ความเห็นนักวิชาการกรณีปฏิวัติหน้าจอ?


หลังผบ.เหล่าทัพ รวมทั้งผบ.ตร. ตบเท้าออกทีวี ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.

ส่งผลให้สถานการณ์ของรัฐบาลตึงเครียดขึ้นอีก

การส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลผ่านจอครั้งนี้ เจตนาเหล่าทัพคาดหวังผลระดับไหน มีความเห็นจากนักวิชาการหลายคนที่เกาะติดสถานการณ์การเมือง-การทหาร มาโดยตลอด

-สุรชาติ บำรุงสุข

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้นำเหล่าทัพต่างก็ตระหนักดีว่าการยึดอำนาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่หากยึดอำนาจจะสร้างปัญหามากขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์รัฐประหารหน้าจอ

ไม่ใช่รูปแบบใหม่ เพียงแต่เป็นการกดดันรัฐบาลในที่เปิด

จากสมัยก่อนกดดันโดยเรามองไม่เห็น ก็เปลี่ยนมากดดันกันตรงๆ ผ่านสื่อ เมื่อรัฐประหารยึดอำนาจไม่ได้ ผู้นำเหล่าทัพหันมาใช้แรงกดดันต่อรัฐบาล

นักวิชาการก็ตีโจทย์ไม่แตกเหมือนกัน ว่าท่าทีสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ ก็ต้องประเมินท่าทีของแต่ละฝ่ายทีละขั้น แบบวันต่อวัน

เมื่อทหารยืนยันสัญญาผ่านหน้าจอขนาดนี้ว่าไม่ยึดอำนาจ และเสนอรูปแบบกดดันรัฐบาลไปแล้วก็คงไม่มีการเคลื่อนกำลังหรือเกิดความรุนแรง เพราะม็อบรุนแรงกว่าเยอะอยู่แล้ว ดังนั้นย่อมมีสัญญาณอีกด้านออกมา

เดาท่าทีรัฐบาลไม่ออกว่าจะทำอย่างไร หรือถ้าไม่ทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครตอบได้ชัดเจน ต้องรอดูหน้าจอเช่นกันว่าใครจะออกทีวี ออกมาพูดว่าอย่างไร เพราะต่างฝ่ายก็อาศัยสื่อเป็นตัวกลางในการรับส่งสัญญาณการเมืองขณะนี้

ดูแล้วเหมือนการเมืองอเมริกันที่มีดีเบตกัน

-สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ท่าทีทหารในเชิงรูปแบบคงไม่ได้เรียกว่าการรัฐประหาร แต่เชิงเนื้อหาก็ถูกตั้งคำถามมาก เพราะโดยรูปแบบทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล

แต่คราวนี้ทหารกลับพร้อมใจกันออกมาแสดงท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาล ถือว่าเป็นปัญหา

เหตุผลจากเหตุการณ์ 7 ตุลา หากจะให้รัฐบาลลาออกจะไม่ยุติปัญหา เพราะความรุนแรงที่เกิดกับประชาชนยังไม่รู้ว่าความรุนแรงเกิดจากสาเหตุอะไร

คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้สำคัญที่จะให้เราเรียนรู้เรื่องความรุนแรงได้ดีขึ้น หากรอผลสอบออกมา เช่น ความรุนแรงเกิดจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นใคร ตำรวจไม่รู้วิธียิงหรือไม่ อาวุธมีประสิทธิภาพหรือไม่ แล้วเราจะเห็นปัญหา

ทหารรู้ดีว่าการยึดอำนาจไม่มีประโยชน์ ทหารไม่สามารถจัดการได้ดี สิ่งที่ทหารทำจึงไม่ใช่การยึดอำนาจแบบเดิม แต่เป็นการกดดันโดยพร้อมกัน ออกมาแถลงท่าทีผ่านสื่อ

ทำให้เชื่อได้ว่าการยึดอำนาจโดยมีรถถังออกมากุมอำนาจรัฐบาลน่าจะเกิดได้ยาก ยกเว้นนายกฯ จะสั่งปลดทหาร

ขณะนี้เราเห็นชัดว่าฐานสนับสนุนรัฐบาลหดแคบเหลือเพียงเสียงประชาชนที่เป็นฐานใหญ่จากการเลือกตั้ง

ทหารที่สนับสนุนรัฐบาลก็ถอยห่าง หากรัฐบาลอยู่ต่อก็ลำบาก

แต่นายกฯ จะลาออกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และการลาออกไม่ช่วยอะไร เหมือนตอนนายสมัคร สุนทรเวช ออกไปแล้วก็กลับมามีปัญหาอีก

หรือหากยุบสภาไปเฉยๆ เลือกตั้งกลับมาเหมือนเดิม สิ่งที่นายกฯ ตั้งส.ส.ร.3 ก็หลุดไปด้วย

-สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

สถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้คณะผู้นำทหารไม่อาจอยู่นิ่งเฉยต่อไปได้ เพราะความขัดแย้งในสังคมเริ่มขยายตัวและมีท่าทีรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บริเวณรัฐสภา วันที่ 7 ต.ค.

การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้อำนาจที่ชอบธรรม ไม่ได้ห่วงประชาชนที่แต่งตั้งตัวเองมาเป็นรัฐบาล อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ที่จะสร้างปรองดองและสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชาติ

ท่าทีและข้อเรียกร้องของผบ.เหล่าทัพนั้น เป็นการออกมาส่งสัญญาณและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เพราะความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลหมดไปแล้ว

รัฐบาลกลับนิ่งเฉย ยืนยันที่ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา จะยิ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้าในสังคมมากขึ้น และถ้าการเผชิญหน้ารุนแรงจนเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างเหลือคณานับ ในที่สุดกองทัพก็ต้องออกมารับผิดชอบในการยุติความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง

หมายความว่าถ้ารัฐบาลไม่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาระต่างๆ ก็จะถูกผลักมาให้กองทัพ

การที่คณะผู้นำหล่าทัพออกมาส่งสัญญาณเตือน และเรียกร้องความรับผิดชอบ เป็นแนวทางที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไปได้

ถ้านายกฯ ประกาศลาออก หรือยุบสภา กลไกตามระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ต่อไปได้ ความขัดแย้งจะผ่อนลง

แต่เมื่อรัฐบาลยังดึงดันที่จะอยู่บนอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ความขัดแย้งก็จะยิ่งขยายตัว จนนำไปสู่การเผชิญหน้าและเกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด

เมื่อถึงวันนั้นก็จะตกเป็นภาระของกองทัพที่จะออกมาดำเนินการ และทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

หมายถึงว่าทหารไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่าการยึดอำนาจรัฐบาล

มีความเป็นไปได้มากว่าสถานการณ์จากนี้จะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตของประเทศ

การดึงดันที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปของนายกฯ จะนำไปสู่จุดจบที่น่าอัปยศที่สุด

-ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การแสดงออกของผู้นำเหล่าทัพในวันที่ 16 ต.ค. ยังไม่ถือว่าเป็นการปฏิวัติผ่านจอ

หากติดตามจากคำให้สัมภาษณ์โดยละเอียด ผู้นำเหล่าทัพก็ปฏิเสธชัดเจนในเรื่องของการยึดอำนาจ การปฏิวัติ จากคำถาม-คำตอบแล้วก็เป็นการให้สัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ ที่เกิดคำถามขึ้นในสังคม

แต่หากผบ.เหล่าทัพ ออกอากาศพร้อมกันและแถลงผ่านทางททบ.5 ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นสำคัญคือ ข้อเรียกร้องของผบ.ทบ.ที่ต้องการให้นายกฯ ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การที่นายสมชาย ยังยืนยันว่าจะรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.ก่อน ในแง่ที่มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้แก๊สน้ำตาเคลียร์พื้นที่หน้ารัฐสภาเพื่อเปิดทางเข้าออกนั้น รัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้แล้วว่าเป็นคนสั่งการในการเคลียร์พื้นที่

ที่สำคัญเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นช่วงเช้า มีคนบาดเจ็บขาแขนขาด เหตุการณ์ในช่วงเย็นและช่วงค่ำก็ไม่น่าเชื่อจะเกิดได้ รัฐบาลควรหาทางยุติหรือยับยั้งไว้ก่อน แต่กลับไม่มีใครรับผิดชอบจนทำให้มีคนบาดเจ็บจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ผลสอบสวนข้อเท็จจริงจะออกมาอย่างไร ใครเป็นสั่ง มีใครเกี่ยวข้องบ้าง คงต้องปล่อยให้กระบวนการสอบสวนดำเนินต่อไป

แต่ความรับผิดชอบของนายสมชาย ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับผลการสอบสวน จะตั้งเงื่อนไขขณะที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตไม่ได้

ผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ ยึดอำนาจ เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหา และสังคมไทยก็ไม่ควรเรียกร้องให้ทหารเข้ามาปฏิวัติ เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่าการปฏิวัติแก้ปัญหาไม่ได้

ขณะนี้นายกฯ เป็นผู้ถือกุญแจดอกสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดคือควรประกาศยุบสภา เพื่อให้วิถีตามระบอบประชาธิปไตยเดินต่อไปได้

ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.ทำให้รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรมไปมาก การที่รัฐบาลจะอยู่ในอำนาจต่อไปได้นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ลำบากมาก อย่างไรก็อยู่ได้ไม่นานแต่จะจบอย่างไรเท่านั้น

ที่นายกฯ ระบุว่าต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อรับผิดชอบงานพระราชพิธีฯ ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาอ้าง เพราะไม่ว่านายกฯ จะลาออกหรือยุบสภาก็ทำหน้าที่ต่อไปได้ในฐานะรัฐบาลรักษาการ

ไม่อยากเห็นจุดจบเรื่องนี้ด้วยการที่รัฐบาลถูกปฏิวัติหรือนองเลือด

นายกฯ ควรเลือกวิธีการที่ดีกว่า ภายใต้กติกาตามระบอบประชาธิปไตย

การยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์