กางหลักเกณฑ์ ปคอป. ชดเชย ′เหยื่อ′ การเมือง วงเงิน 2,000 ล้านบาท

ที่มา - สาระในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ ปคอป.ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เกี่ยวกับมาตรการ กลไก และวิธีการเยียวยา ฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 จนถึงเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวงเงิน 2,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555

 
รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ประกอบกับ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 179/2554 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) มีรองนายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่พิจารณารายละเอียดข้อเสนอแนะของ คอป. ให้มีการดำเนินการเกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายอันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมเป็นธรรม เป็นไปตามหลักนิติธรรมและความเสมอภาค เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและความสมานฉันท์ของคนในชาติ นั้น

ปคอป. ได้ประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 เห็นชอบในหลักการให้เสนอแนะมาตรการ กลไก และวิธีการเพื่อส่งเสริมการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูที่ไม่อยู่ในกรอบกฎหมายและแนวทางปฏิบัติเดิม ทั้งทางการเงินและรูปแบบอื่น รวมถึงการสร้างโอกาสในการดำรงชีพและประกอบอาชีพตามปกติ

กางหลักเกณฑ์ ปคอป. ชดเชย ′เหยื่อ′ การเมือง วงเงิน 2,000 ล้านบาท

โดยเทียบเคียงให้มีมาตรฐานเป็นสากลกับการกำหนดค่าชดเชยของสหประชาชาติและประเทศที่มีการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย

และสอดคล้องกับข้อเสนอของ คอป.ที่เห็นว่าการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ

ซึ่งแตกต่างจากการเยียวยาในกรณีปกติ อันเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในกรอบและดำเนินไปตามครรลองของสันติวิธีจนเกิดความรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่บุคคลและสังคม เพื่อเป็นการแสดงออกว่า รัฐตระหนักและรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย

และยินดีที่จะชดเชยเยียวยาแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับความเจ็บปวดสูญเสียนั้น การชดเชยเยียวยาจะครอบคลุมถึงทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกิดหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชนและภาคเอกชนตลอดจนครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1.กำหนดกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหาย ดังนี้

1.1 เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต อัตรา 4,500,000 บาทต่อราย โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือนตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทย (GDP per capita) ของปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 150,177 บาท ชดเชยค่าเสียโอกาสให้กับทุกครอบครัวในอัตราเดียวกันเป็นเวลา 30 ปี ประมาณว่าผู้เสียชีวิตอายุเฉลี่ยที่ 35 ปี จะมีโอกาสทำงานจนถึงอายุ 65 ปี จึงเท่ากับขาดโอกาสทำงานไป 30 ปี

1.2 เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ อัตรา 250,000 บาทต่อราย

1.3 เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ อัตราเท่ากับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (4,500,000 บาทต่อราย)

1.4 เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ

1.1.4 สูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราร้อยละ 80 ของอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (ประมาณ 3,600,000 บาทต่อราย)

1.4.2 สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราร้อยละ 40 ของอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (ประมาณ 1,800,000 บาทต่อราย)

1.5 เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บ ไม่สูญเสียอวัยวะ

1.5.1 ได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราร้อยละ 25 ของอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (ประมาณ 1,125,000 บาทต่อราย)

1.5.2 ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราร้อยละ 15 ของอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (ประมาณ 675,000 บาทต่อราย)

1.5.3 ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราร้อยละ 5 ของอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต (ประมาณ 225,000 บาทต่อราย)

1.6 เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล

1.6.1 กรณีเสียชีวิต โดยได้เข้ารับการรักษาก่อนเสียชีวิต อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย

1.6.2 กรณีทุพพลภาพและสูญเสียอวัยวะสำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย และเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อรายต่อปี

1.6.3 กรณีสูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

1.6.4 กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย

1.6.5 กรณีได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย

1.6.6 กรณีได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย อัตราเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย

1.7 การชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

1.7.1 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือนตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทย ปี พ.ศ.2553 (150,177 บาทต่อปี)

1.7.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก ให้ได้รับเงินชดเชยในอัตราเท่ากับจำนวนระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศไทย ปี พ.ศ.2553 (150,177 บาทต่อปี)

1.8 การชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ

1.8.1 กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ อัตรา 3,000,000 บาทต่อราย

1.8.2 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และได้ถูกควบคุมหรือคุมขังก่อนศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษา เป็นระยะเวลา

1.8.2.1 เกินกว่า 180 วัน อัตรา 1,500,000 บาทต่อราย

1.8.2.2 เกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 750,000 บาทต่อราย

1.8.3 กรณีศาลมีคำสั่ง/คำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลา เป็นระยะเวลา

1.8.3.1 เกินกว่า 180 วัน อัตรา 1,000,000 บาทต่อราย

1.8.3.2 เกินกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน อัตรา 500,000 บาทต่อราย

สำหรับ กรณีที่ได้รับเงินช่วยเหลือหรือชดเชยจากภาครัฐไปส่วนหนึ่งก่อนแล้ว ให้นำจำนวนเงินที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วหักออกจากเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหายตามข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.8 ด้วย ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้ประมาณการวงเงินงบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท

2.การชดเชยเยียวยาให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชนและภาคเอกชนที่รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ทุกเหตุการณ์ ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วงประมาณปลายปี พ.ศ. 2548 เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน 2552 จนกระทั่งเกินเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553

3.ให้คณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและฟื้นฟูด้วยวิธีอื่นที่ ปคอป. แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยเยียวยา ทั้งทางการเงินและรูปแบบอื่น รวมถึงการสร้างโอกาสในการดำรงชีพและประกอบอาชีพตามปกติ ให้เหมาะสมและสอดคล้องตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชยเยียวยาความเสียหาย ตามข้อ 1.

4.ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และเป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการดำเนินการเยียวยาและฟื้นฟู ตามที่ ปคอป. เสนอตามข้อ 1,2 และ 3

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์