´มีชัย´โต้´หมอเลี้ยบ´ไม่เคยรับเป็นที่ปรึกษารัฐบาล

กรุงเทพธุรกิจ

6 กรกฎาคม 2549 18:42 น.
´มีชัย´ระบุเป็นปธ.กรรมการกฤษฎีกาคณะที่1 มาร่วมสิบๆ ปี และเป็นตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทุกรัฐบาลตามกฎหมายกำหนดไว้ และไม่เคยอ้างเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลแต่อย่างใด


กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ นักกฎหมายชั้นนำของเมืองไทย ได้เขียนบทความเรื่อง"ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี" ลงในเว็บไซต์ www. meechaithailand .com

ล่าสุด นายมีชัย ได้เขียนบทความตอบโต้ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า นายมีชัย ทำหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายให้รัฐบาลด้วยนั้น ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง

โดยนายมีชัย ระบุว่า ตามที่หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 ในหน้า11 ซึ่งล้อมกรอบหัวข้อว่าที่ปรึกษาอุปโลกน์ กล่าวว่า นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า "ก่อนอื่นต้องเรียนว่านายมีชัยได้กรุณาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายให้รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา มีบางครั้งในที่ประชุม ครม.นายมีชัยยังได้ให้ข้อเสนอผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เกี่ยวกับประเด็นด้านกฎหมายที่จะต้องปฏิรูปด้วย.... นั้น

ขอเรียนยืนยันอย่างที่ได้เคยยืนยันมาโดยตลอดว่า ผมไม่เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น บรรดาตำแหน่งต่างๆ ที่ในคอลัมน์ดังกล่าวได้นำมากล่าวไว้นั้นมิได้หมายความว่า ผมเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติงานของรัฐตามปกติตามก ำลังความสามารถที่ทำอยู่ปกติเท่านั้น

การเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 (ตามชื่อที่ปรากฏในคอลัมน์ดังกล่าว) ก็เป็นเรื่องที่ผมเป็นมาเป็นเวลาสิบๆ ปีก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง กรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นเป็นตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามความรู้ความชำนาญของแต่ละคน การที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลนั้น เป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นหน้าที่ที่ทำให้แก่รัฐบาลทุกรัฐบาลนับแต่ปี 2476 เป็นต้นมา ไม่เคยมีใครกล่าวอ้างได้ว่า กรรมการกฤษฎีกาแต่ละคนเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล

สำหรับกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นั้นก็เป็นการได้รับแต่งตั้งในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามระเบียบกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในการทำหน้าที่ดังกล่าวผมได้พยายามจำกัดตัวเองอยู่แต่เฉพาะในการประชุม และงานที่คณะกรรมการมอบหมายให้ทำในฐานะเป็นอนุกรรมการ เมื่อไรที่มีการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นโยบายหรือสรุปผลหรือประเมินผล ถ้าใครจะสังเกตได้ ก็จะพบว่าผมไม่เคยไปร่วมด้วยเลย นับแต่ต้นมา

สำหรับงานพัฒนากฎหมายนั้น เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในสมัยแรก รัฐบาลมีนโยบายในการปฏิรูปกฎหมาย โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการนั้น ผมเห็นว่าเป็นงานที่ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ ผมก็ไม่ขัดข้อง

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลเพราะสมัยที่คุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรี มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้ง ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยมีผมเป็นประธาน ผมเห็นความจำเป็นก็ทำให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นที่ปรึกษาให้แก่นายชวน หลีกภัยหรือกรณีที่รัฐบาลตั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานแก้ปัญหาภาคใต้ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณอานันท์เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล

"ผมได้ทำงานพัฒนากฎหมายมาระยะหนึ่ง ต่อมาก็ปรากฏว่าใครอยากได้กฎหมายอะไรก็จะส่งกฎหมายมาให้คณะกรรมการชุดนี้ทำ ผมเห็นว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการชุดนี้ เพราะถ้าขืนมัวทำกฎหมายตามความต้องการเร่งด่วนของแต่ละกระทรวงก็จะไม่มีอันได้ทำการพัฒนากฎหมายอย่างที่อยากทำได้ ผมก็บอกไปว่าผมไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลนะ จะได้โยนอะไรๆมาให้ทำ"

หลังจากนั้น ก็มีการยุบเลิกคณะกรรมการดังกล่าว และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตั้งผมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการชุดนี้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นหลายชุด ในจำนวนนั้นมีชุดปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชนซึ่งมีผมเป็นประธาน เพียงชื่อก็น่าสนใจที่จะทำ เพราะถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผมก็ทำให้

สำหรับคณะกรรมการใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นผมไปประชุมด้วยในครั้งแรกและครั้งต่อมาอีกครั้งเดียว หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยไปร่วมประชุมด้วยอีก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือเป็นการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังนโยบาย

