´สุรยุทธ์´ ยันไม่คิดตั้ง รมต.เพิ่ม

"ยังไม่มี"


เมื่อวันที่ 24 ต.ค. เวลา 08.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม ครม.ตามปกติ ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.15 น. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ถึงกรณีที่มีข่าวจะมีการแต่งตั้ง ครม.เข้ามาช่วยทำงานเพิ่มเติม ว่า ยังไม่มี ตอบได้ตรงนี้ว่ายังไม่มี เมื่อถามย้ำว่ามีแนวคิดที่จะเพิ่มรัฐมนตรีที่จะเข้ามาช่วยทำงานหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ยังไม่มีแนวคิดตรงนี้

ต่อข้อถามว่ารัฐมนตรีที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถทำงานได้ใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ยังไม่เห็นมีรัฐมนตรีคนใดบ่น แนวคิดการทำงานของตนไม่มีอะไรมาก คือพยายามทำหน้าที่ให้ลุล่วงไปเร็วที่สุด เมื่อสามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ เมื่อคลี่คลายได้แล้ว รัฐบาลนี้ก็จะพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาลชั่วคราว เราตระหนักดีในเรื่องนี้ และยังตั้งใจที่จะทำให้เรื่องราวต่างๆ ยุติลงในเวลาที่สั้นที่สุด

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่างนโยบายรัฐบาล ที่จะแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากได้มีการแก้ไขจากการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่แล้ว ที่ประชุมให้ความเห็นชอบและตนจะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ส่วนจะแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะเป็นผู้กำหนด ตนต้องปฏิบัติตามวาระสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

แจง ครม.ผลหารือฟิลิปปินส์

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจง ครม.ถึงการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีของประเทศฟิลิปปินส์ว่า ทางฟิลิปปินส์ได้ให้ความสนใจในความร่วมมือเรื่องพลังงาน การเกษตรและการค้า โดยเรื่องพลังงานนั้น ประธานาธิบดีต้องการให้มีความร่วมมือการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานชีวภาพผสม นอกจากนั้นนายกฯยังแจ้ง ครม.ถึงความคืบหน้าการจัดทำปฏิญญาอาเซียน ชัคเตอร์ ซึ่งอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เป็นผู้ร่าง และจะเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือน ธ.ค.นี้

คำแถลงรัฐบาลเน้นนโยบาย 5 ข้อ


ร.อ.ยงยุทธกล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดคุยถึงคำแถลงนโยบายของ ครม. ซึ่งได้รับความเห็นชอบต่อคำแถลงนโยบายเรียบร้อยแล้วในวันนี้ จากนี้จะเป็นภารกิจของแต่ละกระทรวงดำเนินการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายให้สอดคล้องกับของรัฐบาล เพื่อที่จะชี้แจงกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ทั้งหลักการคร่าวๆ ยังคงตามเดิมใน 4 นโยบาย คือการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหาร นโยบายเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยจะเสริมนโยบายด้านการต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอีก 1 หัวข้อ รายละเอียดคร่าวๆก็เป็นการแก้ปัญหาตามที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น คือแก้ปัญหาสถานการณ์การเมือง ความปรองดองในชาติ ปัญหาภาคใต้ ความมั่นคง นโยบายสังคมเข้มแข็ง นำพื้นฐานคุณธรรมมาสอดแทรก นโยบายการปฏิรูปการปกครองการเมือง การทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกระดับ ส่วนด้านเศรษฐกิจ จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความสมดุลฐานราก และการขยายตัวของตลาดอย่างยั่งยืน สำหรับนโยบายต่างประเทศที่เพิ่มเข้ามาก็จะเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จะส่งคำแถลงนโยบายต่อ สนช.ภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนวันที่แถลงจะกำหนดโดย สนช.อีกครั้ง

ครม.ร่วมรับเสด็จงานพืชสวนโลก

ร.อ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม. มีการบรรยายสรุปถึงงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ 2549 ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ 2549 ณ บริเวณอาคารหอคำหลวง ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันพุธที่ 1 พ.ย.นี้ เวลา 17.00 น. ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งคณะทูตานุทูตในประเทศไทย ตลอดจนคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมรับเสด็จในพิธีดังกล่าว

สุรยุทธ์ หารือลับกับ คมช.


วันเดียวกัน เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช.ได้เข้าพบ ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อมาเวลา 16.00 น. ก่อนไปพบปะตัวแทนจากเครือข่ายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และผู้นำชุมชนจากภาคต่างๆ จำนวน 200 คน ที่ตึกสันติไมตรี ผู้สื่อข่าวได้พยายามถามถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช. เข้าพบ ปรากฏว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่สนใจที่จะตอบคำถามใดๆทั้งสิ้น

เผย คมช.คือรองนายกฯความมั่นคง

ต่อมาเวลา 17.10 น. พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ผบ.ทบ.และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และ พล.อ. วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการคมช.เข้าพบเมื่อเที่ยงวันเดียวกันว่า ได้หารือเรื่องความมั่นคง แต่ขอเก็บไว้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านความมั่นคงและเรื่องทางการเมือง ผู้สื่อข่าวถามว่าได้หารือเรื่องความเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ไม่ใช่เรื่องคลื่นใต้น้ำ แต่เป็นเรื่องที่เก็บไว้ก่อน และเมื่อถึงเวลาก็จะชี้แจงให้ได้รับทราบ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา

