ครม.ขี้เหร่-ผิดฝาผิดตัว แย่เสมอไปจริงหรือ?

ในหนังสือ "โลกนี้คือละคร" ที่เขียนโดย "วิษณุ เครืองาม"  อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยทำงานในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี กับรัฐบาล 10 ชุด นายกฯ 7 คนนั้น


มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ "วิษณุ" เขียนถึงรัฐมนตรีที่ถูกตัดสินจากภาพภายนอกว่า "ผิดฝาผิดตัว" หรือ "ขี้เหร่" ไว้อย่างน่าสนใจ


ซึ่งปรากฏอยู่ในบทที่มีชื่อว่า "เป็นรัฐมนตรีนี้แสนยาก"  และมีเนื้อความว่า


"คนมักวาดภาพว่ารัฐมนตรีควรรู้เรื่องของกระทรวงที่ตนจะไปอยู่ เช่นเคยเป็นข้าราชการกระทรวงนั้นมาก่อน หรือสำเร็จการศึกษาในสาขาที่ตรงกับภารกิจของกระทรวงนั้น เช่น รัฐมนตรียุติธรรมควรเป็นนักกฎหมายตำแหน่งอดีตผู้พิพากษา อดีตประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีสาธารณสุขควรเป็นหมอ รัฐมนตรีคลังควรเป็นนายธนาคาร รัฐมนตรีต่างประเทศควรเป็นอดีตทูต หรือแม้แต่รัฐมนตรีกลาโหมควรเป็นอดีตทหาร


"ความจริงข้อนี้ไม่ใช่คุณสมบัติตามกฎหมายหรือแม้แต่ในทางการเมือง เพราะการเป็นรัฐมนตรีคือการเป็นนักบริหาร รู้จักตัดสินใจ รู้จักใช้คนซึ่งมีอยู่มากทั้งในและนอกกระทรวง และสามารถเรียนรู้งานได้เร็ว โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียนมาในสาขานั้นๆ บางทีการเล่าเรียนหรือทำงานในสาขานั้นๆ มาแล้วเสียอีกที่ทำให้มองภาพอะไรต่ออะไรเบลอๆ อย่างที่พูดกันว่ามีแต่ inside-out ไม่มี outside-in หรือไม่ก็ถูกบดบังด้วยความเคยชินเก่าๆ บ้าง เกรงจะลูบหน้าปะจมูกบ้าง จึงยากแก่การนำการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนากระทรวง แต่ถ้าได้คุณสมบัติดีเลิศทั้งหมดไว้ย่อมเป็นการดีคือเคยทำงานด้านนั้นมาด้วย เป็นนักบริหารด้วย ตัดสินใจไวด้วย รู้จักใช้คนด้วย อย่างนี้เป็นอันฮ่อแรด! แต่จะหาได้สักกี่คนที่เพียบพร้อมเช่นนี้


"อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า เราเคยมีรัฐมนตรีต่างประเทศที่ดีที่สุดที่ไม่ใช่นักการทูต แต่มีลักษณะของผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี มีหัวทางการค้า มีนิสัยประนีประนอม ละมุนละม่อม และรู้จักใช้คนผสมผสานกัน ประธานศาลฎีกาคนหนึ่งเคยบอกว่ารัฐมนตรียุติธรรมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาไม่ใช่อดีตประธานศาลฎีกา ไม่ใช่นักกฎหมาย เพราะเขาไม่ได้เอามาตัดสินคดี แต่เอามาทำให้วงการยุติธรรมเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพจึงต้องการคนที่กระตือรือร้นในการพัฒนากิจการศาล เช่น รู้จักหางบประมาณมาให้ รู้จักจัดสวัสดิการให้ข้าราชการ เป็นต้น


"สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอนแรกผู้คนร้องกันลั่นกระทรวงเพราะเคยมีรัฐมนตรีเป็นหมอมานาน เช่นคุณพระบำราศนราดูร ใครๆ จึงพากันประชดเรียกท่านรัฐมนตรีว่า "หมอเสริฐ" แต่ปรากฏว่าหมอเสริฐคนนี้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่กระทรวงสาธารณสุขเป็นอันมาก อย่างน้อยก็ในทางวัตถุ แทบจะกล่าวได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขในยุคนั้น บรรดาหมอทั้งหลายพลอยใหญ่โตตามบารมีหมอเสริฐไปด้วย งบประมาณก็ไหลมาเทมา พวกหมอเจริญก้าวหน้า เกิดโรงพยาบาลขึ้นทั่วไปในชนบท


"เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นเมื่อคุณสะอาด ปิยวรรณ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม วันที่ท่านพ้นจากตำแหน่งขุนศาลตุลาการถึงกับจัดเลี้ยงอำลาอาลัยและขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่สร้างสรรค์ความเจริญแก่กระทรวงยุติธรรมเป็นอันมาก ผู้พิพากษาได้บ้านประจำตำแหน่ง และแค่ระดับหัวหน้าศาลก็ขอสายสะพายได้ในครั้งนั้น


"ในทางตรงกันข้ามขุนศาลตุลาการท่านเคยแอบกระซิบกระซาบเหมือนกันว่าพอมีรัฐมนตรียุติธรรมเป็นนักกฎหมาย เป็นอดีตประธานศาลฎีกา กลับมีแต่เรื่องปวดเศียรเวียนเกล้า ผู้พิพากษาประท้วงบ้าง เดินขบวนบ้าง บางทีไม่ยอมพัฒนาอะไร เพราะตัวท่านเองเคยลำบากมาแล้วยังทนได้เลย แม้แต่ที่กระทรวงการต่างประเทศเองเคยบ่นเมื่ออดีตทูตมาเป็นรัฐมนตรี


"คงเข้าทำนอง "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" สุดท้ายทั้งงูทั้งไก่ก็เซื่องๆ ซึมๆ จ๋อยไปทั้งคู่"


"วิษณุ" เขียนต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ก่อนหน้าที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำไป แต่เมื่ออ่านแล้วก็ทำให้นึกถึงรัฐมนตรีหลายท่านใน "ครม.ยิ่งลักษณ์ 1"


ซึ่งหนังสือ "โลกนี้คือละคร" ของเนติบริกรมือเก๋า อาจช่วยสร้างเสริมกำลังใจให้แก่บรรดาท่านๆ เหล่านั้นได้บ้าง

โดยมีข้อแม้สุดท้ายว่า พวกท่านต้อง "ทำงานเป็น"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์