คลังชั่งใจขยายเวลา5มาตรการน้ำ-ไฟ-รถเมล์-รถไฟฟรี เตรียมเคาะยืด2หรือ5เดือน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคมว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีข้อเสียของ 5 มาตรการ 6 เดือนช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ว่า สมควรที่จะขยายเวลาต่อไปหรือไม่ โดยมีเงื่อนไขว่า จะขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือน ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2552 หรือขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือน เพื่อให้ถึงสิ้นปี 2552 โดยจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการลดภาระให้กับประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องดูผลกระทบต่องบประมาณด้วย คาดว่าภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้จะมีข้อสรุป


"ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบต่างๆ ว่า หากยกเลิกทั้งหมด ผลกระทบกับประชาชนจะเป็นอย่างไร หรือขยายเวลาต่อไปทั้งหมด ผลจะเป็นอย่างไร หรือยกเลิกบางมาตรการ อะไรที่ควรจะอยู่ต่อหรือจะยกเลิกไป และหากจะขยายออกไปควรจะเป็น 2 เดือน เพื่อให้อยู่ในงบประมาณ 2552 หรือหากจะขยายไปถึงสิ้นปี ก็ต้องดูว่าภาระงบประมาณส่วนนี้จะมาจากไหน เพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ในงบประมาณปี 2553"นายกรณ์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกรณีที่จะต้องขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีกว่า ถ้าขยายเวลาออกไป 2 เดือน จะยังอยู่ในงบประมาณ 2552 หรือให้ถึงสิ้นปี ก็จะเป็นภาระต่องบประมาณ 12,000 ล้านบาท และคาดว่า เศรษฐกิจในช่วงสิ้นปีจะเริ่มดี ทำให้ผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนน่าจะลดลง

ขณะที่นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

กล่าวว่า ประเด็นสำคัญว่า จะขยายเวลา 5 มาตรการออกไปอีกกี่เดือนขึ้นกับงบประมาณกลางปีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาว่า ที่เหลือจากการจัดสรรให้แต่ละหน่วยงานแล้วเหลืองบกลางปีจำนวนเท่าใด และสามารถรองรับการขยายเวลามาตรการออกไปได้กี่เดือน ซึ่งต้องรอการจัดสรรงบกลางปีให้เสร็จก่อน


--------------------------

ทั้งนี้ นโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน ที่จะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม ประกอบไปด้วย

1) มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน โดยรัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำสำหรับบผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัยและผู้เช่าที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณการใช้น้ำระหว่าง 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณการใช้ที่ตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำที่ รับบริการจากการประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. (ระบบประปาเทศพาณิชย์ ระบบประปาหมู่บ้าน และระบบประปาที่ดำเนินการในลักษณะพาณิชย์)
สำหรับผู้ใช้น้ำไม่เกิน 30 ยูนิต ซึ่งจะครอบคลุมผู้ใช้น้ำประปาทั้งในเขตนครหลวงและเขตภูมิภาค 8.6 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5,840 ล้านบาท


2) มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน โดยรัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน
จากเดิมที่การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วย ใช้ฟรี และ 80-150 หน่วย จ่ายครึ่งราคา ช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้ 8.8 ล้านราย ทั้งในเขตนครหลวงและภูมิภาค โดยรัฐใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,810 ล้านบาท


3) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง โดยรัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถประจำทางของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ประเภทรถโดยสารธรรมดาที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 800 คันใน 73 เส้นทาง  ครอบคลุมการให้บริการประชาชน 400,000 แสนคนต่อวัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 650 ล้านบาท
 
4) มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 โดยรัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวน และรถไฟชั้น 3 เชิงพาณิชย์ จำนวน 8 ขบวน ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท
 
5) ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน

อนึ่ง ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552  มีมติต่ออายุและปรับปรุงรายละเอียด มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน 5 มาตรการ ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในเดือนมกราคม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์