´สุรยุทธ์´ เขิน ตำแหน่งนายกฯ


หลังจากที่หัวหน้าและรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกมาเปิดสเปกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นระยะ ขณะเดียวกันมีรายงานข่าววิเคราะห์คาดเก็งรายชื่อบุคคลหลายคนที่คาดว่าอาจจะได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาล ฎีกา นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมแห่ง สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) และรายล่าสุดที่ตกเป็นข่าวว่ามีโอกาสสูงคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี นั้น ปรากฏว่า พล.อ.สุรยุทธ์ได้ยืนยันว่ายังไม่ได้รับการทาบทามให้เป็นนายกฯ แต่ก็ออกตัวว่าถ้าได้รับการทาบทามมาก็ต้องคุยกันก่อน

สุรยุทธ์ ยันยังไม่ถูกทาบเป็นนายกฯ

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (27 ก.ย.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เข้าร่วมประชุมเรื่องผลกระทบในการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในโอกาสนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวรับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้รับการทาบทามจะมีความ พร้อมหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ตนอายุมากแล้ว ขอเรียนว่ามีความหนักใจ แต่คงไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ แต่หากดูสภาพถือว่าได้เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งอยากจะทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษา จึงได้มาช่วยงานสถาบันในด้านการศึกษา

ระบุถ้าติดต่อมาก็ต้องคุยกันก่อน

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการทาบทามจะพร้อมเข้ามาแก้ปัญหาหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า หากมีการทาบทามก็ต้องขอฟัง ขอพูดกันก่อน ตอนนี้ยังไม่มีข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุที่ยังตัดสินใจไม่ได้เพราะอยู่ในตำแหน่งองคมนตรีใช่หรือไม่ พล.อ. สุรยุทธ์กล่าวว่า ก็ต้องรักษามารยาทในส่วนนี้ เพราะเมื่อทำงานในหน้าที่นี้ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง เมื่อถามว่าพร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติหรือไม่ พล.อ. สุรยุทธ์หัวเราะพร้อมกับกล่าวว่า ยัง ขอคุยก่อน ใจเย็นๆ

ออกตัวมีสถานะเป็นพลเรือน

ต่อข้อถามว่า ทหารที่เกษียณอายุราชการถือว่าเป็นพลเรือนเต็มขั้น หรือเป็นทหารตลอดไป พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบว่า ในใจเรายังเป็นทหารอยู่ แต่สถานะเป็นพลเรือน ขณะนี้มาทำงานช่วยสถาบันก็เป็นพลเรือนแล้ว เมื่อถามว่า หากต้องมาดำรงตำแหน่งนายกฯแล้วตำแหน่งองคมนตรีจะเป็นอย่างไรต่อไป พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า เอาไว้ ถึงเวลานั้นก่อน เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ายังไม่ปิดโอกาสในการรับตำแหน่งนายกฯใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครมาทาบทาม

ห่วงคนไทยตีกันถ้า ทักษิณ กลับ


ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เชื่อหรือไม่ว่าหลังจากนี้ คปค.จะแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองให้ดีขึ้นได้ พล.อ. สุรยุทธ์กล่าวว่า ถ้าจะตอบให้ตรงไปตรงมาก็ยังมีความกังวลอยู่หลายส่วน อาทิ เรื่องการยอมรับจากต่างประเทศ การคัดเลือกคณะบุคคลเข้ามาบริหารประเทศ รวมถึงปัญหาภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ ที่สำคัญและน่าสนใจคือการพยายามสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ ส่วนหนึ่งที่ตนและหลายคนติดตามสถานการณ์อยู่คงจะเข้าใจเช่นเดียวกันว่า

หากฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาพบกันในวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับมาถึง เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เราคงวาดภาพได้ว่าต้องชุลมุนกันพอสมควร ดังนั้น ถ้าสร้างความสมานฉันท์ได้ก็จะเป็นสิ่งดีและเป็นประโยชน์ ไม่อยากให้เหตุ การณ์ไปถึงขั้นปะทะกัน เคยพูดหลายครั้งแล้วว่าไม่ อยากเห็นคนไทยฆ่ากันเอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับการเดินทางกลับประเทศไทย

ไม่อยากเห็นคนไทยฆ่ากันเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬรอบ 2 หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดปะทะกันขึ้น โอกาสที่คนไทยจะใช้อาวุธฆ่ากันเองก็จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเผื่อหลีกเลี่ยงตรงนี้ได้ถือว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุด เมื่อถามว่า ที่ห่วงว่าจะมีการปะทะกันแสดงว่า คปค. ยังควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่ได้ ทั้งหมด พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ตอนนี้พยายามอยู่ ทุกอย่างต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการปรับความเข้าใจและแสดงออกให้เห็นเพื่อสร้างความเชื่อถือว่าอยู่ในแนวนี้ได้จริง

หลังเสร็จสิ้นการให้สัมภาษณ์ พล.อ.สุรยุทธ์ได้ กล่าวติดตลกกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า ที่ยังเรียกผมว่า ผบ.อยู่ แสดงว่าไม่ยอมให้ผมเป็นพลเรือนนะซิ จากนั้นก็หัวเราะพร้อมเดินทางกลับ

สุเมธ งงได้เป็นแคนดิเดต

ขณะที่นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเป็นหนึ่งในผู้ที่อาจได้รับการเสนอชื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ไม่เคยมีใครมาทาบทามให้มารับตำแหน่งนายกฯ และงงมากที่มีข่าวเช่นนี้ ที่ผ่านมาไม่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้กับใคร เพราะทุกวันนี้มีงานที่รับผิดชอบและสนองเบื้องพระยุคลบาทเต็มที่อยู่แล้ว เวลานักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าใครเหมาะสมเป็นนายกฯ ก็ตอบไปว่าไม่รู้ อย่างไรก็ตาม นายกฯคนใหม่ ต้องเป็นคนซื่อสัตย์ อดทน และพร้อมรับงานหนัก งานเร่งด่วนคือสร้างความเข้าใจทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเสถียรภาพบ้านเมืองโดยเร็วที่สุด อยากขอให้นักข่าวทั้งหลายช่วยนิ่งๆกันไว้ ขณะนี้ทุกอย่างกำลังจัดระเบียบกันอยู่ ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ

ศุภชัย ยังอุบไต๋เงียบ

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีรายงานว่า บุคคลที่อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีมี 2 คนคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) พร้อมกันนี้ยังระบุว่า นายศุภชัยได้ให้สัมภาษณ์ที่กรุงเจนีวาเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดถึงรายงานที่เป็นตัวเต็งจะได้เป็นนายกฯคนต่อไปของไทย และเมื่อถูกถามว่า เมื่อไหร่จะสามารถบอกกล่าวกับคนไทยเกี่ยวกับการคาดเดานี้ได้ นายศุภชัยตอบว่า ไม่ใช่ตอนนี้ แต่อาจจะเป็นเร็วๆนี้

คปค.อนุมัติงบซ่อมเฮลิคอปเตอร์


เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เป็นประธานการประชุม คปค.ตามปกติ โดยมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ โฆษก คปค. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบวาระงานที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในแต่ละกระทรวง

รวมถึงเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ พล.อ.บุญสร้างเนียมประดิษฐ์ รอง ผบ.ทหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและ กทม.ด้วย จากเดิมที่รับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ นอกจากนี้ยังเห็นชอบโครงการปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ 16 ลำ วงเงิน 998 ล้านบาท ของกระทรวงกลาโหม และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กำลังจะสิ้นสุดวาระ

ไฟเขียวตั้งกระทรวงอุดมศึกษา

โฆษก คปค.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญต้องพิจารณาเพื่อนำเสนอ ครม.ชุดใหม่ พร้อมกันนี้ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างใหม่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามมติ ครม.เดิมที่อนุมัติไว้แล้ว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยใช้งบประมาณปี 2549 ไปพลางก่อน การประชุมวันนี้คล้ายกับการแก้ไขปัญหาในชั้นต้น แต่ถ้าเป็นเรื่องผูกพันระยะยาวต้องให้ ครม.ชุดใหม่พิจารณา

