ขึ้นเงินเดือนส.ส.-ส.ว.ถึงเวลาหรือยัง

รายงานพิเศษ








ทวี สุรฤทธิกุล /สกลธี ภัททิยกุล
กรณีครม.อนุมัติขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว. ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่ายังไม่เหมาะสมแก่เวลา ทั้งด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และผลจากการทำงานของสมาชิกรัฐสภา ที่ผ่านๆ มา

ทวี สุรฤทธิกุล

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

อย่างที่ทราบว่าส.ส. ส.ว. มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สภาล่ม แต่หากพูดในหลักการ ในฐานะที่ผมก็เคยเป็นสนช. ทราบว่าเงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม สวัสดิการ ยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่มีการขึ้นมาเป็นลำดับในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา

เมื่อส.ส. ส.ว. มาขอขึ้นในช่วงจังหวะนี้ หากไม่มีความห่วยในสภาเกิดขึ้นก็คงมีคนเห็นใจ แต่ระยะนี้ต้องให้โอกาสปรับปรุงคุณภาพส.ส. ส.ว. อย่างที่นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. บอกให้ใช้วิธีการประเมินผลงาน ปรับไปด้วย

ดูแล้วอาจไม่ใช่ระบบส.ส. ส.ว. แต่เป็นระบบราชการที่มีผู้บังคับบัญชามาประเมิน แต่การประเมินไม่ได้ทำตามตัวชี้วัดของก.พ.ร. แต่ใช้ระบบการควบคุมเชิงจริยธรรม ประสิทธิภาพ อย่างนี้สภาก็จะเป็นที่ยอมรับจากการขึ้นเงินเดือนที่สมเหตุสมผล เพราะการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่หากยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ก็ไม่ควรขึ้นเงินเดือนให้

ควรใช้มาตรการเงินเดือนควบคุม แล้วปรับสวัสดิการ เบี้ยประชุมที่ยังน้อย เพราะเมื่อเทียบกับหน่วยราชการที่ได้รับเบี้ยประชุม 2,000 บาท ขณะที่สภาก็เป็นงานระดับชาติน่าจะเพิ่มเบี้ยประชุม เพราะคนภายนอกมาเป็นอนุกรรมาธิการ มาร่วมประชุมจะได้ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามได้

เมื่อได้เบี้ยประชุมเพิ่มก็ต้องมีผลงานเพิ่มด้วย มีเรื่องเสนอสภาให้ได้ใน 2-3 เดือน มีผลการประชุม ค่ารักษาพยาบาลก็ได้น้อย อย่าให้ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป

ผมเห็นด้วยว่าค่าประชุม สวัสดิการต้องเพิ่ม แต่การเพิ่มเงินเดือนยังต้องมีการประเมิน



สกลธี ภัททิยกุล

ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์

ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังไม่เหมาะ งานส.ส.มีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ถ้าขึ้นเงินเดือนก็ถือว่าดีทำให้ทำงานง่ายขึ้น เพราะงานในพื้นที่ต้องช่วยเหลือคนจำนวนมาก มีภาษีสังคมเยอะ ถามว่าเงินเดือนพอหรือไม่ต้องบอกว่าไม่พอ





วัลลภ ตังคณานุรักษ์/ประสพสุข บุญเดช/พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช


แต่ด้วยเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้น เพราะทุกภาคส่วนเขาช่วยกันประหยัด เราเป็นผู้แทนราษฎรจะมาขอขึ้นเงินเดือนตัวเองก็ไม่เหมาะสม เพราะยังมีสิทธิประโยชน์อื่นยังพอกล้อมแกล้มไปได้ และถ้าไม่มองเนื้องานก็พออยู่ได้

แต่ถ้าในระยะยาวก็สมควรขึ้น เชื่อว่ามีส.ส. ส.ว.คิดเหมือนผมเยอะ เป็นการปรามการคอร์รัปชั่นได้ส่วนหนึ่ง เพราะถ้าส.ส.อยู่ได้ด้วยเงินเดือนเขาคงไม่ไปหาที่อื่น

ที่วิจารณ์ว่าส.ส.ทำสภาล่มตลอดยังจะมาขอขึ้นเงินเดือนอีก คงต้องให้กำลังใจคนที่เขาตั้งใจทำงานด้วย อย่างผมและคนอื่นๆ มาประชุมทุกครั้ง ส่วนคนที่ทำให้ประชุมล่มก็เป็นบางส่วน อย่างไรก็ตามถ้าสภายังล่มอยู่ คนทั่วไปเขาก็จะมองรวมๆ ถ้าขึ้นเงินเดือนจริงๆ ก็คงต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักแน่



วัลลภ ตังคณานุรักษ์

อดีตส.ว.กทม.

