ความขัดแย้ง-ทิฐิ-ความซับซ้อน ตัวสกัดกั้นปฏิรูปการเมือง

ดูเหมือน "สุจิต บุญบงการ" จะรู้ชะตากรรมในการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพยกเครื่องสังคมผ่านคณะกรรมการอิสระเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองว่า "ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ"

โดยเฉพาะการรับฟังความเห็นผู้คนในห้วงยามหลังการประกาศรบกลางเมือง

แม้ตอนนี้ผู้คนจะเริ่มลดปืนลงจากบ่า ซึ่งเป็นสัญญาณการ "พักรบ" ทว่า "ทิฐิ" อันเกิดจากความเห็นต่างก็ก่อชนวนให้เกิดภาวะ "แค้นฝังหุ่น"

จึงเป็นการยากที่เวลาหลังจากนี้ 8 เดือน จะทำให้ผู้คนทุกภาคส่วนหันหน้ามาร่วมคิดร่วมสร้างเพื่อเดินไปสู่ทางออกของสังคมดังเช่นบรรยากาศที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2539 อันเป็นที่มาของขบวนการชูธงเขียวจนนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ 2540

ไม่ใช่เรื่องแปลกหาก "สุจิต" จะเอื้อนเอ่ยด้วยความหนักใจ ภายหลังรับเป็นประธานคณะกรรมการอิสระฯ ว่า "ปัจจัยทางการเมืองซับซ้อนหลายอย่าง ผลสำเร็จจะเป็นอย่างไรยังไม่อยากคิด การแก้ปัญหาการเมืองไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่ต้องกระตุ้นแก้ไขเรื่อยๆ ไม่สามารถแก้ไขได้วันนี้ พรุ่งนี้ ไม่เหมือนยารักษาโรคที่กินวันนี้แล้วหาย"

ความซับซ้อนทางการเมืองดังว่า ไม่ได้เกิดจากความรัก-ความชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากเหลื่อมล้ำทางสังคมอันมีฐานมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ในการจำแนกผู้คนออกเป็น "สีเหลือง-สีแดง"

ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงที่ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลจะสามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเร็ววัน โดยเฉพาะในเวลาที่ประชาชนเสพติดนโยบายประชานิยมทั่วทุกหย่อมหญ้า และ "สุจิต" ก็ยอมรับว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ใช่ "ยาวิเศษ" ที่จะแก้ปัญหาความซับซ้อนทางการเมืองและสังคมได้

ดังนั้น การรวบรวมประเด็นปัญหาทางสังคมก่อนนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 3 ตามสูตร 8 ต่อ 3 ต่อ 8 จึงอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของการปฏิรูปการเมือง แต่เป็นเพียงบันไดขั้นหนึ่ง ที่จะพัฒนาประชาธิปไตยเท่านั้น

แม้รัฐบาลและสถาบันพระปกเกล้าจะ "คลำทางถูก" ด้วยการคิดอ่านตั้งคณะกรรมการอิสระฯขึ้นมาศึกษาปัญหาการเมือง-สังคม ก่อนนำร่องไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหม่

แต่ทว่าบันไดประชาธิปไตยขั้นนี้ อาจจะติดปัญหา "หักโค่นกลางคัน" เพราะตัวแทนของ "สีแดง" ที่อยู่ในภาคนักการเมืองไม่ยอมรับกระบวนการตั้งแต่ต้น โดยมองว่าการเดินเครื่องตามบทละครนี้ในช่วงที่ฟ้าอยู่ข้างพรรคประชาธิปัตย์กระบวนการปฏิรูปการเมืองอาจเดินตามอีหรอบเดิมที่เคยเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

ซ้ำร้ายภาคส่วนนักวิชาการที่ถือเป็น "พลังสมอง" ในการขับเคลื่อนสังคมก็แตกกันจนไม่เหลือชิ้นดี

ยิ่งไปกว่านั้นหากรัฐบาลเดินเครื่องเอาผิดกับแกนนำคนเสื้อเหลืองในฐานความผิดต่างๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่า คนเสื้อเหลืองอาจบอยคอตไม่ขอจับมือร่วมสร้างการเมืองใหม่ในรอบนี้

การเดินเครื่องปฏิรูปการเมืองในช่วงตั้งต้น จึงอาจเกิดปัญหา "ไม่มีใครร่วม" ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมรอบใหม่ไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆ

ดังนั้น ผู้ประกาศตัวเข้าร่วมกับการยกเครื่องสังคมรอบนี้ อาจจะเป็นคนกลุ่มเดิมที่เคยเห็นพ้องกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เท่านั้น

ภาระอันหนักอึ้งจึงตกอยู่ที่ "สุจิต" ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ว่าจะดึงพลังทางสังคมเข้ามาร่วมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะห้วงยามนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และรัฐบาลได้ตีกรรเชียงหนีปัญหาไปอย่างลอยตัว

งานนี้...จึงเป็นการพิสูจน์ฝีมือและบารมีของ "สุจิต" ล้วนๆ ว่าจะเข็นวาระปฏิรูปสังคมเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมยังไม่สมานแผลได้หรือไม่

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์