กดส.วางเกณฑ์เลือกสมัชชาแห่งชาติ

"ให้ส่งรายชื่อสมัชชา 2 พันคน"


วันที่ 26 ต.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. และรองประธาน คมช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ได้จัดการประชุมเพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ต่อ กดส.ประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวเปิดงานว่า ตามกรอบจะให้มีการส่งรายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คน ในวันที่ 17 พ.ย. แต่กรอบดังกล่าวเป็นเพียงตุ๊กตาที่พยายามจะทำให้เป็นไปตามนั้น หากทำได้เร็วเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นผลดีกับการร่างรัฐธรรมนูญที่จะสำเร็จเร็วขึ้น โดยกระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้ตัวแทนทำหน้าที่สมัชชาแห่งชาติ จะกระจายไปทั่วทุกสาขาอาชีพให้มากที่สุด และทำด้วยความโปร่งใส


"ชี้แจงขั้นตอนต่างๆ"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหลักเกณฑ์การสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาตินั้น ได้มีการชี้แจงขั้นตอนและกำหนดให้ผู้ร่วมประชุมฟังว่า ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.-2 พ.ย. ให้ กดส.ประจำจังหวัดแจ้ง พร้อมส่งเอกสารการเสนอชื่อให้องค์กรภาคต่างๆ เลือกผู้แทนเข้ามาเป็นสมาชิกสมัชชา และในวันที่ 3 พ.ย. ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ ต้องรายงานตัวต่อ กดส.ประจำจังหวัด จากนั้นจะกำหนดวันประชุมสรรหาสมาชิกสมัชชา ขั้นตอนต่างๆ กำหนดไว้ว่า อยากให้เสร็จและมีรายชื่อสมาชิก สมัชชาส่งถึง กดส.ในวันที่ 17 พ.ย. อย่างไรก็ตาม ในการสรรหาได้กำหนดให้สามารถยื่นคำร้องคัดค้านรายชื่อได้ด้วย

จากนั้น นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการ ให้คำแนะนำและวินิจฉัยการดำเนินการขององค์กร หรือคณะบุคคล ชี้แจงถึงที่มาของการคัดเลือกสมัชชาแห่งชาติว่า ได้แบ่งผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ เอกชน สังคม และวิชาการ ทั้งหมด 9 บัญชี ประกอบด้วย ประเภทที่ 1. ผู้แทนภาคเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 767 คน (1) ผู้แทนองค์กรด้านการเกษตร จังหวัดละ 2 คน รวม 152 คน (2) ผู้แทนองค์กรด้านอุตสาหกรรม จังหวัดละ 2 คน รวม 152 คน (3) ผู้แทนองค์กรด้านการบริหาร จังหวัดละ 2 คน รวม 152 คน (4) นายกสภา ประธานสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งในลักษณะเดียวกัน

ซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งองค์กรละ 1 คน รวม 18 คน (5) ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ แห่งละ 1 คน ซึ่งกระทรวงแรงงานจัดให้เลือกกันเองให้เหลือ 20 คน และผู้แทนสหภาพแรงงานภาคธุรกิจเอกชน กระทรวงแรงงานจัดให้เลือกกันเองให้เหลือ 76 คน (6) ผู้แทนสื่อมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ ซึ่งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเลือก 15 คน และสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดเลือกกันเองให้เหลือสาขาละ 15 คน (7) ผู้แทนสมาคมหรือมูลนิธิ ซึ่งไม่ใช่องค์กร หรือบุคคลตามองค์กรข้างต้น เลือกมาจังหวัดละ 2 คน รวม 152 คน ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อ (1) (2) (3) และ (7) แต่ละจังหวัดให้มี กดส.ประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าศาล หรือผู้แทน 1 คนอธิการบดีสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือเอกชน 1 คน อัยการจังหวัด หรือผู้แทน 1 คน วัฒนธรรมจังหวัด หรือผู้แทน 1 คน ร่วมกันจัดตั้งองค์กรเพื่อให้องค์กรดังกล่าวมาประชุมคัดเลือกกันเอง

ภาครัฐ 318-การเมือง 227 คน


ประเภทที่ 2 ผู้แทนภาครัฐ จำนวน 318 คน แบ่งเป็นผู้แทนกระทรวง กระทรวงละ 1 คน รวม 20 คน ผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 5 คน ผู้แทนข้าราชการพลเรือน ทหาร ครู พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการอัยการ ตำรวจ องค์การบริหารส่วน จังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ข้าราชการ กทม. ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา โดยให้แต่ละองค์กรเลือกมาองค์กรละ 5 คน รวม 75 คน หัวหน้าสูงสุดของรัฐวิสาหกิจเลือกกันเองให้เหลือ 20 คน หัวหน้าสูงสุดองค์กรมหาชนเลือกกันเอง 10 คน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกกันเอง 36 คน กำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเอง จังหวัดละ 2 คน

ประเภทที่ 3 ผู้แทนภาคการเมืองและการปกครองท้องถิ่น รวม 227 คน โดยมาจากผู้แทนพรรคการเมืองพรรคละ 1 คน รวม 44 คน นายก อบจ.เลือกกันเอง 36 คน ผู้ว่าฯ กทม.และประธานสภา กทม. 2 คน ผู้แทนนายกเทศมนตรี เลือกกันเอง 72 คน ผู้แทนนายกเทศมนตรีองค์การบริหารส่วนตำบล เลือกกันเอง 72 คน และนายกสภาเมืองพัทยา 1 คน

ประเภทที่ 4 ผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 16 คน โดยเป็นตัวแทนจากองค์กรละ 2 คน

ครม.-คมช.สรรหาฝ่ายละ 115


ประเภทที่ 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 302 คน โดยอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เลือกกันเอง 10 คน อธิการบดีสถาบันการศึกษารัฐและเอกชน 140 คน ผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยที่มีคณะ ภาควิชา หรือสาขาวิชาดังกล่าว แห่งละ 2 คน รวม 152 คน

ประเภทที่ 6 นิสิตนักศึกษา นายกองค์การบริหารนิสิตนักศึกษาหรือตำแหน่งในลักษณะเดียวกันของสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน รวม 140 คน

ประเภทที่ 7 ผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่ ครม.สรรหา 115 คน

ประเภทที่ 8 ผู้แทนสาขาอาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่ คมช. สรรหา 115 คน

ประเภทที่ 9 สาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ เอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่เหลือจากการสรรหาในประเภทที่ 5 โดยให้แบ่งจำนวนที่เหลือมีจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกันที่สุดเป็นสองส่วน โดยให้ ครม.และ คมช.สรรหาเพิ่มแต่ละส่วนจนครบ 2,000 คน


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์