เปลี่ยนชื่อใหม่หวั่นสื่อเทศตีความผิด

น.ท.สุรสันต์ คงสิริ รน. ผู้ช่วยโฆษก คปค. กล่าวว่า ที่ประชุมได้เปลี่ยน คปค.ในภาษาอังกฤษจากเดิมที่ใช้คำว่า Council For Democratic Reform Under Constitutional Monarchy (CDRM) เป็น Council For Democratic Reform (CDR) โดยตัดข้อความที่มีความหมายว่า อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (Under Constitutional Monarchy) ออกไป

เพราะอาจทำให้สื่อต่างประเทศเข้าใจผิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ พล.อ.สนธินำกำลังทหารเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาล นอกจากนี้สื่อต่างประเทศยังมีความเข้าใจผิดกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.สนธิเป็นหัวหน้า คปค. ทั้งที่เป็นระเบียบประเพณีทางกฎหมายไทยที่คนไทยและสื่อมวลชนในประเทศมีความเข้าใจดี อย่างไรก็ตาม ชื่อเต็มของ คปค.ในภาษาไทยยังให้คงคำว่า อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เอาไว้

สมาพันธ์ ปชต.จี้รีบคายอำนาจ


ส่วนบรรยากาศที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 10.00 น. สมาพันธ์ประชาธิปไตยประกอบด้วย นพ.เหวง โตจิราการ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงหัวหน้า คปค. โดย นพ.สันต์กล่าวว่า ธรรมนูญการ ปกครองของ คปค.ดูแล้วไม่ต่างกับสมัย รสช. เนื่องจากเปิดช่องให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้าร่วมประชุม ครม.ได้ ทำให้มีโอกาสแทรกแซงการปกครอง และยังเปิดช่องให้ คัดเลือกบุคคลเข้าร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงสมควรนำมาปรับใช้ใหม่ และควรรีบยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วให้ กกต.รีบจัดการเลือกตั้ง

นศ.วางพวงหรีดประท้วงปฏิวัติ

ต่อมาในช่วงบ่าย นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง ได้ยื่นหนังสือต่อ คปค.เรียกร้องให้บรรจุเรื่องห้ามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมานายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเพื่อนนักศึกษารวม 8 คน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย รามคำแหง และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นตัวแทนกลุ่มศูนย์ข่าวกิจกรรมนักศึกษา นำพวงหรีดไปวางไว้ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ก่อนประกาศจุดยืนผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ตามที่ คปค. มีประกาศฉบับที่ 5 ให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้นั้น ทางกลุ่มจึงขอมีส่วนร่วมด้วยการนำพวงหรีดมามอบ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ทั้งยังสงสัยว่า กกต.กำลังจะจัดการเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน แต่ทำไมคปค.รอไม่ได้ ก่อนหน้านี้ประชาชนสามารถชุมนุมขับไล่รัฐบาลได้ แต่ตอนนี้แม้แต่การแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ยังทำไม่ได้เลย เพราะจะต้องถูกปิดทันที

นิติฯมธ.แถลงคัดค้านรัฐประหาร

วันเดียวกัน ได้มีแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตามที่ได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกระทำการรัฐประหารโดยได้ใช้กำลังอาวุธเข้าล้มล้างรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อวันที่19 ก.ย. นั้น คณะอาจารย์มีความเห็นว่า 1. ขอคัดค้านและประณามการรัฐประหารในครั้งนี้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เคารพและย่ำยีอำนาจการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้บริหารประเทศโดยประชาชนเอง

2. ขอคัดค้านและประณามการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เพราะเป็นการทำลายสัญญาประชาคมของประชาชน โดยวิถีทางที่ไม่อาจรับได้อย่างยิ่ง 3. ขอคัดค้านและประณามการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะการห้ามไม่ให้มีการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในครั้งนี้ 4. ขอคัดค้านและประณามการจำกัดสิทธิในร่างกายของประชาชน ที่บุคคลกลุ่มนี้ได้จับกุมผู้ที่ประท้วงการกระทำรัฐประหารไปคุมขัง อันถือเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปสู่ครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยเร็วที่สุด และจะมีการติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

