คดีบิ๊กแจ๊ดสะท้อนประเทศไทย เคารพกฎหมายไม่ได้มาจากDNA

คดีบิ๊กแจ๊ดสะท้อนประเทศไทย เคารพกฎหมายไม่ได้มาจากDNA

28 มิ.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอรายงานการตั้งสมมุติฐานกรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ถูกจับกุมในข้อหาพกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ที่สนามบินนานาชาตินาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านว่า หากกรณีของ พล.ต.ท.คนดังเกิดขึ้นในประเทศไทย คงไม่มีทางที่อดีตนายตำรวจใหญ่จะโดนจับ พร้อมนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ ศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการด้านสังคมชื่อดัง ซึ่งเคยไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น

เนื้อหาดังนี้

ข่าวครึกโครมว่าด้วยอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลของไทย พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ถูกจับที่ญี่ปุ่นฐานนำปืนพกขนาดเล็กติดกระเป๋าขึ้นเครื่องบินนั้น มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในบ้านเราไปต่างๆ นานา

แต่ที่พูดกันเยอะ พูดกันมากก็คือ ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองไทย ไม่มีทางที่อดีตนายตำรวจใหญ่จะโดนจับ หรือแม้จะเป็นผู้มีตำแหน่งแห่งหนจากประเทศอื่นมาถูกจับในเมืองไทย ก็น่าจะยังคุยกันได้ ไม่โดนเต็มๆ แบบนี้

นี่คือความต่างระหว่างสังคมที่เคารพกฎหมาย ถือกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งอาจเรียกว่า "สังคมนิติรัฐ – นิติธรรม" กับสังคมไทยที่กฎหมายดิ้นได้ ขึ้นอยู่กับผู้กระทำผิดเป็นใคร ใหญ่มาจากไหน

หลายคนอิจฉาสังคมญี่ปุ่น และมองญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในเรื่อง "ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด" รวมทั้งวัฒนธรรมดีๆ อื่นๆ เช่น การเข้าแถวไม่แซงคิว การไม่ลักขโมยของของผู้อื่น เป็นต้น

ศาตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการด้านสังคมชื่อดัง ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าญี่ปุ่น และทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมหลายโครงการร่วมกับญี่ปุ่น มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พลตำรวจโทคำรณวิทย์ นั้น สะท้อนประเด็นทางวัฒนธรรมหลายแง่มุม กล่าวคือ

1.มิติทางวัฒนธรรมสร้างมาหลายร้อยปี ไม่ใช่เป็นเรื่องดีเอ็นเอ ประเภทเกิดมาแล้วเป็นอย่างนี้เลย

2.ความต่างระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก ในแง่ของการเคารพกฎเกณฑ์กติกา ไม่เป็นสังคมอุปถัมภ์นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศเอเชีย แต่มีลักษณะทางวัฒนธรรมบางอย่างที่เฉพาะและแตกต่าง

3.รากวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาจากฐานความเชื่อแบบ "ขงจื๊อ" ทำให้เกิดสังคมที่มีจรรยาของการอยู่ร่วมกัน ฐานความเชื่อแบบนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม หากความสัมพันธ์นั้นล่มสลาย แผ่นดินก็จะล่มสลายตามไปด้วย

ตัวอย่างของความสัมพันธ์ก็เช่น จักรพรรดิ ในฐานะผู้ปกครอง แม้ได้รับโองการจากสวรรค์ แต่ก็ไม่สามารถใช้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัดได้ นำมาสู่ฐานความคิดที่ว่าผู้ปกครองต้องอยู่ใต้กติกา ไม่อย่างนั้นแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ฉะนั้นจึงมีธรรมะของผู้ปกครอง

4.สังคมญี่ปุ่นมีจารีตร่วมกันบางเรื่อง ที่สำคัญคือ จรรยาบรรณของ "ซามูไร" ถ้าทำสิ่งผิดพลาดต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างกล้าหาญด้วยการคว้านท้องตนเอง เป็นจารีตของการละอายต่อบาป ละอายต่อการกระทำผิด ซึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อนในยุคที่ซามูไรเป็นใหญ่ ก็ถ่ายทอดจารีตนี้สู่สังคมญี่ปุ่นในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ดังที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอ แต่เป็นการสร้าง การปลูกฝัง และมีวิวัฒนาการ ซึ่งในทางการเมืองของญี่ปุ่นก็เช่นกัน

อาจารยสุริชัย เล่าว่า แต่เดิมญี่ปุ่นก็มีระบบอุปถัมภ์ มีปัญหาคอร์รัปชั่นไม่น้อย ตัวอย่างที่หยิบยกมาพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือ สมัยนายกรัฐมนตรีทานากะ เขาได้รับความนิยมมาก เคยเดินทางมาเมืองไทย แต่ภายหลังต้องลงจากตำแหน่งเพราะถูกตรวจสอบพบว่ามีการรับสินบนจากบริษัทล็อคฮีด บริษัทจำหน่ายเครื่องบินของสหรัฐ แต่เนื่องจากนายกฯทานากะได้รับความนิยมมาก ทำให้เกิดการต่อสู้ถกเถียงทางสังคมอยู่นาน กระทั่งสุดท้ายก็ต้องลาออกจากตำแหน่งไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นไม่ได้เคร่งครัดทุกอย่างไปเสียหมด ญี่ปุ่นเองก็อยู่ภายในระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน แต่ก็พยายามแก้ไขปัญหา

"ที่ยกตัวอย่างมาก็เพื่อจะสรุปว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นเป็นอยู่ หรือหลายๆ ประเทศเป็นอยู่ ไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอ เมืองไทยนั้นมักมีคนวิจารณ์ว่าทำไมเราไม่ดีเหมือนญี่ปุ่น ไม่เหมือนประเทศนั้นประเทศนี้ แล้วก็ต้องการทำให้เป็นอย่างเขาแบบชั่วข้ามคืน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ วัฒนธรรมหรือจรรยาที่ดีต้องเกิดจากการปลูกฝังและทำกันต่อเนื่องมา"

อาจารย์สุริชัย บอกอีกว่า วัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นเกิดยากในประเทศไทย เพราะคนไทยยังให้คุณค่ากับความเกรงใจ ทำให้ "ผู้ใหญ่" ส่วนหนึ่งหาประโยชน์จากความเกรงใจ ทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องรับผิดชอบ

ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราถูกจับกุมในต่างประเทศหลายกรณี สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณคำรณวิทย์ คือบทเรียนเรื่อง "วัฒนธรรมผู้ใหญ่" ที่เป็นมานานในบ้านเรา ความโปร่งใสมีแต่ลมปาก แต่ไม่มีการปฏิบัติ วัฒนธรรมแบบนี้ทำไม่ได้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกันหมด

การสร้างวัฒนธรรมที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องทำถูกหรือผิดกฎหมาย และไม่ใช่กฎหมายกำหนดถึงต้องทำ แต่ต้องมาจากจิตสำนึกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องยอมเสียสละ ดูแล ไม่ใช่หาประโยชน์จากความเกรงใจจนเคยชิน!

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์