“กรณ์”ย้ำมาตรการแก้เงินบาทไม่ล้มเหลว

รมว.คลัง ตอบกระทู้กลางสภาฯ ย้ำมาตรการแก้เงินบาทไม่ล้มเหลว ยันช่วยอุตสาหกรรมส่งออกเต็มที่


วันนี้ (14 ต.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณากระทู้ถามสดของ นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย  ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชน รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร ว่า มาตรการ 5 ข้อ ที่รัฐบาลประกาศไป เพื่อช่วยเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น ตนยืนยันได้ว่ามาตรการดังกล่าว ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็น 29 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้เป็นเพราะมีการเก็งกำไรเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะถ้าหุ้นวิ่งขึ้นอีก 2 บาท กำไรก็จะเพิ่มขึ้นอีก มีคนตั้งคำถามว่านายกฯ ทำอะไรอยู่ ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหา สินค้าเกษตรที่ส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่ลดลง แม้เงินบาทจะแข็งตัวขึ้น แต่ราคาน้ำมันไม่มีการลดลง แล้วแบบนี้ประชาชนจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร หากนายกฯ และ รมว.คลัง ไม่ทำอะไร ก็ควรพิจารณาตัวเอง

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า โดยทั่วไปอัตราค่าเงินของประเทศใดที่แข็งค่าขึ้น ก็เท่ากับเงินในกระเป๋าประชาชนมีค่าขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

ซึ่งหากดูอัตราเศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราว่างงานก็มีเพียง 1% ซึ่งถือว่าต่ำมากที่สุด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอัตราสกุลเงินอื่น เช่น เงินเยนค่าเงินบาทยังอ่อนอยู่ แต่เมื่อเปรียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ค่าเงินบาทจึงแข็งขึ้น เพราะเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงอย่างมาก อัตราว่างงานของสหรัฐสูงถึง 10% การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0% จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจเมื่อนำเงินสกุลต่าง ๆ ไปเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐแล้วเงินจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตของสหรัฐฯ นั้น เท่าที่ตนได้ฟังนโยบายเศรษฐกิจของเขา ที่กรุงวอชิงตัน

คือ จะใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางการเงิน โดยจะมีการพิมพ์เงินดอลล่าร์ออกมามากขึ้น และกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อต่อสู้กับประเทศอื่นในโลก ปัญหาคือเราจะทำอะไรได้บ้าง เพราะนโยบายของสหรัฐฯ ที่ออกมาจะมีผลในเชิงบวก และเชิงลบ คนที่ลงทุนในต่างประเทศ และใช้เงินซื้อสินค้าต่างประเทศจะได้เปรียบ แต่เศรษฐกิจไทยเน้นการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ครม.จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป จากอัตราค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

รมว.คลัง กล่าวต่อว่า บทบาทหน้าที่ในเรื่องอัตราการแลกเปลี่ยนนั้น ภาระหน้าที่ตามกฎหมายอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ซึ่งง่ายมากที่ตนจะโบ้ยความผิดไปที่ผู้ว่า ธปท. แล้วเห็นด้วยว่ามาตรการของ ธปท.ทำอะไรไม่ได้ แต่ในการประชุม ครม.พูดกันชัดเจนว่า สิ่งที่เราต้องรับผิดชอบคือผลอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อผู้ส่งออก ครม.จึงมีมาตรการเยียวยาผู้ส่งออกขนาดเล็กโดยตรง ส่วนที่ท่านอ้างว่ามาตรการนี้ล้มเหลว ก็ชัดเจนว่าท่านไม่เข้าใจ คิดว่ามาตรการที่ ครม.ออกมา เพื่อลดค่าเงินบาท ซึ่งมันไม่ใช่ แต่มาตรการที่ออกมา เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกรายเล็ก ซึ่งทั้งหมดเวลาจะเป็นผู้ตัดสิน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์