กลุ่มต้านรัฐประหารรวมตัวเคลื่อนต่อ

ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัดเสวนาวิชาการเรื่องทำไมต้องต่อต้านรัฐประหาร โดยนายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า อยากจะบอกกับสังคมว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ โดยหลังจากนี้จะมีการรวมกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารในวันที่ 4 ต.ค.ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 6 ต.ค.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวันที่ 21-23 ต.ค.ที่

มธ.ศูนย์รังสิต ด้านนายประภาส ปิ่นตกแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า คปค.ใช้อำนาจควบคุมการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นสิ่งที่ผิดมาก เพราะจะเป็นปรปักษ์กับการเมืองภาคประชาชน และสิ่งที่กำลังคืบคลานเข้ามาในสังคมไทยคือระบอบเผด็จการของข้าราชการ ส่วนธรรมนูญการปกครองของ คปค.เป็นการกำหนดขึ้นมาจากเนติบริกรเพียงคนเดียว ประชาชนไม่มีส่วนร่วม จะเห็นว่าหากยังอยู่ในระบอบทักษิณยังสามารถต่อรองเรื่องต่างๆได้ แต่ระบอบเผด็จการทหาร ประชาชนไม่สามารถทำอะไรได้เลย จึงขอให้ คปค.รีบคืนอำนาจให้ประชาชน

ครป.ชี้จุดบอดธรรมนูญการปกครอง


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญธรรมนูญปกครองชั่วคราว มีจุดอ่อนหลายจุดที่อาจเปิดทางให้เกิดการฉวยโอกาสสร้างระบอบใหม่ เข้ามาแทนที่ระบอบทักษิณ จึงเสนอว่าควรปรับปรุง 5 ประเด็นคือ 1. ที่มาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากกลุ่มต่างๆ ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มองค์กรภาคประชาชน และควรให้มีคณะกรรมการสรรหาคนที่น่าเชื่อถือมาทำหน้าที่แทนการแต่งตั้ง 2. ควรกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ใช้กรอบและแนวทางหรือสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นแนวทางในการพิจารณายกร่าง 3. กระบวนการแปรญัตติของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนกลุ่มต่างๆเสนอความเห็นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 4. การกำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคง สมาชิกสภานิติบัญญัติ ลงสมัคร ส.ส.และส.ว.ภายใน 2 ปีหลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญนั้น

ควรจะมีผลผูกพันกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 100 คนและคณะกรรมการทั้งหมดที่แต่งตั้งโดยคำสั่ง คปค. 5. กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติของประชาชน และมีการกำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคงปรับปรุงและประกาศใช้ได้เลยนั้น ควรจะนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มาประกาศใช้แทน

ปิดตู้รับเรื่องร้องเรียนสมัย ทักษิณ

ช่วงสายวันเดียวกัน ที่บริเวณหน้าบ้านพิษณุโลก ได้มีเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลไปลบชื่อ ตู้รับเรื่องร้องเรียน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตู้พลาสติกใส ซึ่งในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณใช้เป็นตู้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในด้านต่างๆ

ล็อกอดีต ส.ส.เชียงใหม่เข้ารายงานตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันทหารได้เข้าคุมตัวนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย ขณะลงจากเครื่องบินที่สนามบินเชียงใหม่ โดยคุมตัวนายปกรณ์ขึ้นรถตู้ไปเข้ารายงานตัวต่อ พล.ต.ศุภอักษร สังประกุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ที่ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ โดยมีนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ น้องชายนายปกรณ์ นั่งไปด้วย ซึ่งนายปกรณ์ รับปากว่าจะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาจหยุดเล่นการเมืองสักระยะ ส่วนสาเหตุที่มารายงานตัวช้า เพราะทำธุรกิจอยู่ที่ต่างประเทศ ทั้งนี้ หลังเข้ารายงานตัวนายปกรณ์ได้รับการปล่อยตัว และเดินทางกลับบ้าน

พล.ต.ศุภอักษรกล่าวว่า อดีต ส.ส.เชียงใหม่เข้ารายงานตัวแล้วเกือบทั้งหมด เหลือเพียงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคปค. ว่าขณะนี้อยู่ต่างประเทศ และต้องดูแลลูกที่ไม่สบาย แต่ยืนยันจะมารายงานตัวตามคำเชิญ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์