กองทัพสั่งเพิ่มกำลังขนปืนใหญ่-ฮัมวี่ตรึงเขาพระวิหาร ทอ.พร้อมบิน24ชม.ผบ.สส.ถก21ก.ค.

แม่ทัพภาค2 สั่งเพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ขน ปืนใหญ่ขึ้นรถยีเอ็มซี 8 คัน รถฮัมวี่ 1 คัน ของกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จ.สุรินทร์ ขึ้นไปตรึงกำลังบนเขาพระวิหาร  เครื่องบิน ทอ.พร้อมบิน24ชม. 'บุญสร้าง' บอกมีธงเจรจาเขมร ถกเรื่องทหาร-เคลียร์คนเขมร โยนเขตแดนหน้าที่ 'บัวแก้ว' ตร.คุมเข้มทุกเส้นทางสู่รร.อินโดจีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้สั่งการให้มีการเพิ่มเติมกำลังจากกองพลทหารราบที่ 6 เข้าไปในพื้นที่ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร เนื่องจากข้อมูลที่ทราบกันดีว่าทางกัมพูชาได้มีการเพิ่มกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่ จึงได้สั่งให้เพิ่มกำลังทหารของกองทัพภาคที่ 2 เข้าไปเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กำลังพลเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้งตลอด 24 ชั่วโมง โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติการของกรมทหารพรานที่ 43 ที่วางกำลังอยู่ในพื้นที่ประชิดกับทหารกัมพูชา เพื่อไม่ให้กำลังทั้ง 2 ฝ่ายกระทบกระทั่งกัน ซึ่งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย ยังพูดคุยกันดีไม่มีการกระทบกระทั่งกัน

สำหรับบรรยากาศชายแดนไทย-กัมพูชาวันเดียวกันนี้  มีทหารกัมพูชา จำนวนประมาณ 1,200 นาย พร้อมอาวุธหนักเข้าตรึงกำลังอย่างแน่นหนาตามเขตแนวชายแดน ทั้งนี้ เวลา 08.30 น. ฝ่ายไทยได้มีการเสริมกำลังทหารพรานเพิ่มอีก 4 กองร้อย โดยมาจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26  จ.บุรีรัมย์ 1 กองร้อย และจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 21 จ.เลย อีก 3 กองร้อย ทำให้ฝ่ายไทยมีกำลังทหารประมาณ 600 คน โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างตรึงกำลังบริเวณใกล้วัดสิกขาคีรีสะวาระ หรือคนในท้องถิ่นชอบเรียก วัดคีรีสุขสวายเรี๊ย ที่มีทหารกัมพูชาติดอาวุธครบมือประมาณ 500 นาย ส่วนทหารไทยมีประมาณ 200 นาย 

ขนอาวุธหนัก-ปืนใหญ่เข้าพท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.สุจิตรได้สั่งการให้ พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 และผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี เพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปในพื้นที่เขาพระวิหาร ส่วนใหญ่เป็นการเสริมกำลังทหารและยุทโธปกรณ์หนัก อาทิ ปืนใหญ่ โดยมีการขนกำลังทหารบรรทุกขึ้นรถยีเอ็มซี จำนวน 8 คัน รถฮัมวี่ 1 คัน ของกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 จ.สุรินทร์ ขึ้นไปตรึงกำลังบนเขาพระวิหาร นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนย้ายอาวุธปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวน 6 กระบอก จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 16 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 6 ค่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเข้าไปเสริมกำลังในพื้นที่ชายแดนไทย-เขาพระวิหาร

เครื่องบิน ทอ.พร้อมบิน24ชม.

น.อ.มณฑล สัฌชุกร รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ และในฐานะรองโฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยของกองทัพอากาศเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ภารกิจหลักที่กองทัพอากาศเข้าไปมีส่วนสำคัญคือ การเคลื่อนย้ายคนไทยที่อยู่ในกัมพูชา หากเกิดความรุนแรง กองทัพอากาศพร้อมที่จะนำเครื่องบินซี 130 บินขึ้นปฏิบัติหน้าที่รับคนไทยกลับประเทศทันที เมื่อมีคำสั่งจากหน่วยเหนือ โดยมีสูตรปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะเมื่อนำเครื่องบินซี 130 ขึ้นบินต้องมีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ และมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ เครื่องบินขับไล่บินควบคู่ และมีผู้รับผิดชอบสั่งการ ขณะนี้ผู้บัญชาการทหารอากาศไม่ได้มีคำสั่งพิเศษให้ใช้กำลัง ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการจีบีซีว่าจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าเหตุการณ์คงจะไม่รุนแรงบานปลาย

