กรณ์ใช้เวทีประชุมรมต.คลังอาเซียนยื่นปัญหา3ยักษ์เอเชียนำหารือจี 20 เตรียมทบทวนตั้งกองทุน8หมื่นล.


รมว.คลังเล็งใช้เวทีประชุมรมต.คลังอาเซียน+3 หารือสถานการณ์ศก.เอเชีย แผนแก้ปัญหาแต่ละปท.เสนอให้ 3 ยักษ์ใหญ่นำเข้าที่ประชุมจี 20 เตรียมทบทวนการจัดตั้งกองทุนสำรองระหว่างประเทศ 8 หมื่นล้านเหรียญ เพราะเงินสำรองแต่ละประเทศอื้อ ปชป.เหน็บ "โอฬาร-ทนง" รู้ปัญหาดีเนืองจากเคยมีบทบาทปี 40

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 วาระพิเศษ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลาลูน่า จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ว่าการหารือร่วมกันทั้ง 13 ประเทศครั้งนี้ จะเน้นการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียว่าได้รับผลกระทบอย่างไร และแต่ละประเทศมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อฝากให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี นำข้อเสนอและความต้องการของประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียไปนำเสนอในการประชุม จี 20 ที่จะมีในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ 

สำหรับการจัดตั้งกองทุนสำรองระหว่างประเทศ ตามความริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่ความร่วมมือแบบพหุภาคี จากเดิมที่เป็นความร่วมมือแบบทวิภาคีเมื่อ 10 ปีก่อน ในวงเงิน 80,000 ล้านเหรียญ ยืนยันว่าไม่ได้มีวาระว่าจะต้องตัดสินใจในการประชุมครั้งนี้ เพียงแต่เห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้สอดคล้องที่จะทำได้

"เราไม่ได้มีวาระว่าครั้งนี้จะต้องสรุปให้ได้ เพียงแต่มีประเด็นที่ต้องคุยกันในประเทศบวก 3 คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ว่าจะพร้อมสนับสนุนในฐานะผู้ลงขันหรือไม่ เท่าที่ทราบเขาก็พร้อมที่จะร่วมด้วยอยู่แล้ว จึงน่าจะมีประเด็นของประเทศอื่นๆ ว่าจะมีส่วนร่วมกันอย่างไร คงมีโอกาสได้พูดคุยกันและผมคงมีโอกาสได้คุยกันกับรัฐมนตรีคลังของ 4 ประเทศใหญ่ในอาเซียนด้วย ว่าเราจะตกลงกันอย่างไร" นายกรณ์กล่าว

ส่วนกระแสข่าว ประเทศสิงคโปร์จะถอนตัวจากกองทุนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าสิงคโปร์ไม่มีการถอนออกจากกองทุน แต่ต้องฟังบทบาทของแต่ละประเทศว่าจะมองประโยชน์ของกองทุนต่ออาเซียนอย่างไร เพราะต้องเคารพความเห็นของทุกฝ่าย ต้องรอฟังทุกๆ ประเทศว่ามีแนวคิดอย่างไรกับกองทุนนี้ ในส่วนของไทยเองต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ทุนสำรองสูง ดังนั้น สถานะของไทยจึงพร้อมร่วมเต็มที่ แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเห็นด้วยหรือไม่ และจะร่วมลงทุนเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางการเงินของแต่ละประเทศ

"ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุย และยังไม่ได้ตกลงว่าจะเซ็นสัญญากันทันที เรามีความตกลงกันเดิมอยู่แล้วระดับ 80,000 ล้านเหรียญ ยังคงไว้เช่นเดิม เพียงแต่ที่ผ่านมามันไม่คืบหน้าเพราะยังไม่มีความจำเป็นในการใช้เงินจากกองทุนดังกล่าว แต่การที่สภาพแวดล้อมขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปจาก 10 ปีที่แล้วที่ทุกประเทศผ่านความท้าทายด้านทุนสำรอง แต่ตอนนี้ทั้งภูมิภาคอาเซียนทุนสำรองระหว่างประเทศล้นเหลือ ดังนั้น อาจมาทบทวนขนาดบทบาทอย่างไรตามความเหมาะสมต่อไป" นายกรณ์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยจะหารือทวิภาคีร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของจีนจะหารือเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงโครงการด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะภาคการขนส่งของไทย เนื่องจากไทยเห็นว่าจีนมีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมด้านทุนทรัพย์มากเพียงพอ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและจีนจะสามารถร่วมลงทุนกันทำระบบรางอื่นๆ ได้ ขณะนี้จีนถือเป็นความหวังของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย หลังจากที่มีเอฟทีเอไทย-จีน ก็ทำให้การค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ไทยจะหารือกับจีนโดยตรง ว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะร่วมกันลงทุนพัฒนาระบบราง เท่าที่ทราบขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีแผนที่จะเดินทางได้ประเทศจีนในเร็วๆ นี้

สำหรับการหารือทวิภาคีกับญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นผู้ลงทุนขนาดใหญ่และคู่ค้าขนาดใหญ่ของทุกประเทศในอาเซียน ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการ จะไปเร่งดำเนินการและริเริ่มการเจรจากู้ยืมเงินเพื่อนำมาสนับสนุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็คต์) ของไทย รวมถึงหารือร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ขณะที่นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน+3 ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วม 10 ประเทศ อีก 3 ประเทศ คือ ประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกัมพูชา ส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลังประชุมแทน เนื่องจากมีเหตุบังเอิญ อย่างไรก็ตาม แต่ระดับรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมไม่ครบ 13 คน ก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ กับเนื้อหาการประชุม เพราะทุกคนก็ยังคงจะคุยกันอย่างเต็มที่ เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีคลังอาเซียนมีโอกาสได้พูดคุยกันหลังจากที่เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤตรุนแรง และยังมีประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เข้าร่วมด้วย

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ประเทศไทยจะเสนอแนวทางในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่รัฐบาลได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาและโอกาสในอนาคต ตลอดจนรับฟังแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อให้ทุกคนได้รับข้อคิด ข้อสังเกตและนำไปปรับใช้กับเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง และนำไปสู่การหารือร่วมกันในกลุ่มประเทศ จี 20 ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนนั้น ในแง่วงเงินคงต้องรอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ละประเทศสมาชิกประชุมหารือกันก่อน คาดว่ายังจะต้องมีการนำไปหารือกันเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมครั้งต่อไปที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ประมาณเดือนพฤษภาคม จากนั้น จึงจะตั้งกองทุนคงเดินหน้าได้เต็มที่ต่อไป

ทางด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่นายโอฬาร ชัยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ส่อเค้าติดลบ ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เชื่อว่าในที่สุดเศรษฐกิจจะโตเป็นบวกนั้น การที่อดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจอย่างนายโอฬาร หรือนายทนง พิทยะ ออกมาวิจารณ์ รัฐบาลก็ฟัง ทั้งนี้ ทั้ง 2 คนนี้รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร เพราะมีบทบาทตอนปี 2540 ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ แต่การประเมินต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงด้วย เท่าที่ดู ที่มีการมองไม่ตรงกันเพราะตั้งสมมติฐานต่างกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยชี้แจงว่า เศรษฐกิจจะถดถอยในไตรมาสแรก แต่บรรดานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายเงินภาครัฐ การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน น่าจะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์