฤทธิ์ ว่าที่ ส.ส.สุโขทัย กลุ่มวังน้ำยม พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองที่จะเกิดขึ้นว่า เชื่อว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขการสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน ก่อนการเลือกตั้ง น่าจะมีการผลักดันให้มีการแก้ไขจากทั้งฝ่ายส.ส.และนักวิชาการ เพราะที่ผ่านมาเห็นตรงกันว่าจุดนี้ทำให้นายกฯมีอำนาจล้นฟ้า ส.ส.ทำอะไรแตกแถวไม่ได้เลย ถ้าผู้นำดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีก็เกิดปัญหามากมาย ซึ่งหากแก้รัฐธรรมนูญตรงนี้การเมืองอาจจะกลับไปสู่การมีพรรคการเมืองหลายพรรค

เชื่อว่าหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคไทยรักไทยจะต้องแตก แบ่งแยกกันออกไป หากพ.ต.ท.ทักษิณไม่คิดกลับมาเล่นการเมืองอีก พรรคการเมืองจะเกิดขึ้นใหม่มากมาย แต่ถ้ากลับมาเล่นการเมืองพรรคไทยรักไทยก็คงจะได้เปรียบแต่พรรคจะไม่ใหญ่เหมือนในปัจจุบัน เพราะจะมีส่วนหนึ่งที่ออกไป สำหรับจุดยืนของกลุ่มวังน้ำยมนั้น จะต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นไปในทิศทางไหน และคงต้องแล้วแต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มจะตัดสินใจอย่างไร นายประทวน กล่าว

ด้านนายโสภณ เพชรสว่าง ว่าที่ ส.สบุรีรัมย์ กลุ่มวังน้ำยม พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ตนจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ โดยให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ โดยเอาอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อดีต ส.ส. อดีต ส.ว. สถาบันพระปกเกล้าฯ นักวิชาการ และองค์กรอิสระต่างๆ เข้ามาร่วมศึกษาอย่างละเอียดว่าควรมีการแก้ไขในมาตราไหนบ้าง จากนั้นก็ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่โดยการลงประชามติ ซึ่งขณะนี้รัฐธรรมนูญมีปัญหาในหลายมาตรา เช่น เรื่องทุจริต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ควรทำอย่างไร ในเมื่อมีการคั่งค้าง ตัดสินไม่เสร็จหลายร้อยคดี คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาการทุจรติการเลือกตั้งไม่ทัน ควรที่จะให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาแทนหรือไม่ รวมไปถึงกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ

ควรมีการแก้ไขปลดล็อก 90 วันที่ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าอยู่พรรคเดียวกันแล้วเกิดความขัดแย้ง อุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ควรเปิดโอกาสให้มีการลาออก โดยการขออนุญาตลาออกจากพรรคต้นสังกัด ถ้าพรรคอนุญาต ก็เปิดโอกาสให้ส.ส.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสิทธิสภาพการเป็นส.ส. แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ว่า หากลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก็หมดสภาพการเป็นส.ส.ไปเลย ต้องรอให้พรรคขับออกเท่านั้น และจะดีไปกว่านั้นหากรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้สมัคร ส.ส.โดยไม่ต้องสังกัดพรรค นายโสภณ กล่าว

นายโสภณ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นควรเอาคนที่ปฏิบัติจริงเข้าไปร่วมในการพิจารณาแก้ไขด้วย เพราะคนเหล่านี้จะรู้ปัญหาอันเกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ และฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย อย่าไปมองว่าเอา ส.ส.ของตัวเองมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองเท่านั้น เพราะคนที่อยากเข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวมยังมีอยู่เยอะ

นักวิชาการชี้ระบอบทุนนิยมยังอยู่แม้"ทักษิณ"ขอเว้นวรรค

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2549 00:55 น.

นักวิชาการจวก"ทักษิณ"บริหารประเทศแบบทุนนิยมกลายพันธุ์อุปถัมภ์ ผูกขาดอำนาจ สร้างนโยบายประชานิยม เผยใช้อานาจรัฐสกัดกั้นคู่แข่ง เปิดทางให้แก่พวกพ้อง ญาติมิตรและบริวาร ระบุทรท.เตรียมสืบทอดระบอบทุนนิยม ควบคุมการบริหารในสภาอย่างเบ็ดเสร็จเรียกร้องพลังประชาชนร่วมต้านอย่างถึงที่สุด

ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้สัมภาษณ์ในรายการคนในข่าว หัวข้อ ทักษิณเว้นวรรค ปลดชนวนวิกฤติการเมืองออกอากาศทาง NEWS 1 เมื่อเวลา 21.30 น.ที่ผานมา ว่า การบริหารประเทศตลอด 5 ปีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปรียบเสมือนการบริหารประเทศแบบทุนนิยมกลายพันธุ์อุปถัมภ์ ใช้ 4 อย่างในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ คือ 1.การซื้อเสียงภายใต้ระบบอุปถัมภ์ 2.การทุจริตในการลงคะแนนเสียง 3.การสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี มีประสิทธิภาพ

และ 4.การสร้างนโยบายประชานิยม และการใช้อำนาจรัฐในการสกัดกั้นคู่แข่ง ลักษณะการใช้อำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณ จะใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจ การตัดสินใจทุกเรื่องอยู่ที่ผู้นำ และกลุ่มคนที่ใกล้ชิดเพียงสองสามคน ถ้าสังเกตดู 4 ถึง 5 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจที่สำคัญจะเป็นอย่างนี้ตลอด ซึ่งอย่างนี้มันแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ยังมีการใช้ทรัพยากรและงบประมาณของประเทศอย่างฟุ่มเฟือยมาก เพื่อเพิ่มเติมและสร้างกระแสประชานิยมให้ดำรงอยู่ และก็สืบเนื่องต่อไป เห็นได้จากการสร้างโครงการประชานิยมออกมาอีกมากมาย จากนั้นก็ใช้อำนาจหน้าที่ที่ตัวเองมีอยู่จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้แก่พวกพ้อง ญาติมิตรและบริวารเป็นหลัก

ดังนั้นการถอยของพ.ต.ท.ทักษิณ มันไม่ได้ทำให้ระบอบนี้สูญสลายไป ระบอบนี้ยังคงอยู่ พรรคไทยรักไทยมีส.ส.ถึง 400 กว่าคน และอาจยิ่งมากกว่านั้น พรรคไทยรักไทยจึงสามารถควบคุมการบริหารในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จซึ่งถ้านำไปเปรียบเทียบกับโครงสร้างเมื่อ 5 ปีก่อน ในวันนี้ยิ่งแย่ ถ้าหากไม่พลังต่อต้านจากประชาสังคม

ผมคิดว่าหลังจากที่มีการชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนในครั้งนี้ ทำให้การตรวจสอบทุนนิยมอุปถัมภ์กลายพันธุ์เป็นการสร้างระบอบการตรวจสอบจากภาคประชาชน ทำให้ทุนนิยมกลายพันธุ์อุปถัมภ์อาจไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวการตรวจสอบจากภาคประชาชนดร.พิชาย กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์