เมื่อถามว่า ได้หารือเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า ยังไม่ขอเปิดเผย พร้อมย้ำว่าได้หารือกับ พล.อ.สนธิในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เนื่องจากตนไม่มีรองนายกฯที่ดูแลด้านความมั่นคง ดังนั้น ในส่วนของ คมช.ก็คือรองนายกฯ ด้านความมั่นคง ที่ดูแลทั้งด้านการเมือง ความมั่นคงภายใน ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

บุญรอด ชี้คลื่นใต้น้ำฝังตัวทุกภาค


ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวคลื่นใต้น้ำอาจออกมาเคลื่อนไหวโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า มีอยู่หลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ กลาง และอีสาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังทำความเข้าใจอยู่

เอ็นจีโอบุกทำเนียบหารือนายกฯ

อีกเรื่อง วันเดียวกันเมื่อเวลา 16.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำคณะตัวแทนจากเครือข่ายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และผู้นำชุมชนจากภาคต่างๆ จำนวน 200 คน เข้าพบ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบนโยบาย ทั้งนี้ ใช้เวลาพบปะกันประมาณ 1 ชั่วโมง โดย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งกับผู้นำชุมชนว่า ได้ยินคำว่ากราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแล้วรู้สึกสะท้อนใจ เพราะจริงๆแล้วไม่ได้อยู่ในฐานะนั้น ตนเป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง เหมือนกับชาวบ้าน ชีวิตตนไม่ได้ลอยมาแบบที่เรียกว่าไม่เคยสัมผัสความยากลำบาก ดังนั้น ในความรู้สึกของตนตระหนักตลอดเวลาว่าประชาชนที่อยู่ในชนบทเป็นส่วนสำคัญ ความคิดเบื้องต้นของตนคือเราทุกคนมีคุณค่ามีสิทธิ มีความคิดที่จะต้องรับฟังซึ่งกันและกัน หลายอย่างตนได้รับความรู้จากประชาชนในท้องถิ่นอย่างมาก ตนใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับในพื้นที่หลายแห่ง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ในประเทศเพื่อนบ้านก็เคยใช้ชีวิตมาแล้วประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้แก้ไขปัญหาและเหตุการณ์ในท้องถิ่น แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้มีการจัดการและสามารถเชื่อมต่อแนวความคิดของชุมชนและภาครัฐได้

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวต่อว่า เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่พูดตั้งแต่วันแรก ตนได้ศึกษา และรับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ด้วย แนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ภาครัฐได้รับมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ผ่านมาอาจจะกระท่อนกระแท่นบ้าง พูดบ้างแต่ไม่ได้ทำ แต่ปีนี้เราจะทำกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ผู้นำชุมชนจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม และการจะลงทุนอะไรจะต้องมีเหตุผล ศึกษาให้รอบคอบดูทางหนีทีไล่ ไม่ลงทุนโดยไม่มีภูมิคุ้มกันที่ตนใช้คำว่าทางหนีทีไล่ เพราะเป็นคำง่ายๆที่ชาวบ้านพูดกัน ถ้าเราทำลงไปแล้วจะมีทางถอนตัวหรือไม่ หรือถ้าทำไปแล้วมีทางที่จะลดการขาดทุนได้หรือไม่ สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจพอเพียงคือความซื่อตรง ความซื่อสัตย์ เมื่อเราทำงานกันเป็นชุมชน เป็นกลุ่มก้อน ตรงนี้เป็นปัญหามาโดยตลอด เราตั้งสหกรณ์ หรือชุมชนก็มาเสียตรงนี้ ขึ้นต้นก็เป็นลำไม้ไผ่ดี แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตนเห็นมาตลอดชีวิตของตน ต้องแก้ไขตรงนี้ให้ได้ ทำอย่างไรที่จะให้มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลในระบบของเราเอง ตั้งแต่ระดับชุมชน ไม่ใช่พอรัฐบาลให้งบประมาณลงไปแล้ว เป็นเรื่องขององค์กร ผู้รับเหมาเข้ามารับไปหมด พอไปถึงท้องถิ่นเราได้สิ่งที่มันไม่คุ้มค่าเลย พอเอาหินมาลงดูจำนวนคิวก็ครบดี แต่จำนวนมันขาดเพราะเราไม่สามารถไปตรวจสอบได้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการถ่วงดุลตรวจสอบ ตั้งแต่ระดับชุมชนที่จะทำด้วยความซื่อสัตย์ ซื่อตรง สิ่งที่ท้องถิ่นเรียกร้อง 35% จากรายได้นั้น เราจะต้องดูว่ามีระบบถ่วงดุลที่ดีพอหรือยัง บางครั้งเราไปเข้าสู่กระบวนการของผู้รับเหมามันก็เสีย และย้อนกลับมาถึงระบบการเมือง ที่พอถึงการเลือกตั้งก็มาใช้เงินที่ได้มาจากวิธีการไม่สุจริต เพื่อเข้ามาสู่ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น กลายเป็นวงจรที่วนเวียนอยู่อย่างนั้น


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์