กิตติรัตน์แจงกรณ์ยัน รบ.ไม่มีนโยบายแปรรูป ปตท.

กิตติรัตน์แจงกรณ์ยัน รบ.ไม่มีนโยบายแปรรูป ปตท.

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานประชุม

พิจารณากระทู้ถามสด เรื่อง ปัญหานโยบายการขายหุ้น ปตท. ของนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ชี้แจงแทน โดยนายกรณ์กล่าวว่า เมื่อประชาชนรับทราบแนวคิดรัฐบาลที่จะแปรรูป ปตท.จึงมีความกังวล ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ปตท. อาจกระทบราคาสินค้าพลังงานส่งผลต่อคนไทยทุกคน แต่วันนี้ประชาชนสับสน ไม่เข้าใจว่าในช่วงที่ผ่านมา ทำไมนโยบายพลังงานและบทบาท ปตท.ไม่สามารถดูแลประชาชนได้เหมือนนโยบายในอดีต ทั้งหมดกระจ่างในวันที่รัฐบาลพูดเรื่องนโยบายแปรรูป ปตท. เป็นการปลดแอกให้ ปตท.มีสถานะเป็นเอกชนเต็มรูปแบบ และแสวงหากำไรอย่างเดียวภายใต้เหตุผลที่รัฐบาลอ้างเพื่อลดหนี้สาธารณะ ต้องถามว่ารัฐบาลยังยืนยันแปรรูป ปตท.หรือไม่ ทำไมคิดว่าการตกแต่งหนี้สาธารณะสำคัญมากกว่าการดูแลประชาชน


ด้านนายกิตติรัตน์ชี้แจงว่า เรียนตรงไปตรงมาว่ารัฐบาลไม่เคยมีนโยบายแปรรูป ปตท.เป็นเอกชน ข้อมูลที่ปรากฏทางสื่อ
 
เริ่มต้นมาจากคำถามสื่อต่อผู้นำทางความคิดด้านเศรษฐกิจ แต่ยืนยันไม่เคยมีการประชุมหารือกันในระดับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือกรรมการใดๆ มาจากคำถามสื่อว่าการที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นไว้มาก ถ้าดำเนินการให้เป็นสาธารณะ จะช่วยดลหนี้สาธารณะได้หรือไม่ ต่อมาสื่อมาถามตน ตนก็บอกเป็นความคิดหนึ่งที่จะลดการถือหุ้นและเป็นเรื่องที่คิดได้ แต่ไม่ใช่ความคิดของรัฐบาล หากจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ต้องไปถกเถียงกันให้เกิดประโยชน์


ด้านนายกรณ์ถามทิ้งท้ายว่า ถือว่านายกิติตรัตน์ยืนยันแล้วว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแปรรูป ปตท.

แต่ความกังวลของประชาชนต่อ ปตท.ไม่ได้หยุดแค่เรื่องแปรรูป แต่กังวลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องยอมรับว่ามีผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลปัจจุบัน เคยมีประวัติเรื่องนี้มาก่อน จนศาลยึดทรัพย์ เป็นเรื่องการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ธุรกิจส่วนตน วันนี้มีการตั้งลูกน้องเก่าจากกลุ่มชินฯ มาเป็นกรรมการ ปตท. และล่าสุดมีการตั้งลูกน้องเก่ามาเป็น รมว.พลังงาน ดังนั้นหากลุ่มชินฯได้มากำหนดนโยบายสำคัญด้านพลังงาน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯในขณะนี้สนการลงทุนด้านพลังงาน สังคมจึงกังวลว่าจะมีประโยชน์ทับซ้อนขึ้นอีกหรือไม่ โดยโยกจากโทรคมนาคมมาเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน ถามว่ารัฐบาลมีนโยบายป้องกันเรื่องประโยชน์ทับซ้อนอย่างไร ไม่ให้เกิดซ้ำอีก


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์