กรณ์ชงครม.ยืด-หยุด-ปรับ5มาตรการ แนะเกณฑ์ใหม่ช่วยคนจนจริง งบกลางหมดให้รสก.กู้เอง

"กรณ์"ชงครม.14ก.ค. พิจารณา "ยืด-หยุด-ปรับ" 5 มาตรการ อีก 6เดือน สศค.แนะรัฐบาลขยายเวลารถเมล์-รถไฟฟรี ชี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนคนรายได้น้อยจริง ส่วนน้ำ-ไฟยังมีกลุ่มคนรวยได้ประโยชน์ด้วย สำนักงบฯยันงบกลางจัดสรรไปหมดแล้ว หากเดินโครงการต่อต้องให้รสก.กู้เอง
 
ยัน"รถเมล์-รถไฟ"ฟรีช่วยได้จริง

 นายสมชัย  สัจจพงษ์  ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้รายงานข้อดีข้อเสียของการขยายเวลา 5 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือค่าครองชีพกับผู้มีรายได้น้อยที่จะครบกำหนดในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ต่อนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังแล้ว โดยเห็นว่า มาตรการที่สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเกิดประโยชน์ในระดับฐานรากอย่างแท้จริงคือ มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง และมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟ ชั้น 3

 นายสมชัยกล่าวว่า
 
ส่วนมาตรการน้ำประปาและไฟฟ้าฟรี สศค.ศึกษาข้อมูลจากครอบครัวผู้ที่มีรายได้น้อยจริงพบว่าครอบครัวที่มีการใช้หลอดไฟส่องสว่าง 2-3 ดวง พัดลม หม้อหุงข้าว ตู้เย็นอย่างละ 1 เครื่อง พบค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่เดือนละประมาณ 80 – 100 หน่วย จึงเห็นว่า ยังเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยระดับหนึ่ง แต่หากจะขยายเวลาออกไป ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย เพราะมีกลุ่มที่ไม่เดือดร้อนได้รับประโยชน์ไปด้วย และจะเป็นการสนับสุนให้ใช้ไฟมากขึ้นด้วยหรือไม่

แนะปรับเกณฑ์"น้ำ-ไฟ"ฟรี ให้แค่คนจนจริงๆ
 
การช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ ได้เสนอไปว่า จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มาตรการที่ออกมาเกิดประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากได้อย่างแท้จริง ลดการอุดหนุนชนชั้นกลางและระดับบนที่มีกำลังใช้จ่ายลงเพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาลลงด้วย ส่วนการช่วยเหลือค่าน้ำมันและก๊าซหุงต้มในครัวเรือนนั้น เห็นว่าควรจะปล่อยให้กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดราคาที่เหมาะสม ” นายสมชัยกล่าว
 
นายสมชัย กล่าวว่า

จากการศึกษาผลกระทบจาก 5 มาตรการ 6 เดือนที่รัฐบาลใช้ไปนั้น จะเห็นว่าผลที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเพียงแค่การพยุงไม่ให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรงมากนัก  มาตรการทั้ง 5 นี้ไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวมากมายอย่างมีนัยแต่อย่างใด การจะพิจารณาต่ออายุทั้ง 5 มาตรการหรือบางมาตรการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลที่จะได้รับด้วย

ต่อ5มาตรการ-คลังหาเงินชดเชยได้

 นายบัณฑูร สุภัควนิช ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ขณะนี้งบฯกลางปี 2552 จัดสรรให้กับหน่วยงานต่างๆ ไปหมดแล้ว และสำนักงบฯเองจะต้องสำรองไว้ 3 เดือนเผื่อกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถดึงส่วนนี้ไปใช้เพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลจะขยายเวลามาตรการช่วยเหลือประชาชนก็อาจให้รัฐวิสาหกิจกู้ยืมระยะสั้นก่อน แล้วรัฐบาลมาตั้งงบฯชดเชยให้ในภายหลัง
 
“ ขณะนี้ถือว่าสภาพคล่องตึงตัวมาก แม้ว่าจะเหลือเวลาเพียง 3 เดือนก่อนสิ้นงบประมาณ 2552 แต่วงเงินกู้ที่ได้รับจัดสรรตามพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาทนั้นก็ยังไม่ได้กู้จริง เป็นเพียงแผนงานเท่านั้น หากสามารถกู้เงินเข้ามาได้ในเดือนตุลาคมนี้ ก็น่าจะลดความตึงตัวนี้ลงได้ เพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2553 วงเงิน 1.7 ล้านล้านบาทนั้น เป็นงบฯลงทุนแค่ 12.5% จึงต้องมีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพราะจะเป็นงบลงทุนทั้งหมด ” นายบัญฑูรกล่าว
 
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า
 
หากรัฐบาลประเมินแล้วเห็นว่า การขยายเวลา 5 มาตรการเป็นประโยชน์กับประชาชน ก็สามารถหาแหล่งเงินมาชดเชยให้รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ แม้ว่างบฯกลางปี 2552 จัดสรรไปหมดแล้วก็ตาม เพราะเงื่อนไขว่าจะขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2552 หรือขยายเวลาออกไปอีก 5 เดือนถึงสิ้นปี 2552 เพื่อลดภาระให้ประชาชน แต่ก็ต้องดูผลกระทบต่อภาระด้านการคลังด้วย โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 14 กรกฎาคมนี้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์