คดีประวัติศาสตร์ ยุบพรรค

บ่ายวันที่ 30 พ.ค. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ


ที่มี นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะตุลาการฯ จะอ่าน คำวินิจฉัยกลางหรือคำตัดสิน ในคดียุบ 5 พรรคการเมือง คือ

พรรคไทยรักไทย
พรรคประชาธิปัตย์
พรรคพัฒนาชาติไทย
พรรคแผ่นดินไทย และ
พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า


ไม่ว่าผลแห่งคดีประวัติศาสตร์นี้จะเป็นไปในทางใดย่อมส่งผลสะเทือนในทางการเมือง


อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ทีมข่าวหน้าหนึ่ง ขอลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาเกี่ยวกับคดีนี้มานำเสนอเป็นการเรียกน้ำย่อยคอการเมืองทั้งหลายก่อนถึงวันพิพากษาในอีก 2 วันข้างหน้า

สายลมเย็นปลายฤดูหนาวของเช้าวันที่ 24 ก.พ. 49 แม้จะสร้างความสดชื่นให้กับผู้คนทั่วหน้า แต่ก็มีคนบางกลุ่มบางพวกที่หนาวไปถึงขั้วหัวใจ เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐ มนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ในขณะนั้น)

ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เม.ย. ถือ นั่น เท่ากับเป็นประกาศิตให้บรรดาผู้ที่เรียกตัวเองว่า "ผู้ทรงเกียรติ" ต้องยุติบทบาทบนหอคอยงาช้าง กลับคืนสู่สามัญอีกครั้ง


ช่วงเวลานั้นไม่มีใครคิดหรอกว่า


อีกไม่ กี่เวลาข้างหน้าจะเกิด "คดีประวัติศาสตร์" ที่ต้องจารึกไว้ในหน้าการเมืองให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา ถึงการกระทำของนักการเมืองรุ่นเก่า ว่าควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่างหรือไม่

พรรคไทยรักไทยนั้นมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นจะสามารถกำชัยชนะไว้ในมือได้อีกครั้งเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงินต่างอยู่ในกำมือทั้งสิ้น ประกอบกับฐานเสียงที่มีอยู่ทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้เพียงภาคเดียวที่ยังเจาะไม่เข้า


แต่ความคิดเช่นนั้นใช่ว่าจะเป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วางแผนไว้


เมื่อพรรคฝ่ายค้านอันประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ได้เห็นดีเห็นงามกับการประกาศยุบสภาครั้งนี้

ทั้ง 3 พรรคประสานเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นการหนีเอาตัวรอดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะไม่ต้องถูกอภิปรายทั่วไปในสภาถึงข้อกล่าวหาการขาย หุ้นชินคอร์ป ให้กับ กลุ่มเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็แอ่นอกบอกว่าพร้อมที่จะให้ฝ่ายค้านอภิปรายแต่พอเอาจริงเข้าก็ "ใจไม่ถึง"

3 พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นก็เลยมีความเห็นร่วมกันว่า เมื่อเป็นเช่นนี้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เม.ย. ถ้าส่งผู้สมัครลงแข่งขัน ก็จะกลายเป็นดาราประกอบฉากหรือเป็นบันไดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาครองอำนาจอย่างถูกต้องอีกครั้ง


ดังนั้นปฏิบัติการ "บอยคอต" ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งจึงเกิดขึ้น


ปล่อยให้พรรคไทยรักไทยลงสมัครเพียงพรรคเดียว แต่ทั้ง 3 พรรคคงลืมไปว่า พรรคการเมืองไทยนั้นไม่ได้มีเพียง แค่ 4 พรรคใหญ่ เพราะตามทะเบียนพรรค

การเมืองยังมีพรรคการเมืองเล็ก ๆ อีกกว่า 40 พรรคที่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เมื่อ 3 พรรคฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัคร พรรคปลาซิวปลาสร้อย ก็ได้โอกาสออกลีลา โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ใครก็ทราบกันดีกว่าเป็นฐานของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัคร และคนภาคใต้ก็ไม่เลือกพรรคไทยรัก ไทย แล้วใครที่จะได้ประโยชน์ แน่นอนว่ามันเป็น จังหวะอันดีของผู้สมัคร ไม้ประดับที่อาจมีโอกาสเข้ามาเหยียบสภาอันทรงเกียรติกับเขาบ้าง