เงินเดือนส.ส. ส.ว. เท่าที่เห็นพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นอีก เหตุผลที่ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นตอนนี้เพราะความเอาใจใส่งานของสภา ส.ส. ส.ว. ยังไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน การขึ้นเบี้ยประชุมก็เพิ่งเคยขึ้นมาแล้วจาก 500 บาท เป็น 1,000 บาท ก็ถือว่าพอแล้ว

ส่วนการจำกัดจำนวนอนุกรรมาธิการให้น้อยลง เพื่อให้แต่ละคนได้เบี้ยประชุมมากๆ ไม่ควรสวนกับข้อเท็จจริงในการทำงาน เพราะต้องมีอนุกรรมาธิการคนนอกเยอะๆ หลากหลายมาช่วยงานสภาให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน บางคนเป็นกรรมาธิการในหลายคณะ ไปนั่งประชุมตรงนั้นแค่ครู่เดียวก็เดินออกไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ผมคิดว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาขึ้นเงินเดือนส.ส. ส.ว. ต้องพิสูจน์ก่อนว่าสภาจะไม่ล่มอีก ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ไม่มีความหยาบคาย มีพฤติกรรมเหมาะสม จากนั้นหากจะขึ้นก็ได้

แต่หากเกิดพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม พูดจาหยาบคายจะต้องถูกปรับเงินเดือน 10-20% ก็ต้องยอมให้ปรับ ต้องออกระเบียบภายในกำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะที่เป็นอยู่ตอนนี้แค่ตักเตือน ประณาม ไม่มีประโยชน์

ต้องปรับเงินเข้ารัฐเพื่อนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงพฤติกรรมจริยธรรมของผู้แทนให้ดีขึ้นกว่านี้



ประสพสุข บุญเดช

ประธานวุฒิสภา

เรื่องขึ้นเงินเดือนส.ส. ส.ว. การดำเนินการขึ้นอยู่กับรัฐบาล ถ้าเห็นว่ามีสตางค์เพียงพอก็ขึ้นเงินเดือนได้ แต่ถ้าไม่มีสตางค์การขึ้นเงินเดือนก็จะลำบาก ส่วนข้อสังเกตว่ามุบมิบเร่งรัดดำเนินการหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐบาล ในส่วนของส.ว. การขึ้นหรือไม่ขึ้นเราไม่เดือดร้อน ตั้งใจทำงานไป

ข้อสังเกตทั้งเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีและการประชุมสภาที่ล่มหลายครั้ง จนไม่น่าขึ้นเงินเดือนให้กับส.ส. ส.ว. นั้น เข้าใจว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว และรัฐบาลก็ยืนยันตรงนี้เอง ขณะที่การประชุมสภาที่ล่มอยู่หลายครั้งก็มีการปรับปรุงแก้ไขจนการพิจารณากฎหมายต่างๆ ผ่านไปด้วยดี ไม่น่ามีอะไร

ขณะที่เรื่องบำเหน็จบำนาญที่จะให้กับส.ส. ส.ว. ที่อยู่มานาน ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าส.ส. ส.ว.เป็นข้าราชการการเมือง ไม่ใช่ข้าราชการประจำ บางคนอยู่เพียงไม่กี่สมัย ขณะที่ข้าราชการประจำเขาอยู่กันกว่า 25 ปีถึงจะได้บำเหน็จบำนาญ การที่ส.ส. ส.ว. ได้บำเหน็จบำนาญด้วยจึงไม่เหมาะสม แต่ถ้าคนไหนอยู่มากกว่า 25 ปี ก็อาจทบทวนและค่อยมาคุยกันอีกที

