กรณ์เคลียร์เงินคงคลังรอ7.6หมื่นล.เข้างบฯแผ่นดินเบิกใช้ทันที

"กรณ์" เตรียมเปิดคลังรอรับเงิน 7.6 หมื่นล้าน ถ้าศาลสั่งยึดทรัพย์ทั้งหมด เผยโยกเข้าเงินคงคลังถือเป็นรายได้แผ่นดินเบิกใช้เหมือนงบปกติทันที แต่ถ้าศาลสั่งไม่ยึดหรือยึดบางส่วน มีไม้ 2 รอท่า ให้กรมสรรพากรขูด 1.2 หมื่นล้านฐานโอ๊ค-เอมเลี่ยงภาษี แต่ถ้ายึดหมด จะอายัดทรัพย์สินอื่นต่อไป

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จะแถลงผลการพิจารณาคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วงเงิน 76,000 ล้านบาทวันที่ 26 กุมภาพันธ์ว่า ยอมรับว่าผลการตัดสินใจจะมีทั้งผู้ผิดหวังและสมหวัง  หากมีการยึดทรัพย์เกิดขึ้นจริง จะต้องโอนเงินจำนวนมากออกจากสถาบันการเงิน คาดว่าไม่มีผลกระทบกับสภาพคล่องในระบบการเงินขณะนี้ที่มีมากถึง 1.7 ล้านล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องโอนไปไว้ในเงินคงคลังเพื่อนำเข้าสู่ระบบเงินงบประมาณ ด้วยการนำมารวมไว้เป็นเงินรายได้ภาครัฐเช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้อื่น ดังนั้น การนำเงินดังกล่าวออกมาใช้จ่าย ต้องเป็นไปตามระบบงบประมาณปกติ ที่ต้องนำเสนอการใช้จ่ายผ่านขั้นตอนของรัฐสภา 
 

นายกรณ์กล่าวว่า แต่หากศาลตัดสินไม่ยึดทรัพย์หรือยึดเพียงบางส่วน กรมสรรพากรยังสามารถรักษาสิทธิในการอายัดทรัพย์สินมูลค่า 12,000 ล้านบาท

ซึ่งอยู่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จากกรณีคดีหลีกเลี่ยงภาษีจากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ของนายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของศาล โดยเป็นอีกคดีหนึ่ง แต่หากศาลฎีกาฯ สั่งยึดทรัพย์ทั้งหมด กรมสรรพากรต้องหาแนวทางและแหล่งเงินทุนอื่นหรือทรัพย์สินอื่นมาอายัดแทน 12,000 ล้านบาท เพราะถือว่าคำตัดสินของศาลเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามก่อนอันดับแรก
 

"ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น คาดว่าไม่เกิดผลกระทบมากนัก เพราะนักลงทุนได้ประเมินความเสี่ยงจากคำพิพากษาไปแล้ว อีกทั้งหลังจากนั้นจะเป็นวันหยุดต่อเนื่อง 3 วันด้วย นักลงทุนจึงมีเวลาประเมินสถานการณ์"
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงินฝากของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวที่ถูกอายัดไว้ในธนาคารพาณิชย์จำนวน 76,000 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วย

เงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ 39,634 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 18,156 ล้านบาท ธนาคารออมสิน  15,748 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2,125 ล้านบาท ธนาคารธนชาต 1,476 ล้านบาท ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 500 ล้านบาท ธนาคารทหารไทย 10 ล้านบาท ธนาคารนครหลวงไทย 1 ล้านบาท ธนาคารยูโอบี 492 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 200 ล้านบาท บลจ.กสิกรไทย 208 ล้านบาท บลจ.ไทยพาณิชย์ 2,237 ล้านบาท บลจ.แอสเซท พลัส 172 ล้านบาท และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน 2,722 ล้านบาท 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์