กก.สิทธิฯ แนะ คมช.ใจกว้าง-เปิดชุมนุม 10 ธ.ค.อย่างเสรี

กก.สิทธิฯ แนะ คมช.ใจกว้าง-เปิดชุมนุม 10 ธ.ค.อย่างเสรี

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2549 19:53 น.

กก.สิทธิมนุษยชน เรียกร้อง คมช.-รัฐบาล ใจกว้างไม่ควรปิดกั้นการชุมนุม 10 ธ.ค. เชื่อเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพตาม รธน.ฉบับชั่วคราว พร้อมทั้งให้รับประกันความปลอดภัยกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

วันนี้ (6 ธ.ค.) คณะอนุกรรมการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดประชุมเรื่อง ขอบเขตสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2549 โดยมีนาย จรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธาน ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย และองค์กรเอกชน

โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่จะมีการจัดชุมนุมกันในวันที่ 10 ธ.ค. นี้ ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าไม่ว่าผู้ชุมนุมจะมีเจตนาใดการชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่สามารถทำได้ โดยรัฐบาลและ คมช.ไม่ควรห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น อีกทั้งยังควรรับประกันความปลอดภัยของผู้ที่จะเข้ามาร่วมชุมนุม

พ.ต.อ.วรพงษ์ ฟูตระกูล รอง ผบก.นก. กล่าวว่า การแสดงความเห็นอย่างเสรี ประชาชนสามารถทำได้ทุกอย่าง ตราบเท่าที่ไม่ก้าวล่วงประมวลกฎหมายอาญา เพราะการปิดกั้นการแสดงความเห็น ก็เหมือนกับเราไปกันไอน้ำของหม้อน้ำเดือด ที่สักวันจะเกิดการระเบิด อยากฝากทหารว่าอย่ากลัวเงาของตัวเอง เขาจะทำอะไรก็ให้ทำไป คนที่มาชุมนุมมาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของตัวเอง ซึ่งการทำเช่นนั้นก็ไม่สามารที่จะไปล้มล้างรัฐบาลหรือ คมช.ได้ ทหารก็ทำหน้าที่เพียงดูแลสถานการณ์ถ้าเขามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็ค่อยมาว่ากันที่หลัง

ที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตพยายามให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่างกฎหมายเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม เพราะขณะนั้นมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมาก โดยจะให้ร่างกฎหมายมีเนื้อหาว่า การชุมนุมจะทำได้ต้องขออนุญาต แต่ทางกองนิติการไม่ได้ร่างให้เพราะเราไม่ใช่เนติบริการ และเห็นว่ามันกลายเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ กฎหมายจึงยังไม่สามารถผ่านไปได้

ด้าน นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ในฐานะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า

การที่ทหารส่งสัญญาณไม่อยากให้มีการชุมนุมทำให้เกิดผลลบ แม้กระทั่งในสถานศึกษาได้รับแจ้งว่า อธิการบดีสั่งให้ยกเลิกการเสวนาที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เพราะกลัวทหาร จึงอยากให้ คมช.และรัฐบาลทำให้เกิดความชัดเจนว่ามาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการแสดงความคิดเห็นประเด็นทางการเมืองทั้งในและนอการศึกษาควรทำได้ เพราะการห้ามเท่ากับเป็นการสะสมความไม่พอใจให้มากขึ้น ซึ่งไม่ปลอดภัยและไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น

จากประสบการณ์การที่ได้ร่วมชุมนุมหลายครั้งพบว่า หากมีตำรวจและทหารเข้ามาคุ้มกันก็จะไม่มีเรื่องเกิดขึ้นเว้นแต่จะมีการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังปราบปรามประชาชนเท่านั้น

นายจรัล กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯขอเรียกร้องให้ คมช. รัฐบาล และ สมช.ให้ความสำคัญแก่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น

และขจัดอุปสรรคที่กระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการยกเลิกกฎอัยการศึกในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และยกเลิกประกาศ คปค.ที่เป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิของประชาชนโดยด่วน เนื่องจากหากไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วกระบวนการการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และปัญหาวิกฤติการเมืองก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า การชุมนุมวันที่ 10 ธ.ค.นั้นตนเชื่อว่าผู้ที่จะมาชุมนุมมีเจตนาดี ต้องการแสดงออกถึงการรักประชาธิปไตยแทนการทำกิจกรรมอื่นๆที่กระทำทุกปีเมื่อถึงวันรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 40 ถูกฉีกไปแล้ว แต่ก็มี คมช.และนักการเมืองบางคนแสดงความไม่เห็นด้วยโดยกล่าวในทำนองว่า คนที่มาร่วมชุมนุมมีการว่าจ้างกันมา หรือเป็นคนไม่ดี ที่โดยมากเป็นการใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ว่าคนดีหรือคนชั่ว มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและไม่ว่าความคิดนั้นจะดีหรือชั่วคนที่ได้ประโยชน์คือ คมช. และรัฐบาล การจะไปห้ามไม่ให้เขามาชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้คุ้มครองตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ จึงอยากให้ คมช.เคารพและค้ำประกันสิทธิเสรีภาพนี้ไม่ให้ใครมาแทรกแซงหรือสกัดกั้นไม่ให้การชุมนุมเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือความต้องการของการชุมนุม

คณะอนุกรรมการชุดนี้ คณะกรรมการสิทธิฯได้ตั้งขึ้นเพราะขณะนี้ได้มีการร้องเรียนทั้งจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่ามีการถูกบล็อก

ในเรื่องการแสดงความคิดเห็น สถานศึกษาที่ถูกห้ามไม่ให้มีการเสวนาในประเด็นทางการเมือง แกนนำชาวบ้านที่จะเดินทางไปไหนก็ต้องมีการรายงานให้กับกำนัยผู้ใหญ่บ้านได้รับทราบ แม้แต่คนงานตัดอ้อยนอกพื้นที่ก็ยังต้องถูกสอบถามจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแนวโน้มลักษณะนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ คณะอนุกรรมการฯ จึงจะต้องเข้าไปตรวจสอบ รวมทั้งทางคณะอนุกรรมการฯจะมีการจัดเวที เพื่อรับฟังว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนยังมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ และจะได้มีการเชิญหน่วยงานราชการต่างๆมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับขอบเขตสิทธิเสรีภาพว่ามีมากน้อยแค่ไหนให้ตรงกัน นายจรัล กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์