กม.มั่นคงยาอันตราย ระวัง! ดาบนั้นคืนสนอง

การประกาศพื้นที่รักษาความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-1 กันยายน

เพื่อรับมือการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 30 สิงหาคมนี้

เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากชิมลางครั้งแรกไปในการดูแลความปลอดภัยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 16-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ถามว่าเหตุใดรัฐบาลจึงมีความกังวลต่อการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในครั้งนี้ ถึงกับต้องงัด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯออกมา

แน่นอน ตามเนื้อของกฎหมาย ลำดับความเข้มข้นแข็งกร้าวของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯถูกจัดลำดับไว้ในระดับเจือจางรองลงมาจาก พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเป็นกฎหมายด้านความมั่นคง จำต้องกระทบต่อสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่สำคัญ คือ สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 64 ที่ระบุให้ประชาชนสามารถชุมนุมได้โดยสงบ ปราศจากอาวุธ

ที่สำคัญ กฎหมายด้านความมั่นคงทุกฉบับ เขียนไว้ในลักษณะเปิดกว้าง ให้อำนาจการออกข้อกำหนด ข้อห้าม ในทางลิดรอนสิทธิ การตรวจค้น การควบคุมตัว

ที่สำคัญ ในแง่การใช้กำลัง ใต้หมวด 2 มาตรา 15 ระบุ ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ครม.จะมีมติมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้

วลีทางกฎหมาย ที่ว่า "ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง" ในทางทหาร กินความหมายกว้างขวาง ตั้งแต่การตักเตือน ผลักดัน ไปถึงขั้นการใช้กำลัง จากเบาไปหาหนัก เพื่อ "ปราบปราม"

หากในการรบ "ปราบปราม" หมายถึงการ "สังหาร" ด้วยอาวุธ

ดังนั้น ในแง่ปฏิบัติด้านกำลัง ย่อมไม่ต่างจากกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่หากมองอย่างเข้าใจ การใช้กฎหมายด้านความมั่นคง สำหรับสถานการณ์ด้านความมั่นคง มีความจำเป็น เพราะในอดีตไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติการของทหาร ทำให้เกิดคดีความตามหลอกหลอนชายในชุดพรางกันมาแล้วมากมาย

แต่กฎหมายในลักษณะนี้ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า "โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้แอ๊ค" ถูกออกแบบให้ใช้สำหรับป้องกัน และคลี่คลายภัยความมั่นคง ในลักษณะการก่อการร้ายภายในประเทศ

ต่างจากการนำกฎหมายความมั่นคงของไทย ที่นำมาใช้ครอบจักรวาล กับการชุมนุมของกลุ่มคน

โดยอ้างสถานการณ์ด้านการข่าว บวกกับการตีความกฎหมายให้เข้าทาง โดยตีความมาตรา 15 ให้รองรับการประกาศ แม้จะยังไม่เกิดเหตุสถานการณ์ แต่เพื่อการป้องกันไว้ก่อน

ดังนั้น คำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ห่วงมือที่ 3 และ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่อ้างการข่าวพบกลุ่มเสื้อแดงเตรียมเคลื่อนไหวรุนแรงกว่าช่วงสงกรานต์ จนถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาล

ย่อมนำมาสู่ความชอบธรรม ในการใช้กฎหมายความมั่นคง เป็นการตีปลาหน้าไซ ชิงความได้เปรียบและความชอบธรรม

แต่แปลกที่เที่ยวนี้ยังไม่มีสัญญาณจากฝ่ายต่างๆ ออกมาสนับสนุน โดยเฉพาะจาก "พรรคภูมิใจไทย" เหมือนในช่วงสงกรานต์ ที่ทุกฝ่ายประสานเสียงเป็นคีย์เดียวกัน ในทางตีกันให้ "กลุ่มเสื้อแดง" เป็นพวกก้าวร้าวรุนแรงที่เป็นจำเลยของสังคม

ก่อนเหตุสงกรานต์ เนวิน ชิดชอบ ถึง กับปราศรัยต่อชาวบุรีรัมย์ในงานวันเกิด ชัย ชิดชอบ บิดา โจมตีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงดักคอไว้ก่อน ซ้ำด้วยการ "หลั่งน้ำตาประวัติศาสตร์" ส่งแมสเสจถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นนายเก่า ให้หยุดขย่มประเทศ

สัญญาณจากกองทัพเอง วันนี้ก็ยังเงียบ ไม่เหมือนกับช่วงสงกรานต์ ที่ฝ่ายบริหารสั่ง ฝ่ายปฏิบัติก็รับลูก

อย่าเพิ่งวางใจกับอานุภาพของ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ จนกว่าการประชุมคณะกรรม การอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในวันที่ 28 สิงหาคม ที่รัฐสภา ซึ่งมี "อภิสิทธิ์" ในฐานะประธานคณะกรรม การนั่งหัวโต๊ะจะเรียบร้อย

ตามที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ส่งสัญญาณล่วงหน้าเตรียมตั้งตัวเองเป็นประธานศูนย์อำนวยการ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นรองฯ

หากทหารเอาด้วย ทุกอย่างก็จบ หากไม่ ฝันร้ายที่ สมัคร สุนทรเวช หรือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เคยเจอกับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อลุยกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ยึดทั้งทำเนียบ สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ แต่เป็นเพียงเศษกระดาษ อาจย้อนมาหลอกหลอน

เพราะวันนี้ ภาพความระหองระแหงเด่นชัดกว่าเมื่อก่อน ระหว่าง "พรรคภูมิใจไทย" กับ "พรรคประชาธิปัตย์" ระหว่างกองทัพโดย "พล.อ.ประวิตร" และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กับรัฐบาล ผ่าน "สงคราม เก้าอี้ ผบ.ตร."

แต่ที่สำคัญกว่านั้น การนำกฎหมายความมั่นคงมาใช้ในทางการเมือง จะเป็นบรรทัดฐาน เป็นแบบอย่างที่ "อันตราย"

หากรัฐบาลต่อๆ ไป ตามรอยหยิบเอามา "เล่นแร่แปรธาตุ" ใช้เป็นเครื่องมือค้ำบัลลังก์ตัวเอง จากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนฝ่ายตรงข้าม

จะเกิดอะไรขึ้น หากรัฐบาลในเครือข่ายของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ในวันข้างหน้า ย้อนศรทำแบบเดียวกัน กับม็อบเกษตรกร ม็อบแรงงาน ม็อบการเมือง หรือม็อบอะไรก็แล้วแต่ แล้วอ้างการข่าวให้สมเหตุ

13 เมษาฯ กับ 30 สิงหาฯ แม้ห่างกันไม่ถึง 5 เดือน กลับต่างกันลิบลับ...

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์