ครป.เสนอ 6 มาตรการปลดล็อกฯ อัดม็อบ PTV อย่าทำเป็นหน้าเหลี่ยม

ครป.เสนอ 6 มาตรการปลดล็อกก่อนการเมืองเข้าสู่ทางตัน อัดม็อบ PTV อย่าทำตัวเป็นบอร์ดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม


ที่สำนักงานคณะกรรมการณรงค์เพื่อประชิปไตย(ครป.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. เปิดแถลงถึงข้อเสนอกับทุกฝ่ายเพื่อเร่งฝ่าวิกฤติการเมืองไทย โดยระบุว่า การชุมนุมของแกนนำสถานีโทรทัศน์ PTV นั้น เท่าที่ติดตามสาระของการปราศรัยและผู้ขึ้นปราศรัยบนเวที ตอกย้ำชัดเจนว่าเป็นงานการเมืองของพรรคไทยรักไทย

ซึ่งแน่นอนว่า พตท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องมีส่วนรู้เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและต้องการให้เกิดความสงบสุขภายในประเทศนั้นจะต้องยุติการกระทำและการสนับสนุนการชุมนุมดังกล่าว เพราะอาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ในที่สุด


"อยากฝากบอกไปยังผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ PTV


ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดชุมนุม อย่าทำตนเป็น บอดี้กาดร์หน้าเหลี่ยม(ภาคสนามหลวง) ปกป้องฟอกผิด พตท.ทักษิณ โดยไม่เคารพต่อการตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรมเพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขท้าทายให้ประชาชนฝ่ายตรงกันข้ามอยากชุมนุมเคลื่อนไหวบ้าง และอย่าเอาประชาชนผู้บริสุทธิ์มาเป็นตัวประกันทางการเมืองเพื่อปูทางให้ พตท.ทักษิณ ชินวัตรกลับมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก เรื่องนี้หากกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องออกมายืนยันอย่างเป็นทางการอย่าปากว่าตาขยิบ" นายสุริยะใส กล่าว

เลขาธิการ ครป. กล่าวต่อว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในขณะนี้ คมช.และรัฐบาลจะต้องไม่ประเมินต่ำหรือมองข้ามอย่างเด็ดขาด เพราะเงื่อนไขสำคัญของการชุมนุมส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าในการสะสางความผิดของระบอบบทักษิณและความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาล ส่งผลให้บรรยากาศอึมครึมไม่มีทางออกจนประชาชนต้องเลือกใช้แนวทางการชุมนุม ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งสร้างผลงานและไวต่อการแก้ปัญหาของประชาชนมากกว่านี้

นอกจากนี้รัฐบาลควรจำแนกกลุ่มชุมนุมผู้บริสุทธิ์ที่เดือดร้อนจากปัญหาปากท้องออกจากกลุ่ม PTV ก่อนที่กลุ่มต่างๆ จะแปรขบวนเข้าร่วมกับการชุมนุมของพรรคไทยรักไทย และเจ้าหน้าที่จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงหรือยั่วยุจนเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปะทะหรือเกิดความรุนแรงขึ้น เลขาธิการ ครป.กล่าว


นายสุริยะใส ยังเรียกร้องให้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง


เพื่อไม่ให้สถานการณ์อึมครึมทางการเมืองถูกลากยาวออกไปโดยไม่มีกำหนด จนเปิดช่องให้พรรคการเมืองฉวยโอกาสใช้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์จัดตั้งและปลุกระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่ คมช. ควรจะประชุมหารือร่วมกับ รัฐบาล สนช.และ สสร.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งและจัดทำ ปฏิทินคืนอำนาจ ให้ประชาชนโดยเร็ว หากคำนวณกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญบวกกับการตราพราะกฤษฎีกาเลือกตั้งทั่วไป น่าจะเป็นช่วงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน คือวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2550 จะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด

นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า คมช.ต้องทบทวนและยกเลิกคำสั่ง คปค.ที่ 15 และ 27 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมือง โดยควร ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม เช่น การเตรียมการเลือกตั้ง การกำหนดนโยบายของพรรค หรือการเปิดตัวผู้สมัครในนามพรรค เพื่อลดแรงกดดันหรือความอึดอัดของกลุ่มการเมืองที่ถุกบังคับให้เว้นวรรคทางการเมือง สสร.ต้องเร่งส่งสัญญาณหรือทำความชัดเจนให้ปรากฎว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาสาระก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540

โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่เน้นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน และ คมช.ต้องประกาศให้เป็นสัญญาประชาคมว่าหากประชามติไม่ผ่านจะ นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาประกาศใช้ทั้งฉบับ และปิดเงื่อนไขหรือเร่งจัดการประเด็นร้อนในรัฐธรรมนูญให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์