กมธ.ยกร่างฯเคาะใบแดงตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต

ระบุเป็นไฟต์บังคับตามรธน.ชั่วคราว มั่นใจมอบอำนาจประหารให้ศาลไว้ใจได้ เปรย แต่อาจยังไม่ใช้ไม้แข็งกับการเลือกตั้งครั้งแรก

กมธ.ยกร่างฯเคาะใบแดงตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เห็นด้วยกับการให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิพากษาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ใบแดง) ของผู้สมัครสส.ที่มีความผิดฐานทุจริตการเลือกตั้ง


นายคำนูณ กล่าวว่า กรณีที่มีกกต.ไม่เห็นด้วยกับการที่กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้กกต.ไม่มีอำนาจให้ใบแดงก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน ทั้งนี้ในส่วนคณะกมธ.ยกร่างฯมีความปรารถนาว่าไม่ต้องการให้ผู้ที่ทุจริตเลือกตั้งได้เข้าสู่วงการเมือง ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 35 (4) และคณะกมธ.ยกร่างฯก็ได้นำมาบัญญัติไว้เป็นคุณสมบัติของผู้สมัครสส. สว. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี

"หมายความว่าผู้ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือที่เรียกว่าใบแดงนั้นก็จะไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสส.ได้อีกตลอดไป เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงเห็นว่าการที่บุคคลใดจะต้องคำพิพากษาดังกล่าว ควรจะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์เพื่อให้เกิดกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรมอย่างเต็มที่ โดยให้ศาลพิจารณาเร็วและอาจพิจารณาคดีเป็นการลับ เพื่อคุ้มครองสิทธิของพยานในคดี" นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาจะพบว่าในการให้ใบแดงแก่ผู้สมัครเลือกตั้งรายใดก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งมีค่อนข้างน้อย ส่วนจะเป็นการให้ใบแดงหลังจากประกาศผลกการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล เนื่องจากระยะเวลาการให้ใบแดงก่อนประกาศผลการเลือกตั้งมีความจำกัดเพียง 30 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับใบแดงยังสามารถยื่นไปที่ศาลฎีกาเพื่อขอสู้คดีได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถยื่นอุทธรณ์คดีไปยังศาลฎีกาได้ทั้งในส่วนที่เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

"คณะกมธ.เห็นว่าการให้ใบแดงแต่เพียงประการเดียว คงจะไม่ใช่เหตุที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริตหรือเที่ยงธรรมอย่างถึงที่สุด เพราะประเทศไทยมีระบบการให้ใบแดงมายาวนานมากพอสมควร การทำให้การเลือกตั้งสุจริตจะต้องดูองค์ประกอบรอบด้านของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ" นายคำนูณ กล่าว
นายบรรเจิด กล่าวว่า การไปตัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลตลอดชีวิตเปรียบเสมือนกับการประหารชีวิตบุคคลทางการเมือง โดยที่เขาไม่สามารถกลับสู่วงจรทางการเมืองได้ หลักการพื้นฐานของนิติรัฐมีหลักสำคัญประการหนึ่ง คือ การกระทำใดก็ตามที่ไปกระทบสิทธิหรือเป็นการตัดสิทธิอย่างน้อยที่สุดบุคคลจะต้องสามารถเดินไปหาศาลได้

"การตัดสิทธิชั่วชีวิต ซึ่งเป็นโทษที่แรง กระบวนการในการพิจารณาจึงควรเป็นอำนาจของตุลาการ เพราะกระบวนการของศาลเป็นกระบวนการของศาลมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และเที่ยงธรรม ตรงนี้จะเป็นหลักประกันว่าการตัดสิทธิของบุคคลผ่านกระบวนการนิติรัฐที่ถูกต้อง" นายบรรเจิด กล่าว
เมื่อถามว่า มาตรการให้ใบแดงที่ตัดสิทธิผู้กระทำความผิดตลอดชีวิตจะนำมาใช้กับการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า คงต้องดูอีกทีหนึ่ง แต่ในขณะนี้เมื่อศาลยุติธรรมทำความเห็นมายังคณะกมธ.ยกร่างฯแล้ว ก็คิดว่าศาลคงจะเตรียมพร้อมและจะออกประกาศที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆออกมา

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน เสียงส่วนใหญ่ของคณะกมธ.ยกร่างฯเห็นว่าจะให้การเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ของประชาชน หลังจากได้มีผลสำรวจความคิดเห็นออกว่าประชาชนอยากกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิและหน้าที่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อการเลือกตั้งเป็นหน้าที่แล้ว ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่างๆรวมไปถึงการออกเสียงประชามติจะต้องแจ้งเหตุและผลให้กับกกต.กำหนด เพื่อไม่ให้เสียสิทธิอื่นๆอันเนื่องมาจากการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยกเว้นแต่กรณีที่ผู้อยู่ต่างประเทศ ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ที่ตัวเองมีสิทธิลงคะแนน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองมีภูมิลำเนาไม่ครบ 90 วัน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เกาะติด

ที่มา posttoday

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์