รายงานข่าวแจ้งว่า กองทัพอากาศมีหน่วยบินที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ฝูงบิน คือ จ.นครราชสีมา มีเครื่องบินเอฟ 16 ประจำการ จ.อุบลราชธานี มีเครื่องบินเอฟ 5 ประจำการ  และ จ.อุดรธานี มีเครื่องบินอัลฟาเจ็ทประจำการ ทั้งนี้ ทุกหน่วยสามารถพร้อมนำเครื่องบินขับไล่ขึ้นปฏิบัติภารกิจได้ภายใน 5 นาที

กองทัพแจงกู้บึ้มเพื่อมนุษยธรรม

วันเดียวกัน กองบัญชาการกองทัพไทย ออกหนังสือชี้แจงว่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนได้เข้าเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแผนปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมประจำปี 2551 ซึ่งเป็นพันธะที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) โดยได้เริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตอธิปไตยของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา กองทัพไทยขอยืนยันว่า การปฏิบัติการดังกล่าวมีจุดประสงค์ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับราษฎรในพื้นที่ เป็นการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาออตตาวา และเป็นการดำเนินการในพื้นที่เขตอธิปไตยของประเทศไทย โดยผลปฏิบัติการห้วงแรกสามารถทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยบริเวณใกล้เคียงเขาพระวิหารประมาณ 91 ตารางเมตร            

รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่ทหารของไทยลาดตระเวนตามภารกิจปกติ แล้วเกิดอุบัติเหตุเหยียบกับระเบิดในเส้นทางแนวชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งกำลังมีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร

'บุญสร้าง' บอกมีธงเจรจาเขมร

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปเจรจากับ พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ในการประชุมคณะกรรมการกิจการชายแดนไทย-กัมพูชา (จีบีซี) เพื่อหาข้อยุติกรณีปัญหาเขาพระวิหาร ที่โรงแรมอินโดจีน จ.สระแก้ว ในวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม ว่า ตนมีธงอยู่ในใจแล้ว เป็นจุดยืนจากการประชุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้ จุดยืนของกองทัพไทยและกองทัพบกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเห็นจะสอดคล้องหรือไม่ แต่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ถกเรื่องทหาร-เคลียร์คนเขมร

เมื่อถามว่า การเจรจาในวันที่ 21 กรกฎาคม หารือเรื่องกำลังทหารและพื้นที่ซับซ้อนใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า พูดเฉพาะเรื่องการทหารเป็นหลัก เรื่องอื่นค่อยว่ากัน กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อถามว่า เราจะไม่ยอมถอนกำลังจนกว่ากัมพูชาจะเคลียร์คนกัมพูชาออกจากพื้นที่ทับซ้อนให้เรียบร้อย พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ยังไม่อยากพูดในเรื่องนี้ แต่เป็นจุดยืนหนึ่งที่จะมีการเจรจา แต่ไม่อยากพูดอะไร มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

'การประชุมวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผมไม่อยากให้ความเห็นก่อน เพราะอาจกระทบ ทั้งนี้ จะเป็นการประชุมในเรื่องการทหาร รายละเอียดเรื่องกำลังทหารสองฝ่าย ส่วนเรื่องเขตแดนแผนที่ต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด และเป็นอีกเวทีหนึ่งไม่ใช่เวทีคณะกรรมการชายแดนที่พูดเรื่องการทหารนี้' พล.อ.บุญสร้างกล่าว

โยนเขตแดนหน้าที่ 'บัวแก้ว'

พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ตนจะหารือในเรื่องทหารอย่างเดียว เรื่องของเขตแดนเป็นของกระทรวงการต่างประเทศ โดยการเจรจาครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมด้วย เพราะอยู่ในคณะกรรมการชายแดนอยู่แล้ว แต่ฝ่ายนำคือกระทรวงกลาโหม เมื่อถามว่า กัมพูชาและไทยเสริมกำลังเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนจำนวนมากจะให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างไรว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ไม่เกิด เพราะทั้งสองฝ่ายจะไม่ให้ใช้ความรุนแรง ส่วนกำลังทหารของใครจะมากกว่ากัน คงไม่มีผลทางด้านการเจรจา เพราะเราพูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว ใช้ปัญญา ไม่ได้ใช้กำลัง กำลังของไทยและของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่มีปัญหาเรื่องความรุนแรง ผู้บังคับบัญชาแต่ละฝ่ายต้องช่วยกันลดอุณภูมิ เพราะจะเกิดอารมณ์ง่ายจะต้องบังคับกันให้ดี

เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เรื่องการใช้กำลังทหารอย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า คงให้ต่างคนต่างช่วยดูแลคนของอีกฝ่าย ท่านก็ไม่อยากให้มีเรื่อง คงคุยกันได้ เมื่อถามว่า อำนาจในการตัดสินใจถอนกำลังเป็นของใคร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ขณะนี้ต้องดูว่าถ้าถอนแล้วจะเป็นอย่างไร ต้องไปดูรายละเอียด แต่เราไปเจรจาได้อยู่แล้ว ถามว่า วันที่ 21 กรกฎาคมนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีหรือไม่ พล.อ บุญสร้างกล่าวว่า ตนไม่ใช่คนปากหวาน ไม่ชอบให้ความหวังกับใคร แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด

ทหารถก 'บัวแก้ว' ก่อนเจรจา

พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าว ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อเตรียมข้อมูลความพร้อมครั้งสุดท้ายที่จะไปหารือข้อตกลงร่วมกับทางกัมพูชาในวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อทำความเข้าใจในทุกประเด็น เนื่องจากทหารจะไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศก็ไม่เข้าใจเรื่องแผนที่ ทุกฝ่ายจึงมาพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุปที่ลงตัวและชัดเจน ไม่ให้เสียหน้าเสียที โดยจะพูดคุยเรื่องความมั่นคงเท่านั้น แต่เรื่องเขตแดนเป็นอีกคณะหนึ่งที่ต้องพูดคุยกัน

'ผลการหารือจะออกมาอย่างไร อยู่ที่ต้นทุนเก่า ผู้นำเข้าใจกันอย่างไร วันนี้เรายังไม่เคยได้รู้ข้อมูลกัมพูชาว่าเขาคิดอย่างไร แต่เขาสามารถรับรู้จากสื่อของไทยตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเขาก็รู้ แต่ไม่รู้เรื่องเขา' พล.ท.นิพัทธ์กล่าว

ระบุ 'เตีย บันห์' หัวหน้าทีมเขมร

เมื่อถามว่า เรื่องการผลักดันคนกัมพูชาออกจากพื้นที่ทับซ้อนและการถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายอยู่ในการหารือหรือไม่ พล.ท.นิพัทธ์กล่าวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมา เราเตรียมที่จะไปหารือ ทุกอย่างพูดไม่ได้ต้องอยู่ที่การประชุมร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทุกปัญหาที่เป็นเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดนเขา เราสามารถหยิบยกมาเป็นข้อหารือได้หมด และการที่ส่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปพูดคุย เพราะเป็นเวทีของทหาร จึงต้องการให้ทหารพูดคุยกัน นอกจากนี้ พล.อ.เตีย บันห์ เป็นทหารที่คุ้นเคยกับ พล.อ.บุญสร้างดี สามารถพูดคุยกันได้ดีกว่า ทั้งนี้ พล.อ.บุญสร้าง เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีที่มีสิทธิตัดสินใจเทียบเท่านายกรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.เตีย บันห์ จะเป็นผู้นำทีมเขมรมาเจรจา

'ตอนนี้เราต้องเน้นแก้ไขปัญหาความตรึงเครียดในพื้นที่ก่อน ส่วนเขตแดนต้องระดับนโยบายไปเจรจา ดังนั้น การเจรจาครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของทหารเท่านั้น ส่วนการถอนกำลังออกจากพื้นที่นั้น คงต้องไปพูดคุยกันในวันนั้นว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเอาอย่างไร คิดว่าน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ' พล.ท.นิพัทธ์กล่าว

คาด'สมัคร' ถกครม.ผลเจรจา

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ 'คุยนอกทำเนียบ' ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ว่า หลังการประชุมจีบีซี ในวันที่ 21 กรกฎาคม เชื่อว่าสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าในการประชุม ครม. วันที่ 22 กรกฎาคม นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม จะนำผลการเจรจาที่มอบหมายให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. ไปเจรจากับ พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา มาหารือร่วมกับ ครม. เพราะเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อน แต่ยืนยันได้ว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมให้ประเทศเสียอธิปไตยแน่นอน

นายณัฐวุฒิกล่าวถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายวีระ สมความคิด ขนประชาชนไปตั้งเวทีปราศรัยที่โรงเรียนภูมิซรอล จ.ศรีสะเกษ จนมีการใช้กำลังกับประชาชนในพื้นที่ออกมาสกัดกั้น ว่าประชาชนในพื้นที่ไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย และหากพันธมิตรทำเพราะหวังผลทางการเมือง มีเป้าหมายไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล ขอให้อย่าทำ ถ้ารักชาติจริง ต้องไม่นำชาติเข้าสู่สงคราม ควรปล่อยให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและรัฐบาลเป็นผู้พูดคุย

