ครป.จี้ คมช.เรียก.หญิงอ้อ-เนวิน-คงศักดิ์ แจงท่อน้ำเลี้ยง 10 ธ.ค.

เตือน คมช.ระวังการยั่วยุจากลิ่วล้อ ......


สุริยะใส เตือน คมช.ระวังการยั่วยุจากลิ่วล้อ ระบอบทักษิณ ติงอย่าใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม 10 ธ.ค.เชื่อ กลุ่มอำนาจเก่า ยังส่งท่อน้ำเลี้ยง เตรียมผสมโรงพลังบริสุทธิ์แน่ จี้ คมช.เรียก คุณหญิงอ้อ-เนวิน-คงศักดิ์ แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน

วันนี้ (3 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มต้าน คมช.ในวันที่ 10 ธันวาคม ว่า ถ้าดูจากสถานการณ์ทั่วไปยังไม่สุกงอม คนส่วนใหญ่ทั่วไปแม้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็ยังอยากเห็นรัฐบาลเร่งพิสูจน์ผลงาน และนอกจากนี้ การชุมนุม 10 ธันวาคม เริ่มปรากฏว่า แกนนำบางคนโยงกับกลุ่มเสียประโยชน์ ทำให้มีปัญหาความชอบธรรมในการนำ ทำให้มวลชนคลางแคลงใจ จนที่ผ่านมาประชาชนยังเข้าร่วมชุมนุมไม่มาก จึงเป็นไปยากที่จะมีคนเข้าร่วมเป็นหมื่นอย่างที่ประกาศกัน ถ้ามีจำนวนมากจริงก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติพอสมควร ว่า มีน้ำเลี้ยง หรือแรงหนุนจากอำนาจเก่าเข้ามาผสมโรงหรือไม่


ส่วนที่ คมช.จะเรียกแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวเข้าพบนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่คงห้ามเคลื่อนไหวหรือให้กลุ่มต่างๆ ยุติการชุมนุมเคลื่อนไหวไม่ได้ คมช.ต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ละเอียด และไม่ใช้ความรุนแรง ตราบใดที่การชุมนุมยังอยู่ในแนวทางสันติวิธี และต้องไม่ลืมว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้สลับซับซ้อนกว่าที่คิด ซึ่งอาจมีกำลังจัดตั้งเข้ามาแทรก และปูทางให้มีการเตรียมผสมโรงของกลุ่มเสียประโยชน์จากระบอบทักษิณตลอดเวลา ฉะนั้น ถ้า คมช.ใช้ความรุนแรงอาจเข้าทางคนบางกลุ่ม

อยากฝากไปถึงแกนนำของแต่ละกลุ่มด้วยว่า จะต้องระมัดระวังให้มาก โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เพราะการนัดหมายชุมนุมทำได้ง่าย แต่การดูแลรับผิดชอบผู้ชุมนุมเป็นเรื่องยาก และหลักการชุมนุมไม่มีอะไรสำคัญกว่าการรักษาชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุมแกนนำจะต้องระมัดระวัง และมีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่ดี โดยเฉพาะการป้องกันกลุ่มที่อาจแฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ หรือกรณีมือที่สาม ที่พยายามจุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายเร็วที่สุดก่อนที่ระบอบทักษิณจะถูกเช็กบิล จากรัฐบาล และ คมช.นอกจากนี้ ประชาชนที่รักประชาธิปไตยจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และระมัดระวังในการเข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ เพราะอาจมีการแทรกแซงปลุกปั่นจากกลุ่มอำนาจเก่า นายสุริยะใส กล่าว


แกนนำดังกล่าวได้รับค่าจ้าง .....


นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุจากแกนนำเครือข่ายประชาชนที่สนับสนุนระบอบทักษิณ ว่า แกนนำดังกล่าวได้รับค่าจ้าง และการสนับสนุนจากแกนนำ และอดีตรัฐมนตรีหลายคนในพรรคไทยรักไทย ให้จัดตั้งกลุ่มมวลชนเพื่อป่วนเวทีพันธมิตรฯ และปิดล้อมสำนักงานหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และผู้จัดการ นั้น สะท้อนให้เห็นอันตรายอีกด้านหนึ่งของระบอบทักษิณและบริวารที่พยายามจัดตั้งกองกำลังมวลชนในหลายๆ พื้นที่ เพื่อสร้างสถานการณ์การเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด คมช.จะต้องนำข้อมูล หรือพยานหลักฐานมาเปิดเผยด้วยว่าใครมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร เพราะประชาชนผู้บริสุทธิ์อาจตกเป็นแพะในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้

อย่างไรก็ตาม คมช.จะต้องจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มกองกำลังจัดตั้งเหล่านี้เป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ขยายตัว หรือออกมาสร้างสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ขอขอเรียกร้องให้คมช.เรียกคุณหญิงพจมาน-เนวิน-พล.อ.อ.คงศักดิ์แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน


ที่ผ่านมา พิสูจน์ชัดว่า พรรคไทยรักไทย เล่นบทตีบทสองหน้า หรือปากว่าตาขยิบ โดยบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับคลื่นใต้น้ำ แต่ในขณะเดียวกัน แกนนำบางคนก็ทยอยส่งน้ำเลี้ยงตลอดเวลา เลขาธิการ ครป.กล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป.กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกกฎอัยการศึก นั้น ครป.เชื่อว่า จะมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลุ่มปัญหาต่างๆ มากขึ้น เช่น เครือข่ายหนี้สิน เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายกรรมกรผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายคนจนในเมืองและในชนบท เครือข่ายต่อต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และบางกรณีเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือเป็นปัญหาปากท้อง


จะต้องมีมาตรการรับมือที่เข้าถึงและเข้าใจ...........

การเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเกิดตามพื้นฐานของความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ถือว่าเป็นจุดอ่อนไหวที่สุดของทุกรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะต้องมีมาตรการรับมือที่เข้าถึงและเข้าใจ ไม่เช่นนั้น กลุ่มต่างๆ เหล่านี้อาจกลายสภาพเป็นคลื่นบนน้ำหรือไหลรวมเป็นแรงต้านต่อ คมช.และรัฐบาล ได้ในที่สุด

คมช.และรัฐบาล ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนย่อมมีสิทธิชุมนุมเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทุกรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา และการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ จุดมุ่งหมายเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา ยังไม่ได้ถึงขั้นล้มล้างรัฐบาล หรือ คมช. นายสุริยะใส กล่าว


รัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีกลไก หรือหน่วยงานที่ชัดเจน ..........

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ครป.เห็นว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้กับประชาชนกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ได้ทันท่วงที แต่ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีกลไก หรือหน่วยงานที่ชัดเจน เพื่อทำหน้าที่บูรณาการกลไกทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้

จึงขอเสนอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งพิเศษเพื่อแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นปัญหาร้อน และปัญหาระดับนโยบาย โดยมีอำนาจหน้าที่ทั้งบูรณาการและสั่งการหน่วยงานรัฐที่สังกัดกระทรวงต่างๆ หรือจัดตั้ง กลุ่ม ครม.ที่รับผิดชอบปัญหาคนจน เข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งนายกฯอาจนั่งเป็นประธานเอง เพราะการปล่อยให้กระทรวงต่างๆ ไปรับผิดชอบ และแก้ปัญหาตามลำพังนั้นไม่เคยเป็นจริง เพราะระบบราชการนอกจากล่าช้าแล้ว ยังมักผลักภาระไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบแทน จนทำให้ปัญหาคนจนเรื้อรังมานาน


ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่


สำหรับกรณีที่ คมช.ยกเลิกกฎอัยการศึกในเบื้องต้น 41จังหวัด ส่วนอีก 35 จังหวัดนอกเหนือจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่ยกเลิกควรจะแถลงชี้แจงข้อมูลกับประชาชนได้รับทราบ ถึงเหตุผลที่คงกฎอัยการศึกไว้ และควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และหาช่วงเวลาที่ควรยกเลิกกฎอัยการศึกต่อไปโดยเร็ว และ ครป.ขอเสนอให้ คมช.ใช้มาตรการอื่น 5 ประการ ทดแทนการบังคับใช้กฎอัยการศึกในภาพรวมทั้งประเทศ คือ 1.บังคับใช้กฎหมายอื่นแทนอย่างเข้มข้น และให้ตำรวจเข้ามามีบทบาทในการควบคุมฝูงชน เพราะตำรวจจะมีประสบการณ์มากกว่าทหาร 2.เปิดเกมรุกทางยุทธศาสตร์เพื่อแย่งชิงมวลชน เช่น เร่งสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม

3.สร้างกระบวนการสื่อสารเชิงรุกแบบสองทาง โดยภาครัฐควรจัดให้มีเวทีรับฟังและประมวลข้อเสนอแนะ หรือวาระประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว 4.แยกการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เกิดจากปัญหาพื้นฐาน หรือมีความเดือดร้อนจริง ออกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มจัดตั้งของกลุ่มอำนาจเก่าที่เสียประโยชน์ และพยายามผสมโรง หรือฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ตลอดเวลา 5.ตัดน้ำเลี้ยงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย กับลิ่วล้อและเครือข่าย


จะรู้ได้อย่างไรว่าสถานการณ์ต่อต้าน คมช.ยังไม่สุกงอม .....


เมื่อถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานการณ์ต่อต้าน คมช.ยังไม่สุกงอม นายสุริยะใส กล่าวว่า ต้องดูเงื่อนไขในการทำงานของรัฐบาล และ คมช.คือ 1.มีสัญญาณว่า คมช.คิดสืบทอดอำนาจ 2.คมช.มีผลประโยชน์ทับซ้อน 3.ภาพลักษณ์ โดยเฉพาะความจำเป็นในการรักษาต้นทุนทางสังคมของนายกฯและประธาน คมช.ซึ่งจะต้องรักษาคุณธรรม และจริยธรรมไว้

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ตนได้มีการหารือกับพันธมิตรฯกับองค์กรภาคประชาชนจะจัดประเมินผลงานของรัฐบาล และ คมช.ในรอบ 3 เดือน โดยจะเชิญ 5 อดีตแกนนำพันธมิตรฯเข้าร่วม รวมทั้งสถาบันนักวิชาการอีกหลายแห่ง โดยจัดงานในวันที่ 19 ธ.ค.ที่หอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ เพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลงานของรัฐบาล







เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์