การขึ้นเงินเดือนเมื่อกฎหมายผ่านครม. ก็นำเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาอีก คาดว่า 2-3 เดือนคงมีการประกาศและบังคับใช้



พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช

ส.ว.สรรหา

การขึ้นเงินเดือนส.ส. ส.ว. ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การเปรียบเทียบ ยกตัวอย่างหากเปรียบกับข้าราชการประจำ ส.ส. ส.ว.ปรับเงินเดือนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541 ขณะที่ข้าราชการประจำ 4-5 ปีมานี้ มีการปรับเงินเดือนกันมาแล้วถึง 2 ครั้ง อีกทั้งมีข้อแตกต่างในเรื่องค่าคนรถ และค่าน้ำมันรถของข้าราชการซี 11 ที่รวมกันถึง 4 หมื่นบาท ขณะที่ส.ส. ส.ว.ไม่มี

หรือหากเทียบกับเงินเดือนขององค์อิสระ เช่น ป.ป.ช. ก.ก.ต. ก็จำนวนกว่าหลายแสน ขณะที่ส.ส. ส.ว.น้อยกว่า

ส่วนการประชุมสภาที่ล่มอยู่บ่อยครั้งจนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าไม่ควรขึ้นเงินเดือนให้ เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างส.ส. ส.ว. ที่ต้องแก้ไข ยืนยันว่าส.ส. ส.ว.ทุกคนทำงานเต็มที่ แต่ที่การประชุมสภาล่มอยู่บ่อยครั้งเป็นเพราะเกมการเมืองระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ไม่ใช่การไม่ทำงานตามที่หลายคนเข้าใจ

ส่วนเรื่องบำเหน็จบำนาญส.ส. ส.ว. ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย และไม่ควรมี เพราะมีสวัสดิการช่วยเหลือให้กับส.ส. ส.ว. ที่พ้นสภาพไปอยู่แล้ว หากจะไปเปรียบเทียบกับข้าราชการประจำที่อยู่มานานคงไม่ได้



เงินเดือนใหม่และสิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภา

ร่างพ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการ พ.ศ.... ที่ครม. อนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย.

กำหนดเงินเดือน (เงินประจำตำแหน่ง-เงินเพิ่ม) ไว้ดังนี้

ประธานสภาผู้แทนราษฎร (รัฐสภา) จำนวน 121,990 บาท/เดือน (เดิม 115,920 บาท) เป็นเงินประจำตำแหน่ง 71,990 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท เท่ากับนายกรัฐมนตรี

ประธานวุฒิสภา (รองประธานรัฐสภา) จำนวน 116,370 บาท/เดือน (เดิม 110,390 บาท) เป็นเงินประจำตำแหน่ง 70,870 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท เท่ากับรองนายกรัฐมนตรี

รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา จำนวน 112,250 บาท/เดือน (เดิม 106,360 บาท) เป็นเงินประจำตำแหน่ง 69,750 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท เท่ากับรมว.กระทรวง และรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ผู้นำฝ่ายค้าน จำนวน 112,250 บาท/เดือน เป็นเงินประจำตำแหน่ง 69,750 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน

ส.ส. ส.ว. จำนวน 110,120 บาท/เดือน เป็นเงินประจำตำแหน่ง 67,790 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน (เดิมเดือนละ 104,330 บาท)

เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ครั้งละ 1,500 บาท (เดิมครั้งละ 1,000 บาท)

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และข้อเสนอขอรับสิทธิสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับข้าราชการ ครม.ให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนระเบียบเดิมกรณีไปราชการต่างจังหวัดขึ้นรถไฟ รถโดยสารของรัฐฟรี เบิกค่าที่พักแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 1,600 บาท/วัน/คน

ไปต่างประเทศ ค่าที่พักเบิกจ่ายตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท/วัน/คน ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายไม่เกิน 3,100 บาท/วัน/คน ส่วนค่าเครื่องบิน จ่ายเฉพาะกรณีการไปดูงานของกรรมาธิการ หรือไปในนามตัวแทนรัฐสภาไทย





ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์