ถึงแม้ว่า 3 พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นจะมีมติบอยคอตการเลือกตั้งดังกล่าว แต่ก็ไม่ไว้ใจการทำหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้ประกาศเกาะติดการเลือกตั้งในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว เนื่องจากผู้สมัครรายนั้น จะต้องได้เสียงเกินร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงจะได้รับเลือก


เช้าวันที่ 12 มี.ค. 49 แม่ทัพใหญ่เจนศึกอย่าง


นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ พร้อมนำ 3 ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเล็กมาแสดงตัวโดย

ยืนยันว่ามีการปลอมแปลงหลักฐานการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อลงสมัคร ส.ส. ช่วยผู้สมัคร จากพรรคไทยรักไทย เพราะถ้าพื้นที่ใดมีคู่แข่งคะแนนที่ต้องทำให้ได้ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย

ขณะเดียวกันก็เดินหน้าแฉข้อมูลการว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครอย่างต่อเนื่องและครึกโครมจนกระแสคัดค้านการเลือกตั้งติดลมบน

ส่งผลให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยผ่านพ้นการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. อย่างทุลักทุเล มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนหรือ โนโหวต มากมายเป็นประวัติการณ์ บางเขตเสียงโนโหวตยังชนะคะแนนเสียงของผู้สมัครไทยรักไทยด้วยซ้ำ จนต้องสั่งให้มีการเลือกตั้งรอบ 2 และ 3

กระทั่งเกิดกระบวนการ ตุลาการภิวัตน์ มาปิดฉากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ส่วน 3 กกต. ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกคำพิพากษาให้จำคุก แถมยังต้องนอนคุกจริงก่อนได้ประกันตัวอีกด้วย


ย้อนกลับมาที่นายสุเทพ เมื่อเปิดยุทธการแฉแล้วก็นำเรื่องเข้าร้องเรียนให้ กกต. สอบสวน


ถึงความไม่ชอบมาพากล และ กกต. ได้แต่งตั้ง นายนาม ยิ้มแย้ม ที่ปรึกษา กกต. เป็นประธานอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

ซึ่งในที่สุดผลสอบมีมูลว่ามีการร่วมมือกันกระทำผิดจริง แต่กว่าผลสอบจะคลอดทั้ง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และนายนาม ต่างงัด ข้อกฎหมายมาประลองกันต่อหน้าสื่อหลายต่อหลายครั้งสุดท้าย พล.ต.อ.วาสนา ยอมจำนน ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย

คำร้องของอัยการสูงสุดที่ขอให้ศาล รัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ให้ เหตุผลว่าเนื่องจากกรรมการบริหารระดับสูงของ พรรคไทยรักไทย และในฐานะผู้แทนของพรรค ไทยรักไทย กระทำการอันมีลักษณะเป็นการ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

และ การกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541


พ่วงด้วยคำร้องก่อนหน้าที่ให้ยุบ พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย


ด้วยเหตุ ผลกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) และ (3)

แม้ว่าพรรคไทยรักไทยจะเจอเหลี่ยมการเมืองชั้นครูของพรรคประชาธิปัตย์เล่นงาน แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคน้องใหม่อย่างไทยรักไทยจะเพลี่ยงพล้ำ ไหน ๆ จะต้องจมดินแล้วก็ต้องลากคู่แค้นอย่างประชาธิปัตย์ลงมาคลุกโคลนด้วยกัน

ดังนั้นทีมกฎหมายของพรรคไทยรักไทยจึงแก้เกมด้วยการฟ้องพรรคประชาธิปัตย์บ้างในข้อหาคล้าย ๆ กัน อาทิ

ใส่ร้ายสร้างเรื่องระบอบทักษิณ การว่าจ้างพรรคเล็กล้มการเลือกตั้ง และการขัดขวางผู้สมัครใน จ.สงขลา และ กกต. ก็รับลูกพร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในทำนองเดียวกันกับพรรคไทยรักไทย ก่อนที่จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดในเวลาไล่เลี่ยกัน

สำหรับ คำร้องของอัยการสูงสุดที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ สรุปว่า พรรคประ ชาธิปัตย์โดยหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรม การบริหาร และสมาชิกพรรค ได้กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) และ (3) และเป็นฐานความผิดเช่นเดียวกับคำร้องยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

ทั้งหมดนี้คือที่มาของ ปฐมบทแห่งคดียุบพรรคการเมือง



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์