ตร.คุมเข้มทุกเส้นทางสู่รร.อินโดจีน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ในวันที่ 21 กรกฎาคม จัดขึ้นที่โรงแรมอินโดจีน จ.สระแก้ว เวลา 09.00 น. โดยนายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ทางจังหวัดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมในการป้องกันเหตุร้าย หรืออาจจะมีการชุมนุมประท้วง จากองค์กรเอกชนหรือประชาชนทั่วไป แต่ไม่เปิดเผยวิธีการป้องกัน ส่วนหากองค์กรเอกชน ประชาชน หรือกลุ่มพันธมิตร จะมีการชุมนุม ก็สามารถเจรจาได้ คงไม่มีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงแน่นอน

พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ ผบก.ภ.จว.สระแก้ว เปิดเผยว่า ตำรวจภูธร จ.สระแก้ว กล่าวว่า ได้เตรียมกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ในการประชุมร่วมไทยกัมพูชา ที่โรงแรมอินโดจีน โดยวางกำลังตำรวจ 1 กองร้อยดูแลรักษาความปลอดภัยในโรงแรม รวมทั้งชุดเคลื่อนที่เร็วไว้ที่ สภ.คลองลึก 1 หมวด นอกจากนี้ตามเส้นทางจากด่านพรมแดนอรัญประเทศ จนถึงโรงแรมอินโดจีน ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร จะมีกำลังวางไว้ตลอดเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รับรายงานว่า กลุ่มพันธมิตรจะยกกำลังมาประท้วง แต่เพื่อความไม่ประมาทได้ประสานกำลังกับกองกำลังบูรพา เพื่อจัดกำลังไว้รักษาความสงบเรียบร้อย

'ตามกำหนด ผบ.สส.พร้อมคณะจะเดินทางโดยเครื่องบิน ซี-130 ของกองทัพอากาศ มาลงที่ฐานบิน 206 อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 21 กรกฎาคม จากนั้นนั่งรถยนต์ต่อไปที่โรงแรมอินโดจีน และจะประชุมภายในของไทยก่อน จากนั้น พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหม ของกัมพูชา จะเดินทางมาร่วมประชุมในเวลา 10.00 น. โดยใช้เส้นทางด่านพรมแดนอรัญประเทศ มาที่โรงแรม' พล.ต.ต.อิทธิพลกล่าว

พันธมิตรสระแก้วยันไม่ชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ พ.ต.ศลิษฏพงษ์ แก้วพิลา ผบ.ร้อย ทพ.ที่ 1201 ฉก.กรม.ทพ.ที่ 12 กกล.บูรพา ได้นำกำลังทหารพรานตั้งด่านตรวจค้นอย่างเข้มงวดบริเวณ หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะที่ชาวกัมพูชาพากันซื้อสินค้าประเภทอาหารและน้ำมัน จากฝั่งไทยไปกักตุน โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดกำลังออกลาดตระเวนตามตะเข็บแนวชายแดนด้าน อ.อรัญประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวกัมพูชาลักลอบเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมาย

นายอัมรินทร์ ยี่เฮง เลขาธิการองค์กรประชาธิปไตยภาคประชาชน จ.สระแก้ว แกนนำของกลุ่มพันธมิตร จ.สระแก้ว กล่าวว่า การประชุมระหว่างไทย-กัมพูชาที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ หากไม่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย ก็จะไม่มีการชุมนุมประท้วงอย่างใด จะมีเพียงถือป้ายบริเวณทางเข้าโรงแรมเท่านั้น

'มาร์ค'แนะรัฐยึดบันทึกปี 43เจรจา

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้อง 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้ประชาชนคนไทยทุกฝ่ายยุติความพยายามที่จะดำเนินการในลักษณะสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความตึงเครียด และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรับผิดชอบต่อสถานการณ์ 2.สนับสนุนการจัดประชุมร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อหารือถึงเรื่องหนังสือตอบโต้ระหว่างผู้นำไทยและกัมพูชา เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธี โดยขอให้ฝ่ายไทยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับความรู้สึกของประชาชนชาวไทยนั้น ไม่มีผลของการบังคับใช้อีกต่อไป และให้เจรจาโดยยึดบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 2 ประเทศเมื่อปี 2543 ที่ดำเนินการในสมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีสาระว่าทั้ง 2 ประเทศยอมรับว่า มีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนที่ทับซ้อนและเห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสำรวจ และในระหว่างที่สำรวจจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ที่เป็นปัญหา ซึ่งหากยึดในแนวทางนี้ก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์