กษิต ยัน ไม่มีเจรจาขัดแย้งไทย-เขมรในวงถกแม่น้ำโขง



กษิต ภิรมย์  ยืนยัน จะไม่มีการหาเจรจาทวิภาคี เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง ไทย และ กัมพูชา ในการประชุมประเทศลุ่มน้ำโขง...

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพว่า ผู้นำทุกประเทศที่เกี่ยวข้องรวมถึงสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ตอบรับที่จะมาประชุมแล้ว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของ 4-5 ประเทศร่วมกัน ดังนั้นไม่ควรนำเรื่องส่วนตัวของระหว่างมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน

ส่วนหากจะมีการประท้วงผู้นำกัมพูชา ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและความพอดี เพราะคนไทยทุกคนเป็นเจ้าภาพ จึงต้องคิดถึงส่วนรวมด้วย และเท่าที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ใครอยากจะมายื่นหนังสือประท้วงก็ได้มีการตกลงกันแล้วว่ามีวิธีการขั้นตอนอย่างไร เพราะตนไม่อยากให้เรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ต่อการที่จะพัฒนาความร่วมมือในเรื่องของแม่น้ำโขงโดยใช่เหตุ และเรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมไทยร่วมกัน

ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยจะเป็นอุปสรรคต่อการประชุมกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการประชุม แต่ยอมรับว่าทุกประเทศห่วงใย และสอบถามถึงจุดประสงค์ของการจะประท้วง แต่อยากย้ำว่าเรามีภาระหน้าที่ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง หน้าตาศักดิ์ศรีของประเทศไทย และความร่วมมือของไทยกับเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทย ดังนั้นการจะประท้วงหรือดำเนินการใด ๆ จะต้องมีจิตสำนึก

นอกจากนี้ นายกษิต ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ทนายความของครอบครัวชินวัตร ระบุมีหลักฐานใหม่ยื่นอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน ของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า หากมีข้อมูลใหม่ก็ควรจะมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ถ้าไม่มีข้อมูลใหม่ก็ไม่มีข้อมูลที่จะอุทธรณ์ ส่วนการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณมาดำเนินคดีนั้น เป็นหน้าที่ของเอกอัครราชทูตและกงสุลทั่วโลกที่จะต้องรายงานความเคลื่อนไหว เข้ามา เพราะมีเรื่องการขอความร่วมมือจากสำนักงานอัยการและตำรวจในการติดตาม เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังหนีคดีอยู่ ซึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี และทางกงสุลใหญ่ที่ดูไบ ก็รายงานเข้ามา และทางกระทรวงการต่างประเทศก็แจ้งกลับไปที่ยังรัฐบาลยูเออี ผ่านสถานทูตที่ประเทศไทย ถือเป็นการปฏิบัติตามปกติ

ส่วนประเทศใดๆ ที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่พักพิงจะให้ความร่วมมือกับไทยหรือไม่ อยู่ดุลยพินิจและการตัดสินใจของประเทศนั้น ถือเป็นอำนาจอธิปไตยที่ไม่สามารถเข้าไปละลาบละล้วงได้ ด้านการทำความเข้าใจกับต่างประเทศ กรณีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นั้น นายกษิต กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศ และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ป้อนข้อมูลให้กับต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ทั้งสถานทูตต่าง ๆ ในประเทศไทย และสถานทูตไทยในต่างประเทศ รวมทั้งตนได้พบกับคณะเอกอัครราชทูตตลอดเวลา ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าไม่อยากให้เกิดความรุนแรง และได้เห็นความรุนแรงว่ายังมีระเบิดเกิดขึ้นหลายจุด

นายกษิต ยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่า ประเทศซาอุดิอาระเบีย ไม่ให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เข้าประเทศว่าไม่เป็นความจริง แต่ยอมรับว่ายังมีเรื่องคดีที่คาใจซาอุดิอาระเบียอยู่ 3-4 คดี เกี่ยวกับนักการทูตซาอุดิอาระเบีย บางคดีก็มีความคืบหน้า แต่ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของซาอุดิอาระเบีย จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบียยังไม่เต็มที่ 100% เพราะทางซาอุดิอาระเบียไม่มีเอกอัครราชทูต มีเพียงอุปทูตในประเทศไทย และไม่ให้ไทยมีทูตเต็มที่ แต่เป็นระดับอัครราชทูตที่ทำหน้าที่เอกอัครราชทูตมาเป็นเวลา 19 ปีแล้ว

เมื่อเรื่องนี้ยังคาใจอยู่ ความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งยังคืบหน้าไปไม่ได้ ไม่ใช่ว่าปฏิเสธ นายอลงกรณ์ เพียงแต่จังหวะเวลาอาจจะยังไม่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบีย ยังไม่ได้ปฏิเสธคณะฟุตบอลเยาวชนที่กำลังไปเล่น หรือคณะเอกชนก็ยังมีการไปมาหาสู่กันอยู่ จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานยุติธรรมของไทยจะต้องเร่งสะสางคดี เพราะผ่านมาหลายรัฐบาล แต่รัฐบาลนี้พยายามเร่งให้มีความคืบหน้า ขณะเดียวกันอุปทูตของซาอุดิอาระเบียได้เดินสายพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงด้วย


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์