การที่โฆษกรัฐบาลอ้างว่า "ในบางครั้งในที่ประชุม ครม.นายมีชัยยังได้ให้ข้อเสนอผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับประเด็นทางด้านกฎหมายที่จะต้องมีการปฏิรูปด้วย...." นั้น เป็นความจริงบางส่วน เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้รับมอบหมายให้จัดทำกฎหมายบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เมื่อทำเสร็จแล้วก็ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีตามช่องทางปกติ

ต่อมา เมื่อคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเรื่องนี้ก็ได้เชิญผมไปชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผมก็บอกคุณวิษณุ (นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ว่าผมไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ที่ทำเรื่องนี้ ก็ทำไปในฐานะกรรมการพัฒนากฎหมายหากจะต้องไปชี้แจงในที่ประชุมก็ควรบอกให้เลขานุการซึ่งยังเป็นข้าราชการอยู่ไปชี้แจง เพราะผมไม่อยากไปชี้แจงในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะในฐานะใดทั้งสิ้น

แต่ก็ได้รับการยืนยันว่า ถ้าไม่อยากไปเขาก็จะนำเครื่องถ่ายทอดมาติดที่บ้านผม และให้นั่งตอบคำถามอยู่ที่บ้าน หากคณะรัฐมนตรีอยากจะถามอะไรก็ถามผ่านทางวีดีโอ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผมเห็นว่าไม่น่าเสียหายอะไร ทั้งยังจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่และไม่เสียหลักการที่ผมจะต้องเข้าไปในห้องประชุม ครม.ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ชี้แจงด้วย ผมจึงยอมตกลง เขาก็เอาเครื่องอุปกรณ์ต่างๆไปติดที่บ้านแล้วก็ชี้แจงผ่านกันทางวีดีโอ ซึ่งเป็นครั้งเดียวเท่านั้น

อันที่จริงการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น ผมเห็นใครๆเขาก็อยากเป็น วิ่งเต้นจนจะเหยียบกันตาย ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายอะไร คนที่ไม่ได้เป็นยังเที่ยวได้แอบอ้างว่าเป็นก็มีอยู่มากถ้าผมเป็นจริงก็คงจะไม่ปฎิเสธ บรรดานักข่าวที่เคยมาสัมภาษณ์ในช่วงเวลาที่การพัฒนากฎหมายกำลังดำเนินการอยู่จะเป็นพยานให้ได้ว่า ทุกครั้งที่เขามาและพูดเป็นทำนองว่าผมเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ผมก็จะปฎิเสธและอธิบายให้เขาฟังมาโดยตลอด ไม่ใช่เพิ่งมาปฎิเสธเอาตอนนี้ เวลาใครเชิญไปปาฐกถาแล้วไปแนะนำว่าผมเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผมก็จะต้องปฎิเสธให้ทราบทั่วกันทุกครั้งไป

"ในคำถามคำตอบที่ผมนั่งตอบทุกวันผ่านเว็บไซต์ ผมถือหลักว่า จะตอบตามที่กฎหมายเป็นอยู่ ถ้าจะมีความเห็นก็จะให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเสมอ บางครั้งเมื่อมีคนกล่าวหารัฐบาลหรือใครก็ตามในทางที่เป็นความเข้าใจผิด ผมก็จะชี้แจงไปตามที่กฎหมายเป็นอยู่ ซึ่งบางเรื่องก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล แต่บางครั้งจะเป็นโทษกับรัฐบาลได้ เช่นถ้าถามว่า รัฐบาลยุบสภานั้น เป็นการผิดกฎหมายหรือไม่ ผมก็ตอบว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะเป็นอำนาจที่รัฐบาลจะทำได้ ตามเหตุผลทางการเมือง ส่วนจะสมควรหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือเมื่อมีคนถามว่าเมื่อศาลปกครองพิพากษาว่าพระราชกฤษฎีกาแปรรูป กฟผ. ใช้ไม่ได้รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ ผมก็ตอบว่าต้องรับผิดชอบ แล้วก็ยกตัวอย่างว่าที่เกาหลีนั้นเพียงนายกฯมัวไปตีกอล์ฟในระหว่างที่มีเรื่องวุ่นวาย นายกรัฐมนตรียังต้องลาออก คำตอบดังกล่าวอาจจะถูกใจคนบ้างไม่ถูกใจคนบ้าง แต่ผมก็ถือหลักว่าเมื่อถามมาก็ต้องตอบตรงไปตรงมาตามความเห็นของผม เพราะถ้าต้องการทำคำตอบเพื่อให้ถูกใจก็ไม่จำเป็นต้องถามมา เพราะอยากได้คำตอบตามอารมณ์อย่างไร ก็คิดเอาเองได้อยู่แล้ว"

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์