กษิต อ้างเสียงตอบรับหลังแจงศาลโลก ฝ่ายไทยเป็นบวก

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน

ถึงความคืบหน้ากรณีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาชี้แจงรายละเอียดเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายเมื่อเดือนเมษายนว่า หลังจากจัดทำคำชี้แจงตามข้อมูลที่ผู้พิพากษาขอไปยังศาลโลกภายในวันที่ 7 มิถุนายน และส่งคำอธิบายการชี้แจงของอีกฝ่ายกลับไปยังศาลในวันที่ 14 มิถุนายน ดังนั้น โดยสามัญสำนึกคาดว่าอีกราว 2-3 สัปดาห์ศาลจะตัดสินเรื่องคำขอของกัมพูชาที่ขอให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวว่ารับหรือไม่รับคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลโลกออกคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนจะพิจารณาตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505


"ถ้าศาลโลกรับจะมีคำสั่งมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่ไม่แน่ว่าศาลอาจมีคำพิพากษาก่อนก็เป็นได้เพราะมีการส่งเอกสารและข้อมูลประกอบต่างๆ ไปให้ศาลพิจารณาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดี ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดเดา" นายกษิตกล่าว

นายกษิตกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นดุลพินิจของศาล โดยจะแจ้งวันผ่านตัวแทนรัฐบาลไทยเพื่อให้ส่งทีมไปนั่งฟังคำตัดสิน หากเป็นภายในปลายเดือนมิถุนายนหรือต้นเดือนกรกฎาคมจะไปที่กรุงเฮก


นายกษิตกล่าวว่า หากไทยไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน เรื่องทั้งหมดจะไม่กลับมาที่ศาลโลก เพราะศาลไม่มีอำนาจบังคับ แต่เรื่องการบังคับให้เป็นไปตามมติของศาลโลกเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เป็นองค์กรสูงสุดของประชาคมโลก ในหลักการต้องรับผลบังคับในฐานะของสมาชิกที่ดีของยูเอ็นและถ้าไทยไม่ทำก็ต้องไปยูเอ็นเอสซี


เมื่อถามว่า มั่นใจแค่ไหนหลังการชี้แจงและคาดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า

เรื่องนี้เหมือนทีมฟุตบอล อยู่ที่การฝึกซ้อมก่อนลงแข่ง ไทยเตรียมการล่วงหน้ามา 2 ปี ทำงานกับทีมทนายที่ปรึกษามาตลอด มีการค้นคว้าเอกสารจากหอจดหมายเหตุในประเทศต่างๆ เพื่อป้อนเป็นข้อมูลเป็นพันเป็นหมื่นฉบับ และยังจะทำต่อไปอย่างไม่ลดละ


"จากถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮกและที่ปรึกษากฎหมาย ทั้ง 4 คนได้ขึ้นกล่าวต่อศาล ได้แบ่งงานออกมาอย่างดี สอดคล้องและตอบรับกัน เชื่อว่าสิ่งที่ได้พูดตอบทุกประเด็นปัญหาที่ฝ่ายกัมพูชายกขึ้น ด้วยเหตุด้วยผลทางกฎหมายและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราเจอ แต่ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินว่าสำเร็จหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสื่อและนักวิชาการ แต่จากที่อ่านผ่านสื่อคิดว่าเราได้รับการตอบรับในทางบวก" นายกษิตกล่าว


นายกษิตยืนยันด้วยว่า การไปขึ้นศาลโลกไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามายังชายแดนไทย-กัมพูชา
 
เพราะเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะถูกเรื่องอื่นกลบไป ไทยพร้อมและรอให้อินโดนีเซียส่งคณะเข้ามาสำรวจพื้นที่พร้อมกับรอให้กัมพูชาตอบรับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) อยู่ขณะนี้ภาระไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์