กรณ์-บัณฑูรขึ้นเวที กระบวนการยุติธรรมกับวิกฤตศก.


เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13 ได้จัดสัมมนากระบวนการยุติธรรมกับวิกฤตเศรษฐกิจ

มีนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง มาบรรยายหัวข้อ "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย" และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย บรรยายหัวข้อ "กระบวนการยุติธรรมช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างไร"

สรุปดังนี้

กรณ์ จาติกวณิช / รมว.คลัง

กระบวนการยุติธรรมเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

ล่าสุดคือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีตีความพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาท กระบวนการตัดสินของศาลเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่น

เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเมื่อมีความเห็นที่แตกต่าง และต้องการการชี้แจงเร่งด่วน ศาลเป็นสถาบันเป็นที่ยอมรับและทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แต่ไม่ใช่เพียงศาล ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ช่วยเศรษฐกิจได้

เศรษฐกิจไทยปัจจุบันแม้จะถดถอย แต่ไม่ใช่วิกฤตเช่นที่สหรัฐประสบ หรือย้อนไปเมื่อปี"40 ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเราช่วยเหลือตัวเองได้ และทำได้ดีกว่าหลายประเทศ

แม้ไตรมาสแรกของปี"52 เศรษฐกิจจะตกต่ำถึงลบ 7.1% แต่จากนี้จะค่อยๆ ดีขึ้น ไตรมาส 4 จะกลับมาเป็นบวกได้

เมื่อสหรัฐเป็นต้นตอวิกฤต เป็นตลาดหลักของไทยที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% จึงกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก จึงถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

จากที่เคยพึ่งพาการส่งออก ก็ต้องพึ่งพาการบริโภคภายในมากขึ้น จีนปรับตัวก่อนและทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวเป็นบวก การปรับตัวของจีนส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย จากที่เคยผลิตเพื่อส่งขายชาติตะวันตกก็หันมาส่งขายจีนมากขึ้น

นี่คือช่วงจังหวะเวลาเหมาะสม ที่ไทยจะลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการแข่งขัน มาตรการระยะสั้นไม่เพียงพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นระยะกลาง หรือเอสพี 2 จึงเกิดขึ้น มีเงินลงทุนถึง 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 17% ของจีดีพี รัฐบาลคาดหวังกับเอสพี 2 ว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว

ในแง่ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ บทบาทการลงทุนของรัฐที่มากเกินไปไม่ส่งเสริมให้เอกชนแข็งแกร่ง แต่ช่วงเวลานี้เมื่อเอกชนไม่ลงทุน ภาครัฐต้องชดเชย แต่อนาคตต้องลดบทบาทลง

นอกจากนี้เพื่อลดการแทรกแซงรัฐวิสาหกิจจากนักการเมือง อาจพิจารณาลดสัดส่วนการถือหุ้นภาครัฐในรัฐวิสาหกิจลงด้วย ในส่วนของกระทรวงการคลัง สิ่งที่จะทำได้คือการกลั่นกรองและจัดสรรงบให้รัฐวิสาหกิจอย่างเข้มงวดถี่ถ้วน

สำหรับการเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องยากแต่อยู่ระหว่างการจัดทำประชาพิจารณ์

ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รายงานว่าหากภาษีนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ผมซึ่งมีทรัพย์สินตามที่แจ้งไว้กับป.ป.ช.ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 1 ล้านบาท ฟังแล้วตกใจ และมีความคิดแวบเข้ามาว่าผมมีที่ดิน 1 แปลง ต้องเร่งขายด่วน เพราะไม่สร้างประโยชน์อะไร ควรขายเพื่อให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า

นี่คือแรงกระตุ้นให้ประชาชนทำประโยชน์จากที่ดินมากขึ้น จากการมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมาทดแทนภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน

สำหรับภาษีมรดก ผมให้น้ำหนักกับภาษีที่ดินมากกว่า

หากจะจัดเก็บภาษีที่ดินอยู่แล้วทำไมต้องจัดเก็บภาษีจากการโอนอีก หากภาษีมรดกเกิดขึ้น คนรวยจะได้รับผลกระทบน้อยเพราะเขามีวิธีหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

ภาระจะตกกับคนชั้นกลาง

บัณฑูร ล่ำซำ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นจากสหรัฐ เกิดจากออกตราสารลึกลับซับซ้อนจำนวนมาก ตราสารปกติไม่เพียงพอ ไม่สร้างกำไรจำนวนมาก ไม่ประทับใจนักลงทุน

กดดันให้ฝ่ายบริหารบริษัทในตลาด โดยเฉพาะผู้บริหารของสถาบันการเงิน ต้องระดมสมองจากคนที่อ้างตัวว่าฉลาด นักคณิตศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อหานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ปล่อยกู้ผาดโผนมากขึ้น

วิธีการเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมาย เป็นการทำมาหากินในกรอบกติกาของตลาด โดยมีความโลภชักนำ และออกกฎหมายห้ามลำบาก

นี่คือโจทย์ท้าทายกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าบัญญัติของกฎหมายมีเพียงพอจะติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ และใครจะรับผิดชอบกับเงินภาษีประชาชน ที่นำมาแบกรับความเสียหายเหล่านี้

ปี"40 รัฐบาลมีนโยบายไม่ต้องการให้ผู้ฝากเงินเสียหาย จึงหาเงินซึ่งมาจากภาษีประชาชนทั้งหมดมาจ่ายคืนเงินฝาก นี่เป็นความไม่เป็นธรรม แต่จะทำอะไรได้

ทั้งที่ความจริงก่อนที่แบงก์จะล้ม ผู้บริหารแบงก์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปแล้วจำนวนมาก นี่เป็นอาชญากรรม

ช่วงหลังเริ่มมีระบบธรรมาภิบาล เพื่อป้องกันผู้บริหารยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน แต่ใครจะรับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐยังมีคดีแบงก์ล้มตามมาอีก และผู้บริหารแบงก์ที่ทำผิดก็ติดคุกจริง ไม่เหมือนในไทยไม่เคยมีที่ติดคุก

การบริหารระบบเศรษฐกิจโดยรวมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทยมีข้อด้อย เนื่องจากฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นพรรคร่วมต้องต่อรองตลอดเวลา เรื่องนี้แก้ยาก

อีกทั้งกรณีการฟ้องร้องระหว่างพรรคก็สร้างปัญหา ทำให้นายกฯ มัวแต่ติดปัญหาคดีความ ไม่สามารถจัดการปัญหาเร่งด่วนของประเทศได้

นอกจากนี้กติกาใหญ่โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญไม่นิ่ง เมื่อการเมืองเปลี่ยนกติกาก็เปลี่ยน ปัญหาแบบนี้ไม่เกิดขึ้นในสหรัฐ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับเขาก็รู้ดีว่ามีกรอบที่จะทำอะไรได้บ้าง ทำให้นโยบายที่จะเกิดขึ้นมีพลัง

ใน 100 วันที่โอบามาเข้ามาบริหารงาน เขาทำอะไรได้เยอะมาก แก้ไขปัญหาทีละเปลาะ สู้กับสงคราม สู้กับแบงก์ล้ม สู้กับอุตสาหกรรมล้ม สู้กับไข้หวัดใหญ่ระบาด สู้กับนิวเคลียร์

แต่รัฐบาลไทยไม่เป็นเช่นนั้น มีปัญหาจุกจิกเข้ามาตลอด แม้จะซื้อรถเมล์ยังขึ้นหน้าหนึ่ง นี่คือข้อจำกัดประเทศไทย เมื่อกติกาไม่นิ่ง ใครเข้ามาแก้ปัญหาก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

โจทย์ทางเทคนิกของไทยแก้ยาก คนทำทำไม่ไหว แค่เศรษฐกิจอย่างเดียวก็ไม่ไหวแล้ว ยังจะมีเรื่องการศึกษา กฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค

นี่คือการปูพื้นไปสู่วิกฤตระยะยาว ไม่เพียงแค่วิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะเป็นวิกฤตประเทศ สู้กับใครในโลกไม่ได้ เห็นได้จากประเทศที่เคยล้าหลังกว่าเรา กลายมาเป็นคู่แข่งและแซงหน้าไปหมดแล้ว

ทางออกจะเป็นอย่างไรนั้น ยืนยันว่าไม่มี เหมือนจะน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ปัญหามันวนอยู่กับที่หาทางออกไม่ได้ แต่กระบวนการยุติธรรมคือ 1 ใน 3 ของปัญหาพื้นฐานที่จะต้องสังคายนา

ถ้าคนอยู่รวมกันแล้วกติกาไม่ชัด ใครทำอะไรก็ได้ และใครทำผิดแล้วหลบได้ ไม่คิดว่าจะมีสังคมไหนเจริญก้าวหน้า นี่คือสิ่งที่น่ากังวล เราจะกลับมาได้อย่างไร

การจัดการความยุติธรรม การปูพื้นฐานบรรยากาศความถูกต้อง ความดีในระยะยาว จะเป็นตัวบ่งบอกว่าสังคมจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

นี่คือข้อจำกัดที่จะนำไปสู่การสร้างระบบพื้นฐานไม่ให้ก้าวไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสังคม

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์