´สุรยุทธ์´ รับหมดทางขวาง ´ทักษิณ´

กรณีที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์


ออกมาแถลง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ตอบโต้กระทรวงการต่างประเทศไทย กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบกับรองนายกฯสิงคโปร์ ว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหา เพราะอดีตผู้นำประเทศอื่นที่มา สิงคโปร์ก็ไม่เคยมีปัญหานั้น ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยก็ได้ตอบโต้ถ้อยแถลงดังกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. นายกิตติ วะสีนนท์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า การเดินทางไปสิงคโปร์ ของอดีตนายกฯ นั้น ไม่ใช่ประเด็นปัญหาของไทย แต่ประเด็น ปัญหาคือเรื่องการพบกันของ พ.ต.ท.ทักษิณกับรองนายกฯสิงคโปร์ การที่ทางการสิงคโปร์ออกมาชี้แจงเช่นนี้ เท่ากับทางการยังไม่ได้แสดงท่าทีประการใด ที่ทำให้เห็นถึงความ เข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ รวมถึงยังไม่เข้าใจ ความรู้สึกของคนไทยและกระทรวงการต่างประเทศ

บ่ายวันเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ


มหาวิทยาลัย รามคำแหง จำนวน 70 คน เดินทางไปชุมนุมยกป้ายประท้วงที่หน้าสถานทูตสิงคโปร์ ถนนสาทรใต้ กรณีผู้นำประเทศสิงคโปร์ยินยอมให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าพบรองนายกฯสิงคโปร์ พร้อมกันนี้ได้ยื่นหนังสือประท้วงต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตด้วย โดยกลุ่มนักศึกษาใช้เวลาชุมนุมกัน 45 นาที จึงแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรง


กสท ไม่มีเครื่องดักฟังโทรศัพท์


ทางด้านความคืบหน้าเรื่องการดักฟังโทรศัพท์นั้น วันเดียวกัน นายจิรชัย สีจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการเครือข่ายและบำรุงรักษา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังได้นำสื่อมวลชน ไปเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการโทรคมนาคม กสท ถนนติวานนท์ จ.นนทบุรี เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า กสท ไม่มีอุปกรณ์ และเครื่องมือการดักฟังทางโทรศัพท์


ตามที่ถูกพาดพิงว่า


ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพ การให้บริการ โทรศัพท์ระหว่างประเทศเท่านั้น ว่า สัญญาณเสียงชัดเจน หรือติดปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงให้บริการดียิ่งขึ้นต่อไป แต่หลังจาก คปค.ออกประกาศฉบับห้ามดักฟังโทรศัพท์ ฉบับที่ 21 เรื่องห้ามดักฟังทางโทรศัพท์ หรือเครื่องมือสื่อสารใด กสท ก็ไม่ได้มีการฟังเสียงลูกค้าอีกเลย แต่หันมาใช้วิธีการวัดระดับเสียงของการสนทนาแทน เนื่องจากเกรงว่าจะฝ่าฝืนประกาศของ คปค.ที่มีบท ลงโทษรุนแรง ถึงขั้นยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมได้


ซื้อคืนดาวเทียมไทยคมต้องรอบคอบ


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ นายกฯพบสื่อทำเนียบฯ ถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาซื้อคืนธุรกิจในกลุ่มสื่อสาร โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคมจากกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ ภายหลังฝ่ายความมั่นคงออกมาแสดงความกังวลเรื่องข้อมูลรั่วไหลว่า เป็นเรื่องที่ถือได้ว่าต้องหาทางแก้ไขในระยะยาวเพราะการดำเนินการนั้นได้ดำเนินการไปแล้ว การขายหุ้นจบสิ้นไปแล้ว

ดังนั้น การจะทบทวนเรื่องต่างๆจึงต้องดูให้รอบคอบ การจะซื้อคืนหรือไม่ ต้องทบทวนให้รอบคอบและดูว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงเฉพาะเรื่องความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูความเป็นไปได้ในเรื่องทุน วงเงินที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง และผู้ที่ถือหุ้นไปแล้วว่ายินดีจะขายหรือไม่ ขายในราคาเท่าไร เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องหาข้อมูลพอสมควร ไม่ใช่เรื่องที่เราไปซื้อก๋วยเตี๋ยวหาบเร่ข้างถนน แต่เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้หนักพอสมควร

รัฐบาลมองถึงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมขึ้นใหม่ แทนการซื้อคืนหรือไม่


พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ในส่วนของรัฐบาลขณะนี้ยังไม่มีโครงการในระยะยาวขนาดนั้น แต่ความต่อเนื่องของโครงการ เท่าที่ทราบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีการส่งดาวเทียมขึ้นไปปลายปี 2550 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ใช่โครงการที่รัฐบาลริเริ่มใหม่


ฝ่ายบริหาร เราก็ติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้ ได้

นอกจากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ได้กล่าวถึงความเคลื่อน ไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ และว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ สหรัฐฯ รวบรวมข้อมูลการเมืองไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาว่า ก็มองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์ทางการทูต ส่วนการที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้จ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ก็เป็นสิทธิส่วนตัว เราคง

ไม่สามารถจะไปห้ามอะไรได้ แต่ ในการดำเนินการของทางรัฐบาลในฐานะที่เป็นมีการดำเนินการทางการทูตต่อมิตรประเทศของเราที่ไม่ให้ความเคารพต่อท่าทีของรัฐบาล ต่อท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้มีการพูดกัน นั่นก็เป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการกันไป

รัฐบาลจะสอบถามข้อมูลเรื่องการว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ของ พ.ต.ท.ทักษิณจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯหรือไม่

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า การตรวจสอบข่าวกับทางเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คงไม่ได้เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณไปจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์เป็นข่าวที่เปิดเผยโดยทั่วไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบอะไร

ชี้ ทักษิณเข้าญี่ปุ่นไม่กระทบไทย


คิดอย่างไรกับการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นหรือไม่อย่างไร

พล.อ. สุรยุทธ์ตอบว่า ก็ได้ติดตามข่าว และคิดว่าไม่กระทบ เพราะเท่าที่ทราบจะมีมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งก็เป็นเรื่องตามปกติ ไม่ได้มีการดำเนินการในลักษณะที่ถือได้ว่าได้เข้าพบบุคคลสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่น จึงถือว่าไม่มีผลกระทบ

ต่อข้อถามว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายกฯได้บอกกับคอลัมนิสต์ว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับเข้าประเทศต้องรอหลังการเลือกตั้ง เงื่อนไขตรงนี้ยังเป็นเงื่อนไขหลักของรัฐบาลและ คมช.หรือไม่

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ก็เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งในภาพกว้างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่เบื้องต้น แต่เราเปิดโอกาสให้มีการพูดจากัน เราไม่ได้ปิดประตูของการพูดจา หมายถึงว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณอยากจะกลับก็พูดจากันได้ หารือกันได้ว่าควรจะมีข้อตกลงกันอย่างไรเมื่อกลับมาแล้ว เป็นเรื่องที่เป็นสิทธิของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่แล้ว ในขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ถูกห้ามไม่ให้กลับ เพียงแต่ เป็นความคิดเห็นในส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าท่านอยากจะกลับมาก็ขอให้มีการพูดจากันก่อน

ยอมรับการเมืองไม่มี 1+1 เท่ากับ 2


เมื่อถามว่า พอเปิดเผยได้หรือไม่ว่าเงื่อนไขที่ตั้งไว้คืออะไรบ้าง

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ในขณะนี้ยังไม่มี ก็รอให้ท่านเจรจาก่อนว่าถ้าสามารถเข้ามาแล้ว จะมีกรอบของการปฏิบัติอย่างไรบ้าง พูดง่ายๆคือเข้ามาแล้วก็ไม่ควรจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นกรอบกว้างๆแต่รายละเอียดคงต้องพูดกัน เพราะถ้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว คงจะทำให้เกิดปัญหา

รัฐบาลจะมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่

เพราะที่ผ่านมามีการโยนกันไปโยนกันมาว่าใครจะเป็นฝ่ายติดต่อใคร เพราะทำให้ประชาชนสับสน พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็ตัดสินใจเองอยู่แล้วว่าจะอยู่ต่างประเทศคือ ประชาชนก็คงต้องติดตามสถานการณ์เพราะคงไม่มีอะไรที่บอกว่า 1 บวก 1 เป็น 2 ในทางการเมืองมันไม่มีอย่างนั้น

และขณะนี้ตนก็เป็นนักการเมืองไป 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็คงเหลืออีกสัก 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ได้เป็น ก็คงจะต้อง 1 บวก 1 อาจจะไม่ได้เป็น 2 เหมือนกัน

ลั่นอยากกลับเจรจาได้ไม่ต้องให้เชิญ


เมื่อถามว่า หมายความว่ารัฐบาลจะไม่เป็นฝ่าย เริ่มเจรจาก่อนใช่หรือไม่ ต้องรอให้ พ.ต.ท.ทักษิณติดต่อมาก่อน

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ผมได้บอกไปค่อนข้างชัดเจนว่าเราพร้อมที่จะรับฟัง เมื่อถามว่า นายกฯจะเริ่มด้วยตนเองหรือไม่ว่าคุณทักษิณมาคุยกันเถอะ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ ที่ผมพูดว่าเราเปิดโอกาสก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว หรือจะต้องให้ผมส่งบัตรเชิญ ในเรื่องของการเจรจาผมคิดว่าเมื่อมีโอกาสที่จะพูดกันมันก็พูดกันง่ายขึ้น คงไม่ได้เป็นเรื่องลำบากยากเย็นอะไร

เมื่อถามว่า รัฐบาลมีแนวคิดจะชี้แจงเหตุผลในการ เข้ามาบริหารงาน รวมถึงการทำงานของรัฐบาลผ่านสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นบ้างหรือไม่ แทนที่จะปล่อยให้ พ.ต.ท. ทักษิณพูดอยู่คนเดียว

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า คิดว่าบรรดาสื่อทั้งหลายในประเทศไทยน่าจะทราบดี น่าจะตอบโต้ได้ บ้างในฐานะที่เป็นคนไทย และเป็นตัวแทนของสื่อเมืองไทย น่าจะตอบโต้ตรงนี้ได้ เราคงไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปตอบโต้ ต่อสิ่งที่สื่อต่างประเทศออกข่าวไปโดยตรง แต่อยากให้ สื่อไทยได้ทำหน้าที่ในส่วนเหล่านี้แทน เพราะรัฐบาลก็มีงานอื่นๆพอสมควรที่จะต้องช่วยกันแก้ไขและดูแล

ข้อเสนอนิรโทษกรรมแค่รับฟังได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความคิดอย่างไรต่อกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองและคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อความสมานฉันท์ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า

ผมรับฟัง และก็คงฟังจากพี่น้องประชาชนว่า แต่ละภาคส่วนมีความคิดเห็นอย่างไร ผมคง ไม่สามารถแสดงความเห็นส่วนตัวในขณะนี้ได้ เพราะถ้า แสดงไปแล้วอาจเป็นการชี้นำแนวคิดของท่านอื่น ผมอยาก จะเปิดในส่วนนี้ เป็นเรื่องที่ผมขอรับฟังจากทุกๆภาคส่วน

เมื่อถามว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นจะดำเนินการไปในลักษณะอย่างไร

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ก็ฟังอยู่แล้ว ที่ ออกประกาศทางวิทยุก็ฟัง ออกทางทีวีก็ฟัง หรือไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าภาษาไทย หรืออังกฤษก็จะคอยติดตามอยู่

เมื่อหากจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมจำเป็นต้อง ขอความเห็นจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยหรือไม่

พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ก็ฟังจากทุกๆด้าน ตนไม่จำกัดว่าจะต้องไปฟังจากส่วนไหนอย่างไร


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์